
ดร.กอบศักดิ์ มองปัญหา “หุ้นกู้” ต้องบริหารจัดการให้ผ่าน 12 เดือนไปก่อน ชี้บริษัทใหญ่ไม่น่าห่วง-บริษัท “เล็ก-กลาง” บริหารจัดการได้ มั่นใจไม่ใช่ปัญหาเชิงระบบ ยันแบงก์พร้อมช่วยประคองลูกค้าที่ธุรกิจไปต่อได้ พร้อมมุมมองการจัดตั้ง “กองทุนพยุงหุ้นกู้” ทำได้เมื่อจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นใจ
วันที่ 10 มกราคม 2567 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ตลาดหุ้นกู้เป็นตลาดที่ไม่เล็ก แต่มีหลายองค์ประกอบ ที่สำคัญคือ บริษัทที่ออกหุ้นกู้ได้ก็มีไม่มาก ไม่ใช่ทุกบริษัทจะออกได้ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้น ผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นจึงนับตัวได้ และมองว่าหุ้นกู้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหา
ทั้งนี้ บริษัทที่ออกหุ้นกู้ก็ต้องแบ่งกลุ่มบริษัทที่มีฐานะที่ดีมาก มีระดับเครดิตเรตติ้งระดับลงทุน อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ หรืออย่าง บมจ.ปตท. ซึ่งกลุ่มนี้ตนไม่กังวล เพราะคิดว่าไปได้ สามารถดูแลตัวเองได้ ขณะที่กลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่ออกหุ้นกู้ขายให้กับนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม ขายให้กรรมการ ไม่ได้เสนอขายประชาชนเป็นการทั่วไป โดยกลุ่มนี้เคยมีปัญหาเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ช่วงโควิด-19 ซึ่งการแก้ปัญหาก็คือ ให้คุยกับเจ้าหนี้ โดยเฉพาะที่เป็นกรรมการ แล้ว Roll Over ไปสัก 2 ปี ให้ผ่านช่วงคับขันไป
“ลองคิดง่าย ๆ ว่า ถ้าเศรษฐกิจไทยปลายปีจะมีข่าวดีออกมา ในเรื่องของการลดดอกเบี้ย แล้วก็การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น เราก็มีหน้าที่พยุงทุกคนอีก 12 เดือน ให้ไปสู่โค้งที่ทุกอย่างดีขึ้น จากตอนนี้มีลมต้าน มี Head Wind แต่พอถึงปลายปีจะมีลมส่ง ทำให้เศรษฐกิจมีแรงส่ง เซนติเมนต์ต่าง ๆ จะดี ความกังวลใจจะค่อย ๆ หายไป ดังนั้น ช่วงที่เราต้องบริหารจัดการก็คือ 12 เดือน บริษัทที่ดี ๆ ก็ไม่ต้องกังวลใจ บริษัทเล็ก ๆ ที่ออกหุ้นกู้ก็ขอให้เจ้าของเขา Roll Over กันต่อไป”
ส่วนบริษัทขนาดกลาง รวมถึงบริษัทที่มีปัญหา ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นอย่าง STARK ก็เห็นแล้วว่าไม่ใช่ปัญหาเรื่องการประกอบการ แต่เป็นปัญหาในการบริหารจัดการ ขณะที่ JKN มีปัญหาสภาพคล่อง รวมถึงกรณีล่าสุด ก็เป็นกลุ่มกลาง ๆ ที่ต้องจัดการ ซึ่งตนคิดว่าเรื่องหุ้นกู้มีปัญหาที่ต้องจัดการ แต่สเกลไม่ได้ถึงขนาดที่มีการพูดกัน เพราะน่าจะบริหารจัดการได้
“แล้วถ้าเป็นบริษัทที่ออกหุ้นกู้ได้ ซึ่งเป็นลูกค้าแบงก์ แต่ตัดสินใจออกหุ้นกู้เพราะว่าต้องการจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าแบงก์ พอมีปัญหา แบงก์ก็ช่วยอยู่ดี โดยพิจารณาว่าธุรกิจเขามีโอกาสแค่ไหน มองไปข้างหน้า ถ้าคิดว่าผ่านช่วง 12 เดือนไป แล้วเขาจะค่อย ๆ ดีขึ้น เราก็พร้อมช่วยอยู่แล้ว ดังนั้น พอถึงปลายปี ค่อยมาดูกันอีกที คนที่จะมีปัญหาเรื่องหุ้นกู้ ก็จะนับตัวได้เลย ผมไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาทั้งระบบ แต่ต้องบริหารจัดการ”
ทั้งนี้ สำหรับแนวคิดการตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้นั้น ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า ตนอยากให้มองว่า หากมีความจำเป็นเมื่อใดก็สามารถทำได้ เพราะเคยทำมาแล้ว และไม่ได้ใช้เงินมากด้วย
“ผมคิดว่า ถ้าเกิดมีความกังวลใจมาก จนกระทั่งทางการคิดว่าเอาไม่อยู่ เราก็สามารถหยิบเอาทางเลือกนี้ขึ้นมาใช้ได้ แล้วเมื่อตัดสินใจเอาขึ้นมาใช้ สถานการณ์ก็จะคลี่คลาย ขอให้ทุกคนคิดอย่างนี้ คำถามที่ต้องถามจริง ๆ ก็คือ มีหุ้นกู้อะไรบ้างที่ฐานะไม่ดีจริง ๆ ผมว่านั่นคือหัวใจ เพราะว่าที่เป็นปัญหาความเชื่อมั่น ปกติก็อยากขายของดี แต่ของดีไม่ต้องขายก็ได้ สิ่งที่กลัวกันก็คือ ช่วงแพนิกจะขายกันระเนระนาด การตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อทำให้ความเชื่อมั่นอยู่ตรงนั้น แล้วคนมีจังหวะหายใจ แยกแยะของดีกับของไม่ดี”