เคทีซี กางแผนปี’66 ดัน 3 ธุรกิจหลักปั้นพอร์ตทะลุแสนล้าน

บริษัท บัตรกรุงไทย หรือ “เคทีซี” กางแผนปี’66 ดัน 3 ธุรกิจหลัก “บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล-พี่เบิ้ม”เติบโตสินเชื่อ 15% พอร์ตคงค้างทะลุ 1 แสนล้านบาท พร้อมปักธงปี’70 กำไรนิวไฮแตะ 1 หมื่นล้านบาท หนี้เสียไม่เกิน 1.7%

วันที่ 29 ธันวาคม 2565 นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทีซี” เปิดเผยว่า

แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 จะเป็นปีที่เตรียมการเพื่อทำกำไรสูงสุด (New High) คาดว่ายอดสินเชื่อรวมจะเติบโตราว 15% และมียอดสินเชื่อคงค้างระดับ 1 แสนบ้านบาท ภายใต้ธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้สินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” และสินเชื่อรถแลกเงิน (เคทีซี พี่เบิ้ม) และยังมีโมเดลธุรกิจที่อยู่ระหว่างบ่มเพาะเพื่อนำมาใช้ในการสร้างกำไรในระยะข้างได้อีก

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวภายในปี 2570 บริษัทตั้งเป้ามีกำไรแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท หลังจากปี 2565 คาดว่าจะมีกำไรอยู่ที่ระดับ 7,000 ล้านบาท

ส่วนแผนบริหารจัดการเงินกู้ในปี 2566 เคทีซีมีแผนระดมเงินกู้ประมาณ 15,000 ล้านบาท (ออกบอนด์) เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปี 2566 รวม 4,800 ล้านบาท ที่เหลือเพื่อสนับสนุน การเติบโตของพอร์ตสินเชื่อเคทีซี โดยแบ่งเป็นสัดส่วนเงินกู้ระยะยาว 80% และระยะสั้น 20% ซึ่งต้นทุนทางการเงินอาจเพิ่มขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากปี 2565 ที่ประมาณ 2.5-3% โดยคาดว่าต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 0.5% ในปีหน้า

ทั้งนี้ เพื่อถึงเป้าหมายจะต้องมี 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.จัดเทคโนโลยีและข้อมูล (Data) ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจทั้ง 3 ธุรกิจหลัก 2.เตรียมบุคลากรที่มีศักยภาพที่มีอยู่ให้เพียงพอ และรับคนเข้ามาเพิ่มเติมหลังจาก 11 ปีไม่ได้รับคนเพิ่มเลย

และ 3.การใช้ Data ต้องมีการบูรณาการเลือกเก็บข้อมูลส่วนที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต้องใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำการตลาด การวางแผนธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์ทั้ง 3 ข้อดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2566 เพื่อให้ทั้ง 3 ธุรกิจหลักสามารถสร้างกำไรสูงสุดต่อไปได้

“ในช่วงที่ผ่านมาเคทีซีเราทำกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี แต่จะมีปี 2563 ที่เห็นกำไรลดลงจากผลกระทบโควิด-19 นอกนั้นเราทำกำไรนิวไฮมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2567 จะมีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ คนใหม่มารับไม้แทน ซึ่งในระหว่างนี้ปี 2566

เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเคทีซี ทั้งโครงสร้างองค์กร กลยุทธ์ กระบวนการเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อขับเคลื่อนเคทีซีไปสู่รากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง ภายใต้แนวคิด “A Transition to the NewFoundation” เพื่อให้ธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง จนในปี’70 กำไรจะไปแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท”

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจ โดยในปี 2566 ธุรกิจบัตรเครดิตบริษัทตั้งเป้าหมาย ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (Spending) เติบโต 10% หรือคิดเป็น 2.64 แสนล้านบาท จากในปี 2565 ยอดใช้จ่ายผ่านเติบโตเกินเป้าหมายที่วางไว้ที่ 15-20% สามารถทำได้ 22% และตั้งเป้าสมาชิกใหม่ 1.8 แสนใบ จากฐานลูกค้าปัจจุบันมีอยู่ 2.5 ล้านใบ หรือสมาชิกจำนวน 2 ล้านราย

ส่วนธุรกิจสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” วางเป้าหมายปี 2566 เติบโตที่ระดับ 7% คาดจะมีสมาชิกรายใหม่อยู่ที่ 1.10 แสนราย จากฐานลูกค้าปัจจุบันอยู่ที่ 7.5 แสนราย

โดยจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออนไลน์มากขึ้น และสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านแอปพลิเคชั่น KTC Mobile ให้สะดวก และเพิ่มช่องทางการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์เพิ่มเติมในปี 2566 จากปัจจุบันสามารถโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร 15 แห่ง

ด้านธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ตั้งเป้่ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ 9,100 ล้านบาท จากสิ้นปี 2565 สินเชื่ออยู่ที่ 1,000 ล้านบาท จากเป้าหมายในปีนี้ที่ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2566 ได้ปรับกลยุทธ์ใหม่โดยผนึกกำลังกับธนาคารกรุงไทยในฐานะบริษัทแม่ในการขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารกรุงไทยมากขึ้น ทั้งสาขาธนาคาร และแอปพลิเคชั่น “เป๋าตังค์” รวมถึงจะขยายฐานลูกค้าไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น

อย่างไรก็ดี จากเกณฑ์การควบคุมเพดานดอกเบี้ยของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นั้น “เคทีซี พี่เบิ้ม” มีแผนจะชะลอและยุติการให้สินเชื่อลดแลกเงินรถมือสอง (จำนำทะเบียนแบบโอนเล่ม) ที่มีสัดส่วนประมาณ 10% และหันมาเน้นจำนำทะเบียนรถเป็นหลัก เนื่องจากเกณฑ์ดังกล่าวกระทบต่อส่วนต่างกำไรและมีความเสี่ยง

ส่วนสินเชื่อกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง ในปี 2566 วางเป้าหมายสินเชื่อเพิ่ม 3,000 ล้านบาท จากในปีนี้อยู่ที่ 1,000-1,200 ล้านบาท โดยหันมาเน้นรถใหญ่ เช่น รถบรรทุก เป็นต้น ดังนั้น คาดว่าในปีหน้ากรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง จะกลับมามีกำไร

ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) พยายามรักษาให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2565 อยู่ที่ 1.7% โดยหัวใจหลักยังคงเป็นการคัดกรองลูกค้าตั้งแต่เป็นสมาชิกและตามเก็บเงิน