CEO แบงก์ตีโจทย์ธุรกิจปี 2567 ภารกิจใหญ่ “แก้หนี้-คุมต้นทุน”

4CEO

ซีอีโอแบงก์-น็อนแบงก์จับเทรนด์ธุรกิจปี’67 ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงในและต่างประเทศ ชี้โจทย์ใหญ่ช่วยลูกค้าแก้หนี้ “ขัตติยา-KBANK” ลุยช่วยลูกค้าปรับตัวรับการแข่งขันใหม่ พร้อมดูแลคนกระเป๋าเล็ก หนุนประเทศเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อเปลี่ยนผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ “ผยง-กรุงไทย” ตั้งรับกติกาปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ชี้ต้นทุนบริการ-ต้นทุนหนี้เสียแบงก์ยังสูง “ฐากร-ทีทีบี” เร่งสร้างแพลตฟอร์มแก้หนี้มนุษย์เงินเดือน “พิทยา-KTC” ย้ำธุรกิจบัตรเครดิตยังท้าทาย โจทย์หลักคุมหนี้เสีย

KBANK โจทย์ใหญ่ช่วย “ลูกค้า”

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โจทย์หลักของธนาคารในปี 2567 คือ การช่วยเหลือลูกค้าในการปรับตัว เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะยังคงเผชิญความท้าทายรอบด้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ความตึงเครียดในอิสราเอล ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กฎระเบียบทางการค้าใหม่ ๆ

ควบคู่กับการรับมือความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่แน่นอน โครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ ความสามารถในการแข่งขัน ระดับหนี้ครัวเรือนและต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงซึ่งอาจกดดันทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา การส่งออกที่จะกลับมาขยายตัวในแดนบวก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าปี 2566 อยู่ที่ 3.1% และหากรวมมาตรการ Digital Wallet เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 3.6%

หนุนประเทศเปลี่ยนโครงสร้าง

ซีอีโอเคแบงก์กล่าวว่า ภายใต้ปัจจัยท้าทายที่หลากหลาย ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเปลี่ยนและปรับตัวเพื่อเพิ่มความพร้อมทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างสมดุลเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจและภาคธนาคารจะต้องมีโมเดลการพัฒนาที่เป็นทางเลือกใหม่ (New Business Model) ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการเงินยั่งยืน (Sustainable Finance) รวมทั้งมีความยืดหยุ่น (Resilient) สามารถรับมือกับความเสี่ยงและความท้าทายรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างเท่าทัน

“ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวในด้านต่าง ๆ อย่างสมดุล รวมถึงความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้นทุนหลักของธุรกิจไม่ใช่ต้นทุนทางการเงิน แต่จะเป็นต้นทุนด้านค่าแรงและวัตถุดิบ ส่วนต้นทุนดอกเบี้ยมีสัดส่วนเฉลี่ยเพียง 5% ดังนั้นภาคธุรกิจจะต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาทางเลือกใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการต้นทุนต่าง ๆ อีกทั้งต้องพร้อมรับมือกับมาตรการใหม่ ๆ ของทางการ ตลอดจนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มจะมีผลต่อภาคธุรกิจมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้”

ADVERTISMENT

แบงก์ตั้งรับเกณฑ์ใหม่ ธปท.

นางสาวขัตติยากล่าวอีกว่า สำหรับภาคธนาคารยังคงเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภาคธุรกิจ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ ด้วยความยืดหยุ่นพร้อมรับมือความท้าทายและด้วยโมเดลการพัฒนาที่เป็นทางเลือกใหม่ที่จะสร้างโอกาสในการเติบโต ซึ่งครอบคลุมการเข้าถึงทางการเงินอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการส่งเสริมวินัยทางการเงินที่ดี บนรากฐานของ Responsible Lending ตามแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

รวมถึงการให้บริการที่นอกเหนือจากบริการทางการเงินผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย เพื่อช่วยการปรับตัวของลูกหนี้ ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้แก่ประชาชนเพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงิน และการสร้างองค์ความรู้แก่ภาคธุรกิจเพื่อเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจไทย ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ESG การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่าน Machine Learning และ AI รวมทั้งการใช้ข้อมูลมาพัฒนาบริการที่หลากหลาย ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรในอีโคซิสเต็ม ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ADVERTISMENT

ธุรกิจใหญ่ยังแข็งแรง

สำหรับแผนการเติบโตในปี 2567 เบื้องต้นอัตราการเติบโตสินเชื่อคงใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตจีดีพี โดยมองว่าธุรกิจรายใหญ่ยังมีความแข็งแรง ธุรกิจเอสเอ็มอียังเป็นสิ่งที่ธนาคารยังคงต้องช่วยกันต่อไป ซึ่งธนาคารไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี แต่มองไปข้างหน้าอาจจะต้องเลือกเซ็กเมนต์มากขึ้น ทั้งนี้ ภาพรวมยังคงเติบโตในทุกธุรกิจ แต่อัตราการเติบโตจะแตกต่างกันไป

“เรายังคงต้องดูแลเอสเอ็มอีและคนกระเป๋าเล็ก ซึ่งปีหน้ายังอยู่ในโหมดระวัง การตั้งสำรองคงดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็คงไม่น้อยเมื่อเทียบช่วงปกติ และมองไปข้างหน้าก็ต้องช่วยลูกค้าปรับตัว โดยเราเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืนที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้ความรู้ทางการเงินลูกค้าทั้งภาคธุรกิจและลูกค้าบุคคลเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงพร้อมสร้างโอกาสใหม่ ๆ และการนำการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการ และกระบวนการเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึง และได้รับผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการมากขึ้น และครอบคลุมในหลากมิติ” นางสาวขัตติยากล่าว

ต้นทุนบริการ-หนี้เสียแบงก์ยังสูง

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) กล่าวว่า ธนาคารถือเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศ

โดยในปี 2567 นี้ยังมีเรื่องของการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบตามนโยบายของ ธปท. ซึ่งจะมีผลกระทบในประเด็นของการยกระดับการดูแลลูกค้าไม่ให้มีหนี้มากเกินไป รวมถึงมิติเรื่อง Financial Inclusion ด้วย หมายถึงการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน จึงเป็นเรื่องท้าทายของระบบธนาคารที่จะต้องหาจุดสมดุลตรงนี้ด้วย

ดังนั้นหากย้อนกลับมาดูเรื่องของต้นทุนการให้บริการทางการเงินจะยังคงสูงขึ้น ภายใต้มาตรฐาน และกฎระเบียบธรรมาภิบาลใหม่ ๆ เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อมีความเป็นธรรม และมีเสถียรภาพเชิงระบบมากขึ้น

“สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำคือ ผลประกอบการของแบงก์ปัจจุบันมีต้นทุนจากหนี้เสียสูงมาก ดังนั้นการยกระดับของธนาคารพาณิชย์กับผู้เล่นกลุ่มต่าง ๆ เช่น น็อนแบงก์ หรือรายอื่น ๆ จะต้องอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความลักลั่น Level Playing Field ได้”

ทีทีบีชูโมเดลแก้หนี้มนุษย์เงินเดือน

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โจทย์สำคัญของธนาคารพาณิชย์ในปี 2567 มองว่ายังเป็นเรื่องของการแก้หนี้ สอดคล้องกับภาพใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องการแก้หนี้ในระบบและนอกระบบ เช่นเดียวกับทีทีบีจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในการพยายามช่วยเหลือและแก้หนี้ในกลุ่มมนุษย์เงินเดือน

โดยธนาคารจะเริ่มจากการทำโมเดลที่เป็นแพลตฟอร์มแก้หนี้ภายในกลุ่มพนักงานธนาคารก่อน ซึ่งจะมีการทดสอบว่าพนักงานรายนั้น เข้าข่ายเป็นลูกหนี้สีอะไร เช่น สีเขียว เหลือง แดง และหลังจากนั้นจะมีการอบรม ซึ่งปัจจุบันแบงก์มีโค้ชอยู่ 30 คน เพื่อทำหน้าที่ให้ความรู้ทางการเงิน และวิธีการบริหารจัดการหนี้ โดยธนาคารจะมีเครื่องมือที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย เช่น สินเชื่อสวัสดิการ เป็นต้น

หลังจากนั้นธนาคารจะนำโปรแกรมดังกล่าวไปเสนอกับบริษัทที่ใช้บริการเดินบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคาร (Payroll) เพื่อนำแพลตฟอร์มนี้เสนอกับพนักงานในบริษัท ซึ่งมองว่าจะช่วยแก้หนี้ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

นายฐากรกล่าวว่า ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (DSR) ของลูกค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การปฏิเสธสินเชื่อ (Reject) เพิ่มมากขึ้น ธนาคารจึงมีแนวคิดจะตั้งทีมขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อให้เข้ามารับคำปรึกษาถึงวิธีการแก้ไข ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ แต่ไม่ได้เป็นการปล่อยสินเชื่อให้ โดยน่าจะเริ่มทำได้ในช่วงต้นปี 2567

“โจทย์ปีนี้เราจะให้ความสำคัญกับการช่วยคนไทยแก้หนี้ โดยเริ่มต้นจากลูกค้าเราก่อน รวมถึงเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก DSR สูง ซึ่งยอมรับว่าสัดส่วน DSR ที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วย แต่คงไม่ได้กระทบทุกสินเชื่อ”

KTC ธุรกิจบัตรเครดิตยังท้าทาย

ด้านนางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2567 สิ่งที่ผู้ให้บริการสินเชื่อให้ความสำคัญคงเป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยประมวลผลการพิจารณาอนุมัติและการใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) พิจารณาสินเชื่อ รวมถึงการพัฒนาช่องทางการสมัครผ่านดิจิทัลมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวก ลดระยะเวลาและขั้นตอนการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้ลดต้นทุนลงได้

สำหรับธุรกิจบัตรเครดิตยังคงเป็นปีที่ท้าทาย จากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ดีด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่เริ่มทยอยออกมา

เช่น มาตรการ Easy e-Receipt ที่ให้สิทธิผู้ซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567 สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท หรือโครงการ Digital Wallet น่าจะส่งผลเชิงบวกให้กับธุรกิจบัตรเครดิต ซึ่งเคทีซีเชื่อมั่นว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องที่ 15% จากปี 2566

ทั้งนี้ เคทีซียังเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อทั้ง 3 ธุรกิจ คือธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพราะเชื่อว่ายังมีผู้บริโภคที่ต้องการสินเชื่ออยู่อีกมาก และปี 2567 จะเป็นปีที่เคทีซีให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยกับสมาชิกบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในทุกขั้นตอน เพื่อให้สมาชิกทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านแอป “KTC Mobile” ได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย

รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆที่เพิ่มความสะดวกสบายและความมั่นใจในการใช้บัตรเครดิต เช่น บัตร “เคทีซี ดิจิทัล” ที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในการใช้จ่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และพัฒนาระบบการสมัครบัตรผ่านออนไลน์แบบ end to end การโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง รายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป รวมถึงมองหาโอกาสทางการตลาด โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ต้องการสร้างการเติบโตร่วมกัน

“เคทีซีจะเน้นการขยายฐานสมาชิกสินเชื่อส่วนบุคคลไปยังผู้ที่มีความต้องการสินเชื่อเป็นหลัก และไม่ชักจูงให้สมาชิกมีภาระหนี้ที่เกินความจำเป็น ตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของ ธปท. ทั้งนี้สิ่งที่เป็นความท้าทายและเป็นโอกาสในการทำธุรกิจของเคทีซีในปี 2567 คือ การทำให้ธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพพอร์ตที่ดี โดยการอนุมัติสินเชื่อจะเน้นคำนึงถึงการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่มีความสามารถในการชำระคืน เพื่อให้พอร์ตลูกหนี้มีคุณภาพที่ดีและสามารถสร้างรายได้จากการปล่อยสินเชื่อ”