
กองทุนประกันวินาศภัยเลื่อนส่งแผนกู้เงิน สบน.เป็นช่วง พ.ย.-ธ.ค.66 ชี้มีสภาพคล่องหน้าตักพอจ่ายหนี้ปี 2566 กว่า 5-6 พันล้านบาท เดินหน้าเพิ่มเงินสมทบขยับรายได้ 1.3 พันล้านบาทต่อปี เผยหนี้ค้างกองทุน 6 หมื่นล้านบาท เปิดยืนยันตัวตนผ่าน LINE อนุมัติจ่ายไม่เกิน 30 วัน
กองทุนประกันเลื่อนส่งแผนกู้เงิน สบน.
วันที่ 28 ธันวาคม 2565 นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตฯ เปิดเผยว่า จากเดิมที่กองทุนฯมีความกังวลจากการเร่งดำเนินการพิจารณาคำทวงหนี้และเร่งจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยในช่วงปี 2565 จนอาจทำให้สภาพคล่องของกองทุนฯในปี 2566 อาจจะวิกฤตได้ แต่ปัจจุบันยังมีเงินสดสภาพคล่องเหลืออยู่พอสมควรกว่า 5-6 พันล้านบาท ซึ่งถือว่ายังเพียงพอต่อการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ส่งผลให้แผนการจัดหาแหล่งเงินกู้ยืมที่จะเสนอให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พิจารณา ถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.66 แทน จากเดิมที่มีกำหนดจะยื่นแผนช่วงเดือน ธ.ค.นี้
- กรมอุตุฯอัพเดต เส้นทางพายุไต้ฝุ่น “มาวาร์” เตือนฝนตกหนัก 27-30 พ.ค.
- Young FTI สะท้อน 8 ปัญหาถึง “พิธา” นวัตกรรมดีแต่พี่ไม่เหลียวแล
- ป.ป.ช.เปิดบัญชีทรัพย์สิน หมอชลน่าน ศรีแก้ว พ้น ส.ส. รวย 560 ล้านบาท
เนื่องจากในปี 2567 กองทุนประเมินแล้วว่าอาจจะมีผลกระทบต่อสภาพคล่อง ทำให้ต้องจัดหาแหล่งเงินในการชำระหนี้เข้ามาเพิ่มเติม โดยขณะนี้บอร์ดบริหารกองทุนฯได้ตั้งอนุกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะในการจัดหาแหล่งเงินกู้ โดยวงเงินในการกู้จะขึ้นอยู่ว่าขณะนั้นมีมูลหนี้เหลืออยู่เท่าไร วงเงินขอกู้ของกองทุนสามารถกู้ได้แค่ไหน และที่สำคัญสมรรถนะในการชำระหนี้ของกองทุนมีมากน้อยแค่ไหนด้วย เช่น กู้เงินมาจำนวน 1 หมื่นล้านบาท แต่ชำระหนี้ได้แค่ 5 พันล้านบาท จำนวนเงินที่ค้างอยู่ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ย ฉะนั้นวงเงินที่กู้กับจำนวนเงินชำระหนี้ในแต่ละปีต้องบาลานซ์กัน

เพิ่มเงินสมทบ เพิ่มรายได้ 1.3 พันล้าน
ทั้งนี้กองทุนฯได้จัดหารายได้เข้ามาเพิ่ม โดยได้เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อพิจารณาเพิ่มอัตราเงินนำส่งตามมาตรา 80/3 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย จากเดิมที่บริษัทประกันวินาศภัยนำส่งเข้ากองทุนฯ ในอัตราปีละ 0.25% จากเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ เพิ่มเป็น 0.5% ซึ่งจะเท่ากับอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ด คปภ. โดยจะทำให้กองทุนมีรายได้เพิ่มเป็นปีละ 1,300 ล้านบาท จากเดิมรับอยู่ปีละ 650 ล้านบาท โดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.66 เป็นต้นไป
“การส่งเงินเข้ากองทุนฯ กำหนดให้ส่ง 2 ครั้งต่อปีคือ ช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) จะต้องส่งภายในเดือน ก.ค.ของทุกปี และช่วง ก.ค.-ธ.ค. จะต้องส่งช่วงเดือน ม.ค.ของปีถัดไป”
หนี้ค้างกองทุน 6 หมื่นล้าน
นายชนะพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้กองทุนมีมูลหนี้คงค้างของบริษัทประกันวินาศภัยอยู่ทั้งสิ้น 8 บริษัท ประกอบด้วย 1.สัมพันธ์ประกันภัย 2.เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ 3.สัจจะประกันภัย 4.เจ้าพระยาประกันภัย 5.เอเชียประกันภัย 1950 6.เดอะวันประกันภัย 7.ไทยประกันภัย และ 8.อาคเนย์ประกันภัย รวมจำนวนคำทวงหนี้เกือบ 7 แสนราย คิดเป็นยอดเงินขอรับชำระหนี้กว่า 6 หมื่นล้านบาท
โดย 4 บริษัทแรกยังเหลือเจ้าหนี้อยู่กว่า 10,100 ราย มูลหนี้ประมาณกว่า 1 พันล้านบาท ส่วนอีก 4 บริษัทหลังที่ถูกปิดกิจการจากผลกระทบจ่ายเคลมสินไหมตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด “เจอ จ่าย จบ” เหลือเจ้าหนี้อยู่กว่า 652,000 ราย มูลหนี้รวม 5.24 หมื่นล้านบาท
“กองทุนได้จ่ายเงินให้เจ้าหนี้บริษัทสัมพันธ์ประกันภัยไปแล้วกว่า 400 ล้านบาท เจ้าหนี้บริษัทเอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ ประมาณ 27 ล้านบาท เจ้าหนี้บริษัทสัจจะประกันภัย กว่า 200 ล้านบาท เจ้าหนี้บริษัทเจ้าพระยาประกันภัย ประมาณ 295 ล้านบาท
เจ้าหนี้บริษัทเอเชียประกันภัย 1950 จ่ายไปแล้วกว่า 470 ล้านบาท เจ้าหนี้บริษัทเดอะวันประกันภัย ประมาณ 680 ล้านบาท เจ้าหนี้บริษัทไทยประกันภัย ประมาณ 420 ล้านบาท และเจ้าหนี้บริษัทอาคเนย์ประกันภัย จ่ายเงินไปแล้วกว่า 500 ล้านบาท” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าว
ในปี 2565 กองทุนฯได้เร่งดำเนินการพิจารณาคำทวงหนี้และเร่งจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ได้ถึง 27,792 ราย รวมเป็นเงินที่อนุมัติจ่ายกว่า 2.13 พันล้านบาท และได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ที่ยืนยันสิทธิรับเงินแล้ว 13,382 ราย เป็นเงินกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามเป้าที่จะจ่ายได้ 4 พันล้านบาท เพราะยังมีคำทวงหนี้อีกประมาณ 14,400 ราย ที่ยังไม่มายืนยันสิทธิเพื่อขอรับเงินกับกองทุนฯ ทั้งนี้กองทุนตั้งเป้าในปี 2566 จะพิจารณาคำทวงหนี้ให้ได้ประมาณ 80,000-100,000 ราย เพราะมีวงเงินสภาพคล่องเหลืออยู่พอสมควร
เปิดยืนยันตัวตนผ่าน LINE อนุมัติจ่ายไม่เกิน 30 วัน
ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาเจ้าหนี้ไม่มายืนยันสิทธิเพื่อขอรับเงินดังกล่าว ในปี 2566 กองทุนฯได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงาน คปภ.ทั่วประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการรับคำยืนยันสิทธิรับเงินให้แก่ประชาชน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค.65 นอกจากนี้กองทุนจะเปิดให้เจ้าหนี้ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น LINE
และจะลดขั้นตอนลงรับเอกสารคำทวงหนี้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย เช่น ผ่าน QR Code เป็นต้น และล่าสุดได้รับอนุมัติลูกจ้างชั่วคราว เพิ่ม 10 อัตรา รวมเป็น 18 อัตรา และมีพนักงาน 7 อัตรา รวมเป็น 25 อัตรา ที่จะดำเนินการจ่ายเงินได้เร็วยิ่งขึ้น คาดว่าระยะเวลาในการชำระหนี้จะทำได้ภายใน 30 วัน จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 60 วัน โดยจะขออนุมัติอำนาจสั่งจ่ายเงินรอบละ 400-500 ราย
“กระบวนการยื่นเรื่องต้องทำภายใน 60 วันตามประกาศกำหนด หากเกินกรอบเวลาดังกล่าว เจ้าหนี้ต้องไปรอขอเฉลี่ยทรัพย์จากกองล้มละลาย”