ธปท.ตีกรอบแบงก์ทำธุรกิจ “สินทรัพย์ดิจิทัล” คุมเข้มถึงบริษัทลูก-สกัดปล่อยกู้ลงทุน

ธปท.

ธปท.ตีกรอบห้ามแบงก์ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง คุมถึง “บริษัทแม่-ลูก” กลุ่มธุรกิจการเงิน ห้ามเด็ดขาดปล่อยกู้ลูกไปลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล มีอำนาจสั่งระงับได้ทุกธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล โฆษก ธปท.ยันเน้นควบคุมความเสี่ยง ฟาก “Beacon VC” เครือกสิกรฯถกทีมกำกับภายในศึกษาเกณฑ์ใหม่ ปรับกลยุทธ์ลงทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจ และทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) โดยประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 21 ตุลาคม 2565 ซึ่ง ธปท.ได้ส่งหนังสือเวียนแจ้งธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งรับทราบแล้ว โดยขอบเขตบังคับใช้กับธนาคารพาณิชย์ บริษัทแม่ บริษัทลูก และบริษัทร่วมทุกแห่งของธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

ธปท.ชี้เน้นคุมความเสี่ยง

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล โดยหลักเกณฑ์จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ขอบเขตการประกอบธุรกิจ และขอบเขตทำธุรกรรม ในส่วนของธุรกิจจะไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ถ้าบริษัทในกลุ่มเดียวกันจะประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลก็ต้องให้บริษัทแม่อนุญาตเป็นรายกรณี ซึ่งอาจจะมีการเข้าทดสอบในศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการเงิน หรือ sandbox

และในส่วนของการทำธุรกรรม กรณีกลุ่มบริษัทธุรกิจการเงิน และมีผู้กำกับดูแลอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ตามที่ผู้กำกับกำหนด และต้องปฏิบัติตามประกาศของ ธปท. ส่วนธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มต้องการจะออกหรือถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องทำเพื่อพัฒนานวัตกรรมเท่านั้น

นางสาวชญาวดีกล่าวว่า ในแง่ของธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว เหตุผลของการออกประกาศฉบับนี้ของ ธปท. ก็เพื่อให้กลุ่มธุรกิจทางการเงินสามารถประกอบธุรกิจและทำธุรกรรมเกี่ยวกับ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่มีความยืดหยุ่นในรูปแบบที่มีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ

โดยสิ่งที่ ธปท.ทำเรื่องนี้ เพราะต้องการพัฒนานวัตกรรม จึงมีการยกเลิกเพดานการลงทุนใน “ฟินเทค” ของธนาคารพาณิชย์ จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 3% ของเงินกองทุน ขณะเดียวกัน ธปท.ก็ต้องการสนับสนุนนวัตกรรมที่เป็น responsible innovation จึงมีการกำหนดเป็นแนวทางและสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเป็นรั้วกั้นดูแลความเสี่ยง

ดังนั้นจะเห็นว่า ธปท.ได้เปิดช่องเพื่อความยืดหยุ่นให้เกิดนวัตกรรม โดยให้ธนาคารพาณิชย์ หรือกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ต้องการทำธุรกิจหรือธุรกรรมเกี่ยวกับ “สินทรัพย์ดิจิทัล” สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน ซึ่งการจำกัดเงินลงทุน เนื่องจาก ธปท.จำเป็นต้องดูแลความเสี่ยง เพราะธนาคารต้องรักษาสมดุลความเสี่ยงเพราะมีการรับเงินฝากจากประชาชน

“ประกาศนี้เป็นการสร้างความชัดเจน ซึ่งแบงก์และกลุ่มธุรกิจการเงินก็พอรู้เรื่องเกณฑ์เหล่านี้อยู่แล้ว ส่วนหลังจากนี้จะทำหรือไม่ทำก็เป็นเรื่องของเขา เพราะเป็นเรื่องของธุรกิจ และเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลไปค่อนข้างเร็ว ธุรกิจต้องดูความเหมาะสมและเทรนด์ของโลก ซึ่งในฐานะ ธปท.ต้องการดูแลความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน”

ห้ามแบงก์ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของประกาศ ธปท.ฉบับนี้ ได้กำหนดขอบเขตการประกอบธุรกิจ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ของกลุ่มธุรกิจการเงิน ดังนี้ ในส่วน “ธนาคารพาณิชย์” ไม่อนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อป้องกันผลกระทบต่อฐานะการดำเนินงาน อันอาจส่งผลกระทบต่อเงินฝากของประชาชน และรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รวมถึงเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน

พร้อมกำหนดว่า ไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ดำเนินการที่สนับสนุนให้ประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเปราะบางเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัล หรือส่งเสริมให้มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางการชำระราคาค่าสินค้าและบริการ (means of payment)

ต้องขออนุญาต ธปท.รายกรณี

สำหรับบริษัทใน “กลุ่มธุรกิจทางการเงิน” ทั้งที่มีหรือไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ หากต้องการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดังต่อไปนี้ ต้องให้บริษัทแม่ขออนุญาตต่อ ธปท.เป็นรายกรณี ได้แก่ 1.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเค็นดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือธุรกิจที่มีลักษณะเดียวกันในต่างประเทศ

2.ธุรกิจที่มีธุรกิจหรือกิจกรรมหลักเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นใดที่ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ โดย ธปท.สามารถกำหนดให้นำแนวปฏิบัติเพื่อเข้าร่วมทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาให้บริการทางการเงิน หรือ regulatory sandbox มาใช้ได้

นอกจากนี้ การจัดตั้งบริษัทที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัทแม่ต้องแน่ใจว่า กลุ่มธุรกิจทางการเงินมีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นจากบริษัทดังกล่าว รวมถึงดูแลให้กลุ่มธุรกิจทางการเงิน “ไม่สร้างความเข้าใจผิด” ว่า ธนาคารพาณิชย์มีส่วนรับผิดชอบในธุรกิจหรือธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ของบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน

ขีดเส้นเฉพาะการพัฒนานวัตกรรม

“ขอบเขตการทำธุรกรรม” ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (ที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ) สามารถออกและถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลได้เฉพาะวัตถุประสงค์ในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือคุณภาพการให้บริการทางการเงินเท่านั้น และต้องให้บริษัทแม่ขออนุญาตต่อ ธปท.เป็นรายกรณี

สำหรับบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันวินาศภัย ประกันชีวิต และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ให้บริการเสนอขายโทเค็นดิจิทัล สามารถออกและถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลได้ตามที่หน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ โดยให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศฉบับนี้

รวมถึงให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินสามารถลงทุนในกองทุนหรือใบทรัสต์ของกองทรัสต์ที่มีนโยบายการลงทุน “ส่วนน้อย” ในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ แต่ห้ามลงทุนในหน่วยลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลัก

ห้ามให้สินเชื่อลงทุน DA

นอกจากนี้ ธปท.ไม่ประสงค์ให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินให้สินเชื่อทุกรูปแบบที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าบุคคลธรรมดา เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต รวมถึงสินเชื่อที่มีการรับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหลักประกัน เพื่อดูแลปัญหาการกู้ยืมเพื่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ

และไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินให้บริการผ่านช่องทางของธนาคารพาณิชย์ที่อาจทำให้ลูกค้าทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น เช่น โฆษณา เสนอขาย แนะนำ หรือรายละเอียดเกี่ยวข้องกับธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลลูกค้าแก่บริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด

คุมแบงก์ลงทุน DA ไม่เกิน 3%

ในส่วนของการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยงของ “ธนาคารพาณิชย์” จำกัดการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งในและนอกกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการให้สินเชื่อ ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะการให้สินเชื่อแก่บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงิน ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งทางตรงและผ่านบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนธนาคารพาณิชย์

ส่วนบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน จะจำกัดปริมาณการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งในและนอกกลุ่มธุรกิจการเงิน รวมกันไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนของกลุ่มธุรกิจการเงิน กรณีมีการลงทุนเกิน 3% ให้หักส่วนที่เกินออกจากเงินกองทุนขั้นที่ 1 ส่วนที่เป็นเจ้าของ (CET1) ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินเต็มจำนวน

และเพื่อพิสูจน์การดำเนินธุรกิจภายใต้อัตราส่วนที่กำหนด 3% ให้บริษัทแม่จัดทำรายงานข้อมูลโดยแยกข้อมูลรายบริษัท และภาพรวมของกลุ่มธุรกิจทางการเงินอย่างเพียงพอ และจัดทำไว้เป็นรายไตรมาส เพื่อให้สามารถตรวจสอบหรือจัดส่งให้ ธปท.เมื่อร้องขอ รวมถึงให้บริษัทแม่จัดทำรายงานฐานะการถือครองสินทรัพย์ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินทุกสิ้นเดือน โดยต้องระบุถึงชื่อและประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนและมูลค่าในรายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือครอง

ทั้งนี้ ธปท.อาจสั่งการให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทแม่ดำรงอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจทางการเงินเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ขั้นต่ำตามกฎหมาย หากเห็นว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงเกินสมควร และไม่สามารถแก้ไขให้ลดลงได้ภายในเวลากำหนด

ธปท.มีอำนาจระงับธุรกรรม

นอกจากนี้ มีข้อกำหนดว่า ธปท.อาจมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม หรือสั่งการให้แก้ไข ชะลอหรือระงับการประกอบธุรกิจหรือการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นการทั่วไปหรือเป็นรายกรณี หาก ธปท.ตรวจพบว่ากลุ่มธุรกิจทางการเงินมีประเด็นที่อาจเข้าข่ายการปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด หรือกรณีอื่นใดที่ ธปท.เห็นว่ามีความจำเป็น
ส่วนกรณีบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ก่อนวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ และไม่สามารถปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ ให้บริษัทดังกล่าวดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนดภายใน 180 วันนับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้

เครือกสิกรฯศึกษา-ปรับกลยุทธ์

ด้านนายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC) ในเครือธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพูดคุยกับทีมกำกับ (compliance) ภายในธนาคาร เพื่อศึกษาถึงรายละเอียดของประกาศ เพื่อปรับกลยุทธ์และการลงทุนให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เน้นการเข้าไปลงทุนบริษัทที่ทำเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล และสัดส่วนการถือหุ้นค่อนข้างน้อย และทุกครั้งจะมีทีมกำกับดูแลของธนาคารเป็นที่ปรึกษา ดูว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือมีอะไรที่ทำได้ และไม่ได้บ้าง อันไหนที่ห้ามหรือลงไม่ได้ก็ไม่ลง เช่น โทเค็น คริปโต เบื้องต้นประกาศดังกล่าวไม่น่าจะกระทบภาพรวมการลงทุนของบริษัท และบริษัทก็มีการลงทุนค่อนข้างน้อย

ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนในบริษัทในไทยที่ทำเรื่องเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล 2 ราย แต่เป็นการให้ convertible note คล้ายเงินกู้ แต่สามารถแปลงเป็นหุ้นในอนาคต เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เป็นสตาร์ตอัพขนาดไม่ใหญ่ จึงเป็นการให้วงเงินเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดในธุรกิจ