ไทยประกันชีวิต Q1 กำไร 3,129 ล้าน ลดลง 17% เอฟเฟ็กต์ผลตอบแทนลงทุน

ไชย ไชยวรรณ
นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI

ไทยประกันชีวิต กำไรไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 3,129 ล้านบาท ลดลง 17.51% เกิดจากผลตอบแทนลงทุน ลดลง จากช่วงเดียวกันปีก่อนรับรู้กำไรขายเงินลงทุนพุ่ง 2,240 ล้านบาท แต่กำไรรับประกันโตแกร่ง เพิ่มขึ้น 10.3% มูลค่ากำไรธุรกิจใหม่ โต 8.7% มุ่งเน้นขายผลิตภัณฑ์สร้างกำไรระยะยาว ไม่อ่อนไหวต่อดอกเบี้ย สินทรัพย์ลงทุนรวมแตะ 545,132 ล้านบาท

วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI เปิดเผยว่า ผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 24,042 ล้านบาท ลดลง 7.37% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) มีกำไรสุทธิ 3,129 ล้านบาท ลดลง 17.51% YOY โดยเกิดจากผลตอบแทนจากการลงทุน ลดลง 1,368 ล้านบาท หรือลดลง 20.94% YOY มีสาเหตุหลัก

1.การลดลงของกำไรจากการขายเงินลงทุน 871 ล้านบาท โดยไตรมาส 1 ปีก่อน บริษัทมีกำไรจากการขายเงินลงทุน 2,240 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับสูง เพราะกังวลต่อภาวะตลาดหุ้นขาลง เนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงมากจากภาวสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ

2.การเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนที่ยังไม่รับรู้จากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงและจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินลงทุนในต่างประเทศ 617 ล้านบาท ตามภาวะตลาด ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เทียบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐปรับสูงขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทมีเงินลงทุนโดยตรงในหุ้น STARK ด้วยต้นทุน 450 ล้านบาท บริษัทมีขาดทุนที่ยังไม่รับรู้จากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในหุ้นดังกล่าว 332 ล้านบาท จากการประเมินมูลค่าด้วยความระมัดระวังอย่างสูงของบริษัท ซึ่งไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลประกอบการจากพอร์ตการลงทุนทั้งหมด บริษัทมียอดคงเหลือของกำไรที่ยังไม่รับรู้จากการปรับมูลค่ายุติธรรม 1,820 ล้านบาท

โดยมีเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้สุทธิ 18,762 ล้านบาท ลดลง 2.96% YOY โดยมีเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปี (APE) อยู่ที่ 3,028 ล้านบาท ลดลง 8.9% YOY แต่อย่างไรก็ดี ผลรวมของกำไรที่คาดว่าจะได้รับตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งถึงวันสิ้นสุดสัญญา หรือมูลค่ากำไรของธุรกิจใหม่ (Value of New Business : VONB) อยู่ที่ 1,701 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% YOY

ส่วนอัตรากำไรของธุรกิจใหม่ (VONB Margin) มีอัตราที่ 56.18% เพิ่มขึ้น 9.1 จุด YOY ซึ่งเป็นผลจาก VONB ที่เติบโตทุกช่องทางการขาย โดยช่องทางตัวแทนเติบโตจากการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการขาย และมุ่งเน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลกำไรอย่างยั่งยืน สะท้อนได้จาก VONB Margin ช่องทางตัวแทนที่สูงขึ้นถึง 56.7%

ขณะเดียวกัน VONB ของช่องทางพันธมิตรยังคงเติบโต เนื่องมาจากความสำเร็จของกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัทร่วมมือกับพันธมิตรธนาคาร นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลกำไรสูงขึ้นร่วมกับการนำเสนอขายผลิตภัณฑ์อื่น

“แม้ว่ากำไรสุทธิไตรมาสแรกปีนี้จะลดลง แต่บริษัทมีกำไรจากการรับประกันภัยที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งอยู่ที่ 2,020 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% YOY”

โดยบริษัทกำหนดกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างกำไรในระยะยาว และมีความอ่อนไหวน้อยต่ออัตราดอกเบี้ย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล (Participating Product) รูปแบบใหม่ และได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด

โดยสัดส่วน APE ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเมื่อเทียบกับ APE รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 19.27% YOY ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ของบริษัท รวมถึงผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน และสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์นี้จะผลักดันให้บริษัทมีกำไรอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ

นายไชยกล่าวอีกว่า ด้านผลประโยชน์จ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยและค่าสินไหมทดแทนสุทธิ ลดลง 550 ล้านบาท หรือลดลง 3.46% YOY โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของสินไหมค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโควิด และการจ่ายเงินครบกำหนดของกรมธรรม์ประกันภัย

โดยสินไหมค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องโควิด อยู่ที่ 40 ล้านบาท ลดลง 91.56% YOY ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 อย่างไรก็ตาม สินไหมค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโรคอื่น ๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 303 ล้านบาท ซึ่งกลับไปเป็นตามฤดูกาล

สำหรับด้านอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR Ratio) สิ้นเดือน มี.ค. 2566 อยู่ที่ 449.6% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดอยู่ที่ 140% ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญกับสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งอันเป็นรากฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยมีสินทรัพย์ลงทุนรวม 545,132 ล้านบาท สัดส่วนกว่า 81.70% ลงทุนในตราสารหนี้ หรือมูลค่ากว่า 445,363 ล้านบาท แยกเป็นพันธบัตรรัฐบาล 48.11% หุ้นกู้ภาคเอกชน 40.01% พันธบัตรของรัฐวิสาหกิจ 11.80% และเงินฝากประจำ


ส่วนลงทุนในหุ้นและหน่วยลงทุน 10.93% หรือมูลค่าราว 59,557 ล้านบาท แยกเป็นตราสารทุนและหน่วยลงทุนในประเทศ 45.39% และหน่วยลงทุนต่างประเทศ 54.61% และสัดส่วนที่เหลืออีก 5.35% เป็นเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ