บี้ภาษี-ตีทะเบียนคริปโทฯ โทษหนักคุก 5 ปี ปรับ 2 เท่า

เปิดร่าง พ.ร.ก.กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ตีกรอบขึ้นทะเบียนทุกฝ่าย บี้ภาษีทุกขั้นตอน จัดหนักบทลงโทษกว่า 20 มาตรา ทั้ง “อาญา-แพ่ง” ชี้กรณีให้ข้อมูลเป็นเท็จในการเสนอขายโทเคนเจอคุก 5 ปี พร้อมปรับ 2เท่าของมูลค่าเสนอขาย

 

บังคับใช้ พ.ร.ก.ภายใน 20 มี.ค.

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. …และร่าง พ.ร.ก.การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบหลักการไปเมื่อ 13 มี.ค. และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้พิจารณาเมื่อวันที่ 15-16 มี.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะเรียบร้อย ทูลเกล้าฯภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ก.การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีด้วยกันกว่า 70 มาตรา โดยกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล (1) คริปโทเคอร์เรนซี (2) โทเคนดิจิทัล และ (3) ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่ รมว.คลังประกาศ

“คริปโทเคอร์เรนซี” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีราคาหรือมูลค่าอันถือเอาได้ โดยเป็นการตกลงหรือยอมรับระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด โดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีการอ้างอิงเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ใด

ส่วน “โทเคนดิจิทัล” หมายความว่า หน่วยแสดงสิทธิในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ

“ขณะที่การตีราคาหรือมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องมีการออกหลักเกณฑ์ตามมาอีกที โดยเสนอ รมว.คลังเห็นชอบออกประกาศ” แหล่งข่าวกล่าว

คุมเข้มขึ้นทะเบียนทุกฝ่าย

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน บริษัทต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. พร้อมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายและร่างหนังสือชี้ชวนต่อ ก.ล.ต.ด้วย (ไฟลิ่ง) หากไม่ดำเนินการตามนี้ถือว่าผิดกฎหมาย และการขายโทเคนดิจิทัลจะต้องดำเนินการผ่านผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.

“ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องขอไลเซนส์จาก ก.ล.ต.ทั้งในส่วนของศูนย์ซื้อขาย นายหน้าซื้อขาย และ ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล”

กรณีที่มีบริษัทดำเนินการระดมทุน ICO (Initial Coin Offering) ไปก่อนหน้าที่ร่าง พ.ร.ก.การกำกับฯมีผลบังคับใช้ จะมีบทเฉพาะกาลให้ต้องมาขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต.ใน 60 วัน

จัดหนักโทษ “อาญา-แพ่ง”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามร่าง พ.ร.ก.การกำกับฯได้กำหนดบทลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งทางอาญาและทางแพ่งกว่า 20 มาตรา อาทิ กรณีผู้เสนอขายโทเคนฯ โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ทำผ่านตัวกลางที่ถูกกฎหมาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของราคาขายโทเคนฯ ที่เสนอขาย โดยค่าปรับต้องไม่น้อยกว่า 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีให้ข้อมูลในไฟลิ่งเป็นเท็จ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของที่เสนอขายโทเคน และต้องไม่น้อยกว่า 500,000 บาท หรือหากเสนอขายโทเคนฯ ระหว่างที่ ก.ล.ต.ระงับการไฟลิ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่าที่เสนอขาย หรือทั้งจำทั้งปรับ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท และหากยังฝ่าฝืนปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท รวมทั้งผู้ที่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

บี้เก็บภาษีทุกขั้นตอน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ได้เสนอกฎหมายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และการเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล โดยออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้ง 2 ฉบับ โดยหน่วยงานที่จะกำกับดูแลคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยในส่วนของการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัลนั้น ในกรณีที่ซื้อขายแล้วมีกำไร ก็ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% รวมถึงภาษีเงินปันผลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เนื่องจากทั้งคริปโทเคอร์เรนซีและ ICO คือทรัพย์สินดิจิทัล เมื่อเป็นสินทรัพย์หรือบริการ เมื่อมีการซื้อขาย ก็ต้องเสีย VAT โดยนิติบุคคลสามารถเคลมคืนได้ แบบภาษีซื้อภาษีขายทั่วไป ส่วนบุคคลธรรมดาจะยกเว้น VAT

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้ไม่สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ว่า ใครถือสินทรัพย์อะไรอยู่แค่ไหน ดังนั้นสิ่งที่รัฐทำคือให้มีการควบคุมที่จุดเริ่มต้น จุดแลกเปลี่ยนที่มีการซื้อขาย โดยต้องกำหนดให้โบรกเกอร์หรือดีลเลอร์ ตลาดซื้อขายต้องมีไลเซนส์ ขณะเดียวกันก็กำหนดเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติรวมทั้งระบบการยืนยันตัวตน (KYC) ลูกค้าที่จะมาซื้อขาย ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็ขอให้ต้องบอกได้ว่าเอาเงินมาจากไหน

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การเก็บภาษีจากการระดมทุนสินทรัพย์ดิจิทัลนี้จะต่างกับเก็บภาษีจากการระดมทุนด้วยหลักทรัพย์ที่ผู้ออกเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) จะไม่ต้องเสียภาษี แต่กรณีสินทรัพย์ดิจิทัลนี้จะต้องเสียภาษีตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งภาษี VAT และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ขณะเดียวกันบุคคลธรรมดา แม้จะได้รับยกเว้นภาษี VAT แต่กรณีมีกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลและได้รับเงินปันผล ก็ต้องถูกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15% ทั้ง 2 กรณี แถมยังต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตอนปลายปีอีกด้วย

ขู่นักลงทุนหนีไปต่างประเทศ

นายพลเดช อนันชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตเวชั่น กล่าวว่า การที่รัฐออกกฎหมายควบคุมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือสร้างความชัดเจนและมาตรฐานเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งจะสร้างข้อมูลเพื่อการตัดสินใจลงทุนรวมถึงดูแลความเสี่ยงได้ดีขึ้น ทำให้นักลงทุนที่สนใจมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น ข้อเสียคือนักลงทุนอาจย้ายไปลงทุนในต่างประเทศแทนเพื่อเลี่ยงการจัดเก็บภาษีเพราะข้อมูลการเก็บภาษีที่เปิดเผยออกมานั้นน่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการซื้อขาย (เทรด) ในไทย แต่เชื่อว่านักลงทุนจะไม่ลดความสนใจการลงทุนคริปโทฯ

เช่นเดียวกับนายนเรศ เหล่าพรรณราย ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท สต็อคควอดแรนท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กฎหมายที่ภาครัฐเตรียมจะออกมากำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล หากเข้มงวดมากอาจมีผลกระทบต่อการระดมทุน ICO และคริปโทฯแน่นอน โดยผู้ประกอบการไทยอาจจะหันไปออก ICO ในต่างประเทศแทน เพราะมีหลายประเทศที่ยังไม่มีการเก็บภาษีการระดมทุนแบบ ICO เช่น สิงคโปร์และเยอรมนี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การออกไประดมทุนในต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาจมีต้นทุนที่สูงกว่าในประเทศ

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) กล่าวว่า การออกเกณฑ์กำกับเรื่องสกุลเงินดิจิทัลควรจะทำอย่างเหมาะสมและพอดี หากเกณฑ์ที่ออกมาเข้มเกินไปก็ไม่ดีต่อระบบภาพรวม เพราะอาจทำให้คนออกไปเทรดในต่างประเทศ ซึ่งการพัฒนาก็จะไหลออกไปที่ต่างประเทศเช่นกัน แต่ถ้าออกเกณฑ์หลวมเกินไปจะมีช่องโหว่ให้คนไม่ดีหาประโยชน์ได้