
คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม
13 มกราคม วันเด็กแห่งชาติประจำปี 2567
“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ควบ รมว.คลัง มอบคำขวัญตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ด้วยลายมือ ความว่า มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย
ตามมาติด ๆ คำขวัญวันเด็กของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ความว่า เปลี่ยนนิสัยเดิม เริ่มนิสัยใหม่ ชีวิตออกแบบได้ สู่เป้าหมายที่เป็นของเรา
วันนี้ขออนุญาตถือวิสาสะ หยิบคำขวัญวันเด็กบางคำ มาตั้งเรียงกันใหม่บนบรรทัดเดียวกัน ประมาณว่า มองโลกกว้าง เคารพความแตกต่าง เปลี่ยนนิสัยเดิม เริ่มนิสัยใหม่ อะไรประมาณนี้
หลังจากนั้น ก็ลองคิดเล่น ๆ ต่อไปอีกว่า คำขวัญตัดต่อใหม่จะนำมาปรับใช้กับแบงก์ชาติได้รึเปล่านะ
เรื่องของเรื่อง เห็นข่าวที่ทำให้สะดุดตาสะดุดใจ ธปท.ดีเดย์ 1 มกราคม ออกเกณฑ์คุมแบงก์เข้ม 8 ด้าน หวังสกัดหนี้ครัวเรือน
สาระสำคัญ ธปท.-ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงิน เรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ต้นทางมาจากหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน โดยประวัติศาสตร์หนี้ครัวเรือนคร่าว ๆ ปี 2555 มีสัดส่วน 76% ต่อจีดีพี, ปี 2562 ยุคก่อนโควิดเพิ่มเป็น 84%, ปี 2564 ยุคโควิดเข้มข้น ขึ้นไปถึง 95% ล่าสุด ณ ไตรมาส 2/66 ลดเหลือ 91% แต่ก็ยังสูงถึงสูงมาก
แบงก์ชาติตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือนว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อควบคุมระดับหนี้ครัวเรือนไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว
สรุปว่า แบงก์ชาติออกหลักเกณฑ์ Responsible Lending 8 ด้าน ดีเดย์ของแบงก์ชาติเรื่องเกณฑ์ Responsible Lending-การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ไม่แน่ใจว่ากลายเป็นปัจจัยเสี่ยงแบบ Unknown Factor ในการทำธุรกิจหรือไม่
เพราะก่อนหน้านี้ เพิ่งจับเข่าคุยกับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับบิ๊กแบรนด์ คุยกันสัพเพเหระเกี่ยวกับเทรนด์ปี 2567 ทุกรายที่ได้พูดคุยด้วยยอมรับว่าเป็นอีกปีที่ต้องเหนื่อยกาย-เหนื่อยใจเพราะเศรษฐกิจยังอยู่ในแดนชะลอตัวต่อเนื่อง
แถมมีข้อเรียกร้องให้ผู้คุ้มกฎ ซึ่งก็คือแบงก์ชาติ และรัฐบาลพิจารณาหาทางลดดอกเบี้ยลงสัก 1-2% เพื่อเป็นการลดหนี้ทางตรงให้กับลูกหนี้
“พีระพงศ์ จรูญเอก” นายกสมาคมคอนโดฯ คอมเมนต์ได้จ๊าบที่สุด ตรงประเด็นที่สุด โดยไม่ได้รู้ตัวล่วงหน้า ว่า เทรนด์น่าหนักใจในปี 2567 เรื่องแรกเลยยังเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือน เพราะกำลังซื้อถูกกดด้วยภาระหนี้ คนอาจจะอยากได้บ้านและคอนโดมิเนียมอยู่แต่ซื้อไม่ได้ อยากเห็นหนี้ครัวเรือนกลับไปในยุคก่อนโควิดสัก 80% กลาง ๆ จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเฮลตี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
“เรื่องหนี้จะช่วยได้ต้องไปลดดอกเบี้ย ดอกเบี้ยมันไม่เฮลตี้กับการใช้ชีวิตของคนไทย นักธุรกิจ หรือเอสเอ็มอีเลย แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ มันเกินเลเวลที่ทำธุรกิจแล้วจะแข่งขันได้ เป็นภาระ อาจจะวิงวอนไปถึงแบงก์ชาติว่าเราจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยขนาดนี้เลยเหรอ เงินเฟ้อเราก็ต่ำ จีดีพีเราก็ต่ำ จริง ๆ แล้ว อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติหลายคนก็บอกมาว่าไม่แมตช์”
“ผมว่าการใช้วิชาการต่าง ๆ สุดท้ายต้องมานั่งหารือ คือเขา (แบงก์ชาติ) เป็นผู้มีอำนาจ แต่ต้องมานั่งหารือกับภาคเอกชน ต้องฟังเราด้วย คุณต้องฟังประชาชนด้วย ไม่ใช่อเมริกาบอกว่าเฟดจะขึ้น (ดอกเบี้ย) ที่ตายก็ตาย ๆ ไป เราไม่ได้แข็งแรงแบบนั้น สมมุติ บริษัทตาย หรือเอสเอ็มอีตาย ใครจะไปกู้ชีวิต ในอเมริกามีคนที่รวยเยอะ ๆ อย่างเทคคอมปะนี เขาสมดุลได้ แก้ได้ แต่ไทยไม่ใช่อย่างนั้น…”
ปัญหาหนี้ครัวเรือนเรื่องเดียวแต่มี 2 อารมณ์ อาจมีปาฏิหาริย์ถ้า (แบงก์ชาติ) มองโลกกว้าง เคารพความแตกต่าง เปลี่ยนนิสัยเดิม เริ่มนิสัยใหม่ สุขสันต์วันเด็กปี 2567 ค่ะ