กรุงเทพประกันภัย พลิกกำไรปีนี้ 3.5 พันล้าน ยืนยันไม่แข่งตัดราคาเบี้ยแย่งพอร์ตรถอีวี

กรุงเทพประกันภัย คาดหวังพลิกมีกำไรก่อนหักภาษีปีนี้ 3.5 พันล้านบาท หลังขาดทุนสุทธิปีก่อน 638 ล้านบาท เหตุจ่ายเคลมโควิดไปสูงกว่า 8,700 ล้านบาท ตั้งเป้าเบี้ยรับรวม”66 แตะ 30,000 ล้านบาท โต 12.5% ลุยรับประกันรถอีวี 2,000 คัน ยันไม่แข่งตัดราคาแย่งพอร์ต

วันที่ 24 มีนาคม 2566 นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยว่า ในปี 2566 บริษัทคาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) จำนวน 3,500 ล้านบาท หลังจากปี 2565 มีผลขาดทุนสุทธิ 638 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากขาดทุนจากการรับประกันภัยค่อนข้างมาก โดยมีภาระผูกพันในการจ่ายเคลมสินไหมประกันภัยโควิด-19 มูลค่ากว่า 8,700 ล้านบาท แม้ว่าบริษัทจะสามารถทำรายได้จากการลงทุนสุทธิได้สูงถึง 6,254 ล้านบาทก็ตาม

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน

สำหรับในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวมจะอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท เติบโต 12.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) โดยมาจากเบี้ยประกันรถยนต์ (motor) จำนวน 13,096 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 43% และมาจากเบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถ (non-motor) อีกจำนวน 16,904 ล้านบาท ในสัดส่วน 57% โดยมีระดับอัตราส่วนความเสียหาย (loss ratio) ของบริษัทอยู่ที่ 52-53%

“ปีนี้จะเป็นปีที่เรากลับมาพลิกฟื้นสถานการณ์ต่าง ๆ โดยต้องสร้างพลังกายพลังใจให้มีแรงหึดสู้เพื่อเป้าหมายที่ท้าทาย และนำไปสู่ความสำเร็จ บนพื้นฐานไม่ใช่โตแต่ตัวเลข แต่ผลประกอบการต้องอยู่ในระดับที่เราคาดหวังด้วย เนื่องจากปีที่แล้วเงินสำรองของเราหายไปมากจากการจ่ายเคลมโควิดและจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น”

ทั้งนี้ปีนี้การเติบโตตามแผนไม่ยากเกินไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภายใต้ปัจจัยแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางอยู่ มีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ มีความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนจากผลกระทบแบงก์ล้ม รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันที่ทยอยปรับลดลง สวนทางราคาทองคำที่ปรับพุ่งขึ้น สะท้อนถึงความกลัวของตลาด แต่เชื่อว่าอาจจะเป็นแค่สภาวะช่วงหนึ่งเท่านั้นที่คนกำลังช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดีปัจจัยภายในประเทศจะได้แรงหนุนหลักจากภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะหากนักท่องเที่ยวจีนกลับมาอีก 1-2 เดือนนี้ และประกอบกับภาครัฐได้ปรับเป้าคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคน (จากเดิม 20 ล้านคน) รวมไปถึงการแบ่งเงินค่าเหยียบแผ่นดินมาซื้อประกันสุขภาพ คาดว่าจะทำให้มีเบี้ยประกันจากโปรดักต์นี้เกิดขึ้นในระบบประมาณ 1,000 ล้านบาทอีกด้วย”

ในส่วนแผนการพัฒนาโปรดักต์ในการทำตลาดปีนี้ บริษัทได้พัฒนาประกันรถยนต์ 2+ super special โดยความพิเศษที่มากขึ้นด้วยการบวกเพิ่มความคุ้มครองความเสียหายจากการพลิกคว่ำหรือตกข้างทางและพิเศษยิ่งขึ้นกับความคุ้มครองความเสียหายต่อกระจกบังลมรถยนต์ จากการเกิดอุบัติเหตุอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการชน เบี้ยอาจแพงขึ้นกว่าเดิมโดยเฉลี่ยแค่ 300 บาท แต่ความคุ้มครองคุ้มค่าแน่นอน

ส่วนแผนการรับประกันรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากปี 2565 ที่มีพอร์ตงานรถอีวีในความคุ้มครองจำนวน 1,200 คัน จากรถอีวีจดทะเบียนในตลาด 13,700 คัน คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ 9% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถค่าย MG ตามมาด้วย Tesla และ Porsche ซึ่งหากรวมงานต่ออายุจะมีรถอีวีในพอร์ตสะสม 2,000 คัน คิดเป็นเบี้ยประกันรวมมากกว่า 100 ล้านบาท

สำหรับแผนในปี 2566 ที่คาดว่าจะมีรถอีวีจดทะเบียนใหม่ในตลาดเกิดขึ้น 40,000 คัน บริษัทอาจจะมีสัดส่วนรับงานรถอีวีแค่ 2,000 คัน หรือมีมาร์เก็ตแชร์ 6% เท่านั้น โดยคาดว่าจะมีเบี้ยประกันราว 120-140 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนรถอีวีที่จะออกมาในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นรถ ora good cat และรถค่าย BYD ซึ่งแต่ละบริษัทประกันต้องการขยายพอร์ต จึงมีการแข่งขันสูงโดยจะเริ่มมีการตัดราคากันเกิดขึ้น โดยที่ยังไม่ได้รู้ถึงข้อมูลความเสี่ยงอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นมองตลาดแล้วบริษัทจะไม่เข้าไปเสี่ยงแย่งตลาดตรงนี้

“โดยสิ่งหนึ่งที่เราได้มีการเตรียมการอยู่ เนื่องจากรถอีวีทั้งหมดจะเป็นการซ่อมศูนย์ เพราะยังไม่มีใครรับซ่อม ความเชี่ยวชาญคือศูนย์ ซึ่งศูนย์ค่าแรงค่อนข้างแพง เพราะส่วนใหญ่การซ่อมศูนย์ใช้วิธีการเปลี่ยนอะไหล่ ขณะนี้จึงได้ส่งทีมเข้าไปพัฒนาอู่ในกลุ่มของบริษัท เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการซ่อมรถอีวี มีความรู้เกี่ยวกับแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอะไหล่ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถขยับขยายการเติบโตรถอีวีได้มากขึ้นในอนาคต”

อย่างไรก็ดีขณะนี้บริษัทมีแผนจะพัฒนาความคุ้มครองใหม่ ๆ พร้อมเพิ่มจำนวนรุ่นรถอีวีที่รับประกันจากปัจจุบันที่ครอบคลุมถึง 33 รุ่นจาก 20 แบรนด์ชั้นนำ รวมไปถึงได้เตรียมความพร้อมด้านบริการทั้งด้านสินไหมและการสนับสนุนข้อมูลทางเทคนิค

ในส่วนภาพรวมตลาด เบื้องต้นทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยประเมินว่าปีนี้ธุรกิจประกันวินาศภัยจะมีเบี้ยประกันรับรวมขยายตัว 4.5- 5% จากปีก่อน ท่ามกลางปัจจัยที่ท้าทายหลายประการ เช่น กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้น เเละอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการยกเลิกผ่อนปรนมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย

เเละราคาบ้านอยู่อาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณเบี้ยประกันอัคคีภัย เช่นเดียวกับประกันภัยทางทะเลเเละขนส่งที่ย่อมได้รับผลกระทบจากการส่งออกของประเทศที่หดตัวลงตามการชะลอของเศรษฐกิจโลก


ขณะที่ประกันภัยสุขภาพ เเม้จะได้รับผลบวกจากการที่ผู้บริโภคตระหนักถึงความเสี่ยงด้านการเจ็บป่วยเเละภาระค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น เเต่บริษัทประกันภัยมีเเนวโน้มจะเพิ่มความระมัดระวังในการขยายงานประเภทนี้มากขึ้น ภายหลังเริ่มบังคับใช้มาตรฐานใหม่ของการประกันภัยสุขภาพ ส่งผลให้ความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยในการรับประกันจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ในส่วนของบริษัทคาดการณ์ว่าจะมีเบี้ยประกันสุขภาพเติบโต 20% ขยับมามีเบี้ยรับในปีนี้อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท