แบงก์ชาติเอาแน่! คุมแคมเปญผ่อนของฟุ่มเฟือย หวังกดหนี้ครัวเรือน

หนี้ หนี้ครัวเรือน

ธปท.เตรียมออกเกณฑ์คุมธนาคารอัดแคมเปญ “กระตุกพฤติกรรม” ก่อหนี้ฟุ่มเฟือย-ล้นพ้นตัว คาดเห็นเกณฑ์ไตรมาส 1/66 หวังแก้หนี้ครัวเรือนกลับสู่ระดับที่ยั่งยืนอยู่ที่ 80%

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงการฟื้นตัว

แต่จะทำอย่างไรให้การฟื้นตัวไปได้ Smooth take off และฟื้นตัวอย่างยั่งยืน โจทย์เรื่องหนี้ครัวเรือนก็เป็นปัจจัยสำคัญ แม้ว่าจะปรับลงมาอยู่ในระดับ 88-89% ของจีดีพี และจากที่เคยพีกไปถึง 90% ช่วงโควิด-19 โดยหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นถึง 10% ในช่วงเกิดโควิด-19 ซึ่งสูงเกินไปไม่เหมาะสมกับความยั่งยืน โดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ดูระดับความยั่งยืนควรอยู่ที่ 80% ต่อจีดีพี เพราะถ้าอยู่ในระดับสูงอาจทำให้การฟื้นตัวสะดุดได้

ที่ผ่านมา ธปท.ได้จัดให้มี “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้” ที่ทำอย่างครบวงจร ทั้งช่วงชีวิตการก่อหนี้ ระหว่างการก่อหนี้ และมีปัญหาหนี้ที่จะต้องแก้ไข รวมถึงจัดให้มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ แต่หากจะแก้ครบวงจร จะต้องใช้การให้สินเชื่ออย่างรับผิดรับชอบ (Responsible Lending) แต่การเอามาใช้ในช่วงวิกฤตจะทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก เรื่องนี้จึงต้องทำให้ถูกหลักการ

“ดูตั้งแต่การปล่อยสินเชื่อที่ไม่สร้างแรงจูงใจที่ผิดเพี้ยน ไม่สร้าง Moral Hazard ไม่ทอดแห เพราะจะทำให้ขาดประสิทธิภาพ หรือไม่ควรผลักภาระหนี้ไปในอนาคต แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่กับเรามายาวนาน จึงไม่มียาวิเศษ ไม่เร็ว และใช้เวลา”

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ธปท.อยากเห็นให้อยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี เป็นระดับของความยั่งยืน แต่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การลดหนี้ปัจจุบัน รวมถึงการไม่ให้สถาบันการเงินออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เรื่องของการโฆษณาแคมเปญต่าง ๆ ที่ไปกระตุกพฤติกรรมของลูกหนี้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับลูกหนี้ โดยจะออกเกณฑ์กำกับเฟสแรกไตรมาส 1 ปี 2566 ขณะเดียวกัน การปล่อยสินเชื่อนอกจากจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ แต่จะต้องคำนึงถึงรายได้ในการดำรงชีพ

“การก่อหนี้ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เช่น การกู้เพื่อไปทำอาชีพต่อ ทำให้เราไม่จมกองหนี้ และยังสามารถจ่ายหนี้ได้ ซึ่งในส่วนของ ธปท.ก็มีมาตรการมาช่วยกลุ่มเปราะบาง และในฝั่งกระตุ้น เราจะลดแคมเปญที่ไปกระตุกพฤติกรรมก่อหนี้ไม่จำเป็น เพราะคิดในระยะยาว สินเชื่อเหล่านี้จะขาดคุณภาพระยะยาว และเราจะออกหนังสือเวียนไปให้แบงก์”