ทิสโก้ ชี้หุ้นทั่วโลกส่อปรับตัวลงอีก 5-7% แรงกดดันสภาพคล่องลด

บล.ทิสโก้

TISCO ESU ชี้การขยายเพดานหนี้สหรัฐ ไม่ช่วยหนุนหุ้นทั่วโลก เหตุปัจจัยกดดันด้านสภาพคล่องยังคงอยู่ ทั้งจากการออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาคืนบัญชีสำรอง และมาตรการปรับลดขนาดงบดุล อาจกดดันหุ้นทั่วโลกลดลงราว 5-7% พร้อมแนะจับตา Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยหยุดเงินเฟ้อ

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า แม้ว่าคณะเจรจาของทำเนียบขาวและพรรครีพับลิกันได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการขยายเพดานหนี้สหรัฐแล้ว แต่ตลาดหุ้นยังคงได้รับแรงกดดันจากปัญหาสภาพคล่องที่มาจาก 2 ประเด็นคือ 1.รัฐบาลสหรัฐจะต้องออกพันธบัตรจำนวนมากมาชดเชยเงินในบัญชีสำรองที่ใช้ไปในช่วงที่ยังไม่สามารถขยายเพดานหนี้ได้

และ 2.มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening) ที่ดึงสภาพคล่องออกจากตลาดอีกเดือนละประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้งสองประเด็นดังกล่าวจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond yield) เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับราว 4% ส่งผลให้มูลค่าหุ้น (Valuation) ทั่วโลกจะลดลงราว 5-7% ซึ่งคาดว่าจะทำให้ดัชนี S&P500 ปรับฐานลงไปอยู่ระดับราว 3,900 จุด จึงแนะนำให้นักลงทุนขายทำกำไรก่อนในช่วงนี้

คมศร ประกอบผล
คมศร ประกอบผล

“ตามปกติรัฐบาลจะดำรงยอดเงินในบัญชีสำรองไว้ที่ระดับประมาณ 2% ของ GDP หรือราว 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในช่วงที่ผ่านมาหนี้ที่ชนเพดานทำให้รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้ รัฐบาลสหรัฐจึงใช้จ่ายเงินจากบัญชีสำรองแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้กู้เงินเพื่อชดเชย จนเงินในบัญชีสำรองลดลงมาเหลือเพียง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบหลายปี

ทำให้หลังจากนี้สหรัฐจะต้องออกขายพันธบัตรเป็นจำนวนมากถึง 4-5 แสนล้านเพื่อมาคืนเงินในบัญชีสำรอง และเมื่อรวมกับผลของมาตรการ QT ที่ดึงสภาพคล่องออกจากตลาดอีกเดือนละประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้สภาพคล่องโดยรวมลดลงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 6 เดือนข้างหน้า” นายคมศรกล่าว

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจกดดันสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มเติมในช่วงกลางปี โดยก่อนหน้านี้ Fed ส่งสัญญาณว่าอาจหยุดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 14 มิถุนายน แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ประเมินว่ายังมีความเสี่ยงที่ Fed อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปที่ระดับสูงกว่าปัจจุบัน เนื่องจาก 1.อัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปัจจุบันนั้นขึ้นอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อที่ราว 5% แต่ยังนับว่าต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับในอดีตที่ Fed มักจะขึ้นดอกเบี้ยให้สูงกว่าเงินเฟ้อราว 1-2% ก่อนที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย

และ 2.ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐนั้นยังดูค่อนข้างแข็งแกร่ง เช่น อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี และยอดขายบ้านที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งอาจสะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันนั้นยังไม่สูงเพียงพอที่จะกดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายของ Fed ได้ ในขณะที่ตลาดหุ้นนั้นปรับตัวขึ้นมาสะท้อนความคาดหวังจากการหยุดขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปมากแล้ว โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นมาราว 10% ซึ่งใกล้เคียงกับในอดีตที่ตลาดจะปรับตัวขึ้น 10% โดยเฉลี่ยหลังจากที่ Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย