
ก.ล.ต.ยกเรื่องหลอกลงทุนเป็น “วาระแห่งชาติ” เปิดสายด่วน 1207 กด 22 ผนึกไลน์-เฟซบุ๊ก ปิดเพจปลอมภายใน 48 ชั่วโมง ผนึก ปปง.เอาผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน-ฟลีซบัญชีม้า ตลท.เตรียมต่อท่อ ก.ล.ต. เพื่อความสะดวกให้กับนักลงทุนรายย่อย
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งประชาชนได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการรับข้อมูลข่าวสารและการใช้งานเพื่อสื่อสาร
ขณะเดียวกันมีประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้ลงทุนผ่านรูปแบบและช่องทางใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ก.ล.ต. พบว่าแนวโน้มของการหลอกลงทุนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยมิจฉาชีพมักใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการหลอกลวงประชาชนด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีอยู่จริง ล่อลวงด้วยการเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริง หรือการแอบอ้างใช้ภาพ และชื่อ ของผู้บริหารของหน่วยงานในตลาดทุนมาชักชวนให้ลงทุน เป็นต้น
สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้เปิดให้มีช่องทาง “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” เพื่อให้เป็นช่องทางในการรับแจ้งเบาะแสการหลอกลงทุนโดยตรง โทร. 1207 กด 22 หรือแจ้งผ่านระบบรับแจ้งบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th/scamalert) หรืออีเมล์ [email protected]
โดย ก.ล.ต. จะเร่งดำเนินการตรวจสอบเบาะแสที่ได้รับและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปิดกั้นเนื้อหาหรือช่องทางการหลอกลงทุน โดยจะประสานกับ Meta (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram รวมทั้งประสาน LINE (ประเทศไทย) เพื่อปิดกั้นช่องทางของมิจฉาชีพในแพลตฟอร์มดังกล่าว หรือปิดเพลปลอมโดยเร็วภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นกับประชาชน
ทั้งนี้การเปิดช่องทาง “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” ก.ล.ต. ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตร ภายใต้โครงการร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
ซึ่งมีจุดประสงค์ในการประสานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อต่อต้านมิจฉาชีพ ผ่านการจัดทำและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์เตือนภัยหลอกลงทุนในช่องทางต่าง ๆ ของ ก.ล.ต. และสื่อมวลชน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนช่วยประชาสัมพันธ์เตือนภัยด้วยดี
ก.ล.ต. ยกเรื่องหลอกลงทุน “วาระแห่งชาติ”
สำนักงาน ก.ล.ต. ตั้งใจยกเรื่องการหลอกลงทุนเป็น “วาระแห่งชาติ” เพราะต้องการให้ตลาดทุนไทยเป็นช่องทางในเรื่องการออมเงินและลงทุนระยะยาว เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตอยู่ดีกินดี (well-being)
อย่างไรก็ตาม การฉ้อฉลและการหลอกลวงเป็นปัจจัยคุกคามที่ทำให้การดำเนินการด้านอื่น ๆ พบกับอุปสรรค จึงได้ร่วมมือภาคีพันธมิตรในตลาดทุน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ที่ได้บุกเบิกเปิดตัวศูนย์ Anti Online Scam Operation Center หรือศูนย์ AOC 1441 ซึ่งจะเป็น One Stop Service ที่จะดูแลภาคประชาชน
โดยสถิติการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ตุลาคม 2566 ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเพื่อเป็นการป้องปรามอย่างต่อเนื่องดังนี้
1.ขึ้นเตือนบนหน้าเว็บไซต์ ก.ล.ต. ในหัวข้อ Investor Alert เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อ จำนวน 265 ราย
2.ประสานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อออกข่าวแจ้งเตือนประชาชน จำนวน 90 กรณี
3.ด้านการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการหลอกลงทุนที่แอบอ้างชื่อ/โลโก้ หรือภาพผู้บริหารของ ก.ล.ต. มีจำนวน 10 กรณี
4.การดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายภายใต้ พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 กรณีอ้างผลตอบแทนสูง จำนวน 163 ราย
5.ดำเนินการส่งเรื่องให้กระทรวงดิจิทัลฯ พิจารณาดำเนินการ จำนวน 85 กรณี
“ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ให้ความสำคัญโดยมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และติดตั้งแอปพลิเคชัน SEC Check First เพื่อป้องกันความเสียหายจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในการหลอกลวงลงทุนในตลาดทุน และเมื่อทำผิดตามกฎหมายก็จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานอื่นตามบริบทกฎหมายเพื่อดำเนินการต่อไป”
ฟลีซบัญชีม้า
ขณะเดียวกันกรณีที่มีบัญชีม้าเกี่ยวข้อง จะมีศูนย์ AOC 1441 ที่จะต่อท่อไป เพื่อฟลีซบัญชีม้าได้อย่างน้อย 2 วัน ดังนั้นเมื่อกระบวนการครบลูปเชื่อว่ามิจฉาชีพที่ตั้งใจหลอกลวงจะมีอุปสรรคมากขึ้น และจะเป็นการป้องปรามและทอนความเสียหายได้
หลอกลงทุน ผิดกฎหมายฉ้อโกง
นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า การหลอกให้ลงทุนทางสื่อออนไลน์หรือในตลาดทุน จะเป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ผิด พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน
โดยในการต่อยอดดำเนินการมีศูนย์ AOC 1441 ที่รับแจ้ง และมีการยับยั้งบัญชีโดยหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินการกับแพลตฟอร์มหรือกลุ่มบุคคล
“ปปง.จะรับไม้ต่อไปดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน ให้ย้อนไปถึงกลุ่มกระบวนการ หรือวงจรอาชญากรรม ซึ่งจะรับลูก ก.ล.ต.ได้เร็วและทันท่วงที เมื่อประชาชนได้รับความเสียหาย กระบวนการต่อไปก็จะดำเนินการกับทรัพย์สิน หรือเยียวยาตามกฎหมายฟอกเงินต่อไป คือยึดอายัดทรัพย์มาใช้คืนให้กับผู้เสียหาย”
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า การเปิดสายด่วนแจ้งหลอกลงทุนในครั้งนี้จะช่วยสกัดกั้นการหลอกลวงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภาคธุรกิจในตลาดทุนพร้อมให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต.
โดยจะร่วมแจ้งเบาะแสทันทีเมื่อพบการแอบอ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพและลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายจากการถูกหลอกลงทุน และเชื่อว่า เบอร์ 1207 กด 22 จะเป็นเบอร์ที่จดจำได้ง่ายและคุ้นหูให้กับประชาชนได้ในอนาคตแน่นอน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในฐานะผู้ร่วมริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” กับพันธมิตร ว่า ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ และพันธมิตรได้บูรณาการความร่วมมือในหลายด้าน รวมทั้งสื่อสารเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง
การที่ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน จัดให้มีสายด่วนแจ้งหลอกลงทุนจะเป็นช่องทางให้ประชาชน ผู้ลงทุน และองค์กรต่าง ๆ ร่วมกันแจ้งเบาะแสหลอกลงทุนในตลาดทุน เพื่อตัดวงจรการหลอกลวงของมิจฉาชีพเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีเคสที่ถูกรีพอร์ต กว่า 320 เคส ซึ่งมีการดำเนินการเป็นไปตามเวลาที่ผู้ให้บริการทำได้และใช้เวลาที่นาน ทำให้เพจดังกล่าวยังถูกค้างนาน อย่างไรก็ตามในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อกับ ก.ล.ต. จากนักลงทุนรายย่อยให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น