มรดกฝรั่งเศส ต่อยอดเป็นมรดกใหม่-ใช้หากินได้ไม่รู้จบ

ฝรั่งเศส ปารีส
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : รุ่งนภา พิมมะศรี


ขึ้นชื่อว่า “ฝรั่งเศส” มีเรื่องให้พูดถึงหลายแง่หลายมุม

ที่จะพูดถึงในวันนี้คือเรื่องมรดกของฝรั่งเศส ทั้งสิ่งที่มองเห็น-จับต้องได้อย่างสถาปัตยกรรมและงานศิลปะ กับสิ่งที่อยู่ข้างใน-มองไม่เห็น แต่นำมาซึ่ง Output ที่มองเห็น-จับต้องได้ คือ “ความคิดสร้างสรรค์”

เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้วว่า ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นมาก ๆ แห่งหนึ่งของโลก เรียกว่าเป็นประเทศที่มี “ต้นทุน” ที่ดีมาก ๆ

ฝรั่งเศสเป็นดินแดนแห่งศิลปิน ดินแดนแห่งความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในงานศิลปะตั้งแต่อดีตมาจนถึงยุคปัจจุบัน รวมถึงศิลปะใกล้ตัวคนอย่างโปรดักต์แฟชั่นต่าง ๆ

ผู้เขียนเพิ่งไปทำข่าวที่ปารีสมาช่วงสั้น ๆ เพียงไม่กี่วันในช่วงที่ไทยเราหยุดสงกรานต์ แต่เป็นจังหวะเวลาดีมากที่ได้เห็นปารีสกำลังเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

หลายท่านน่าจะได้เห็นข่าวกันไปบ้างแล้วว่า กีฬาโอลิมปิกครั้งนี้จะพิเศษกว่าที่เคยเห็นมา คือ พิธีเปิดและการแข่งขันกีฬาหลาย ๆ ชนิดจะถูกนำออกจากสเตเดียมมาไว้กลางแจ้ง

นั่นเพราะปารีส-ฝรั่งเศส เขาตระหนักดีว่าตัวเองมี “ของดี” อะไรอยู่ และจะใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

ของดีมาก ๆ ที่ปารีสมีอยู่ก็คือ ความสวยงามอันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของเมืองที่ออกแบบผังเมืองมาอย่างดี ปารีสมีสถาปัตยกรรมสวยงามเต็มเมืองไปหมด เพราะมีกฎหมายควบคุมการก่อสร้าง และมี “แม่น้ำแซน” ไหลผ่านกลางเมือง ซึ่งแต่ละวันมีผู้คนออกไปนั่งเล่นที่ริมน้ำกันจำนวนมาก กลายเป็นเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ-ต่างถิ่นก็อยากไปสัมผัสบรรยากาศ ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ปารีสมี “หอไอเฟล” อันเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกก็ว่าได้

ฝรั่งเศส ปารีส

ดังนั้น แทนที่จะจัดพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกในสนามกีฬาแล้วประโคมแสงสีเสียงและดอกไม้ไฟให้อลังการแบบที่ทำ ๆ กันมา ปารีสก็ใช้ประโยชน์จากมรดกที่ไม่มีใครเหมือน โดยย้ายพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกมาไว้กลางแจ้ง

และแค่กลางแจ้งอาจยังไม่ยูนีคพอ ปารีสก็จัดพิธีเปิดทางน้ำไปเลย โดยจะแห่เรือล่องไปในแม่น้ำแซน ระยะทาง 6 กิโลเมตร ขบวนเรือจะผ่านแลนด์มาร์กอย่างหอไอเฟลและสิ่งปลูกสร้างสวยงามริมน้ำ ซึ่งภาพเหล่านั้นจะถ่ายทอดสดออกไปปรากฏสู่สายตาสาธารณชนทั่วโลก

โอลิมปิก ปารีส 2024 จะขายบัตรเข้าชมบนอัฒจันทร์ริมแม่น้ำจำนวน 326,000 ใบ และจะมีคนที่สามารถมองลงมาจากตึกที่อยู่ริมแม่น้ำได้อีก 200,000 กว่าคน โดยรวมแล้วจะมีคนที่สามารถชมพิธีเปิดด้วยสายตาตัวเองราว 600,000 คน ซึ่งเป็นพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกที่มีคนได้ชมด้วยสายตาตัวเองมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

การนำพิธีเปิดและการแข่งขันจำนวนหนึ่งมาไว้กลางแจ้ง สร้างสนามกีฬากลางแจ้งสำหรับใช้งานชั่วคราว เป็นทั้งความคิดสร้างสรรค์ที่อยากจะขายจุดขายของเมือง และเป็นการ “แก้ปัญหา” ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ปัญหาที่ว่าคือการที่สนามกีฬาในเมืองมีไม่เพียงพอ เพราะโอลิมปิกเป็นการแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก จำเป็นต้องใช้สนามกีฬาจำนวนมาก เจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกร้อยทั้งร้อยจะต้องมีการสร้างสนามกีฬาใหม่ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งพอสร้างขึ้นมาแล้วก็ถูกใช้งานเพียงไม่กี่ครั้ง ทั้งสิ้นเปลืองงบประมาณและสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นมากินพื้นที่เมืองไปเปล่า ๆ

และที่สำคัญ การทุ่มงบประมาณมหาศาลเหล่านั้น ทำให้เจ้าภาพโอลิมปิก “ขาดทุน” มาตลอด

ฝรั่งเศส ปารีส

แต่สำหรับ โอลิมปิก ปารีส 2024 คาดว่าจะเป็นครั้งแรกที่เจ้าภาพโอลิมปิกไม่ขาดทุน เพราะใช้งบประมาณน้อยกว่าที่อื่นมาก ๆ อีกทั้งงบประมาณเกือบทั้งหมด (96%) มาจากภาคเอกชน นับรวมถึงการสนับสนุนจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) สัดส่วน 31% ใช้งบประมาณจากรัฐซึ่งมาจากภาษีประชาชนเพียง 4% เท่านั้น

ไม่แน่ใจว่าจะสรุปได้เลยหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ความที่ปารีสเป็น Soft Power โดยตัวมันเอง บวกกับการนำกีฬาโอลิมปิกออกมาอยู่กลางแจ้งซึ่งเอื้อให้ภาคส่วนอื่น ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมกับกีฬาโอลิมปิกได้มากขึ้น เป็นเหตุผลที่ทำให้การจัดกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้สามารถดึงเงินจากสปอนเซอร์ได้เยอะมาก

และมันวนกลับไปต้นทางที่ว่า เมืองที่มีมรดกที่ดี-ต้นทุนที่ดี เมื่อบวกกับความคิดสร้างสรรค์ ก็จะมาสามารถต่อยอดสร้างมรดกใหม่ ๆ หรือใช้มรดกนั้นหากินได้ไม่รู้จบ