3 นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ส่องเทรนด์เศรษฐกิจไทย ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลก

GDP-เศรษฐกิจไทย

3 นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ส่องเทรนด์เศรษฐกิจไทย “ดร.กอบศักดิ์” ชี้ปีหน้าวิกฤตของจริง ผลกระทบเข้าสู่ภาคเรียลเซ็กเตอร์ หวั่นไทยอาจข้ามไม่พ้นเหว ด้าน “ดร.ศุภวุฒิ” คาดหวังนักท่องเที่ยวแตะระดับ 1.5-2 ล้านคนต่อเดือน ช่วยดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ขาดดุล ฟาก “ดร.เกียรติพงศ์” มอง GDP ไทยต้องใช้เวลา 3 ปี ฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดิม

วันที่ 4 ตุลาคม 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวในงานสัมมนา “Thailand Economic Outlook 2023” ว่า

ปี 2565 แม้เป็นปีที่มีความท้าทาย แต่ส่วนมากยังเกิดผลกระทบกับตลาดทุน ที่เรียกว่า Investment Storm หรือมรสุมการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ทำให้เป็นปีที่ยากมากในเรื่องลงทุน แต่ปี 2566 จะเป็นอีกปีที่ท้าทายมากกว่าปีนี้ด้วยซ้ำ เพราะจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า จะทำให้วิกฤตจะเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ที่จะกระทบต่อภาคการส่งออก, ภาคการผลิต และภาคการจ้างงาน ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นในโลกย่อมกระทบมาถึงประเทศไทยแน่นอน

ตอนนี้ผลกระทบดังกล่าวเริ่มมาถึงไทยแล้ว หากประเมินข้อมูลแบงก์ชาติพบว่าตัวเลขการส่งออกของไทยได้ปรับตัวลดลงมาเป็นเดือนที่ 3 โดยเดือน ก.ค. 65 ต่ำกว่าเดือน มิ.ย.ราว 3% และเดือนล่าสุดต่ำกว่าเดือนก่อนหน้า 4% ขณะที่ตัวเลขการบริโภคของประชาชนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเริ่มทรงตัวนิ่ง ๆ ตอนนี้จะมีเพียงภาคท่องเที่ยวที่ปรับตัวดี เพราะฉะนั้นความท้าทายสำหรับประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก จึงมีโอกาสอย่างยิ่งที่เราอาจจะข้ามไม่พ้นเหว

ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อว่า สถานการณ์ดอกเบี้ยสหรัฐยังไม่จบง่าย ๆ เพราะผู้ว่าการเฟดพูดเองว่าการขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 3-3.25% ในปัจจุบันถือว่าแค่เริ่มก้าวแรก ยังห่างไกลที่จะแตะเบรก โดยเป้าสิ้นปีหน้าจะขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 4.6% ในขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ระดับ 8% จึงอาจจะยังไม่สมน้ำสมเนื้อ ตอนนี้ตลาดอาจยังถูกหลอกหรือให้ความหวัง ฉะนั้นคาดการณ์ว่าเฟดอาจต้องใช้ยาแรง โดยต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 5% เป็นอย่างน้อย

คาดแบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ย จนกว่าเงินเฟ้อจะลง

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยไทย ปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% และช่วงที่เหลือของปีขึ้นอีก 0.25% และปีหน้าคาดว่าน่าจะขึ้นได้อีก 2 ครั้ง

“ผมประเมินดอกเบี้ยไทยจะขึ้นไป เงินเฟ้อจะลงมา และท่องเที่ยวจะกลับคืนมา ทั้งหมดจะเป็นสภาพแวดล้อมที่หนุนให้เศรษฐกิจไทยพอที่จะกระเตื้องไปได้ และปีหน้าท่องเที่ยวจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ไทยมีกำลังเดินไปข้างหน้าได้ ในขณะที่คนอื่นใช้เครื่องยนต์ไปหมดแล้ว โดยเฉพาะหากจีนเปิดประเทศจะช่วยได้มาก”

แต่สิ่งที่กังวลใจมีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่องในปีหน้าคือ 1.ความเสี่ยงวิกฤตเศรษฐฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ทั้ง สปป.ลาว, เมียนมา, บังกลาเทศ, ปากีสถาน, ศรีลังกา เป็นต้น ซึ่งปัญหานี้จะค่อย ๆ สะสมให้ทุกประเทศอ่อนแรงแล้วจะไปลุกลามช่วงที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยสูง ๆ และ

2.ปัญหาด้านการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน ถ้ามีความเสี่ยงวิกฤต EM ในกลางปีหน้า ไทยต้องทำตัวให้ไม่เป็นเหยื่อ หนึ่งในนั้นคือต้องถนอมเงินสำรองที่เพียงพอในช่วงกลางปีหน้าให้ได้

“ค่าเงินบาทให้อ่อนค่าอีกได้ เพราะเป็นการอ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์ ซึ่งอย่างน้อยช่วยเกษตรกร ช่วยผู้ส่งออก ช่วยท่องเที่ยว และช่วยสินค้าไทย และเข้าไปดูแลงบประมาณบางส่วนให้การท่องเที่ยวโดยเฉพาะการโฆษณาในเมืองจีน และทำเรื่องวีซ่าระยะยาว (LTR Visa) และหัวใจสำคัญคือทำเรื่องการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมไปถึงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)”

เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย มีโอกาสเศรษฐกิจโลกถดถอย 80%

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ตอนนี้ทุก ๆ ประเทศเริ่มเห็นผลกระทบจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐจะเกิดภาวะถดถอย (Recession) โดยค่าเงินอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยิ่งกดดันให้เงินเฟ้อในแต่ละประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยทางธนาคารโลก (World Bank) มีการประเมินไว้เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ว่า

ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยประมาณ 80% ฉะนั้นต้องบอกว่าถ้าเขาไม่รอดเราก็ไม่รอด

ตอนนี้เป็นห่วงเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 2/66 หากเดินไปในทิศทางที่ไม่ดีจะไม่ดีมาก โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวล่าสุดเดือน ส.ค.เข้ามาเดือนละ 1 ล้านคน ซึ่งยังไม่พอ ต้องดันให้แตะระดับ 1.5-2 ล้านคนต่อเดือน (พ.ย. 65-ก.พ. 66) เพื่อช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ขาดดุล และอยากให้แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบกว่านี้ เพราะไม่อยากให้เงินไหลออก โดยจุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทยต้องประเมินในช่วงต้นปีหน้าและไตรมาส 2/66

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าสุด ต่างจากเพื่อนบ้าน

ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐไม่น่าจะเกิดภาวะถดถอย เพราะเครื่องของสหรัฐในพื้นที่การคลังยังเพียงพอที่จะรับมือ แต่ถ้าจะเกิดขึ้นอาจเป็นกรณีที่รับมือกับเงินเฟ้อไม่ไหว ทางเฟดอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างกระชาก ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) หรือมีการหดตัวของเศรษฐกิจ 1-2 ไตรมาส แต่ถ้าเกิดหลาย ๆ ประเทศทำพร้อมกันมีความเป็นได้ที่จะเกิดภาวะถดถอยต่อเศรษฐกิจโลก แต่เราถือว่าเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก (Tail Risk)

โดยธนาคารโลกประมาณการว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอลง 1% จะกระทบเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.6% โดยขณะนี้ธนาคารโลกประมาณการ GDP ไทยปี’65 อยู่ที่ 3.1% และปี’66 ขยายตัว 4.3% โดยคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายไทยจะกลับไปสู่ค่าเฉลี่ยเดิมที่ 2% ขณะที่คาดว่าไทยจะรับมือเงินเฟ้อได้ภายในปีนี้และปีหน้าจะกลับมาสู่กรอบเงินเฟ้อได้

ตอนนี้เศรษฐกิจไทยไม่เหมือนเศรษฐกิจในอาเซียนตรงที่ฟื้นตัวช้าสุดจากการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย GDP จะฟื้นกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดในปลายปีนี้ แต่ไม่ใช่บรรทัดฐานที่ดีเพราะเศรษฐกิจก่อนโควิดยังไม่ได้ดีมาก และภาคท่องเที่ยวยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ ตอนนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 1 ใน 3 จึงมองว่าการฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับเดิมต้องใช้เวลาอีก 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2568