เปิดคาถาพารวย “ออมก่อนรวยกว่า” เริ่มต้นวางแผนการเงินรับปีมังกรทอง

บทความโดย "ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" 
CEO Jitta Wealth

วันที่ 28 ธันวาคม 2566 ช่วงปลายแบบปีนี้ จะอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความสุขต้อนรับศักราชใหม่ บางคนให้โบนัสตัวเองและครอบครัวด้วยบ้านหลังใหม่ รถยนต์ป้ายแดง หรือทริปต่างประเทศสุดคูล และนี่อาจเป็นบทพิสูจน์ว่า Mission ของคุณ Complete แล้ว ส่วนใครที่ยังเดินทางไม่ถึงฝั่งฝันก็ขอเอาใจช่วยกันอีกปีนะครับ

คนที่บรรลุเป้าหมายในปีนี้ไปแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องวางแผนสำหรับชีวิตในปีหน้าและวันข้างหน้า รวมทั้งการวางแผนทางการเงิน ที่ไม่ได้หมายความแค่การมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น หรือมีประสบการณ์ใหม่ ๆ เท่านั้น แต่หมายถึงการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในระยะยาว และสร้างอิสรภาพทางการเงินให้กับตัวเองได้เร็วขึ้น ซึ่งต้องอาศัยแผนการเงินเป็นตัวช่วย

ดังนั้น การวางแผนทางการเงิน การสร้างวินัยในการออมและการลงทุน จึงควรทำให้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ทำให้เป็นเรื่องง่าย เพื่อเป็นรากฐานในการสร้างความสุขในปีใหม่นี้ วันนี้ และวันต่อ ๆ ไปของตัวคุณเองครับ

วางแผนการเงินให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน

ผมเชื่อว่าทุกคนคงมียาสามัญประจำบ้านติดไว้เป็นพื้นฐาน ในแง่สุขภาพการเงิน ‘การวางแผนทางการเงิน’ ถือเป็นเครื่องมือขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญไม่แพ้ยาสามัญประจำบ้าน ที่จะช่วยให้เราบริหารจัดการรายรับ-รายจ่ายได้อย่างราบรื่น และหากมีการวางแผนทางการเงินในระยะยาวขึ้น ก็จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเตรียมความพร้อม เพื่อนำชีวิตไปสู่ความมั่นคงทางการเงิน เพิ่มพูดความมั่งคั่ง และสร้างอิสระทางการเงินได้เร็วขึ้นนั่นเองครับ

การวางแผนทางการเงิน ควรเริ่มจากการสร้างวินัยทางการเงิน ในการใช้จ่ายและเก็บออมอย่างสมเหตุสมผล เพื่อบ่มเพาะนิสัยและพฤติกรรมดี ๆ ไปเรื่อย ๆ ให้เราสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่าย เงินออม และเงินลงทุน ได้อย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยทำงานที่ต้องเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว ก็จำเป็นต้องรู้วิธีการวางแผนจัดสรรรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่าย เมื่อมีครอบครัวก็จำเป็นต้องดูแลทั้งตัวเองและคนในครอบครัวให้มั่นคง

เพราะความรับผิดชอบและภาระทางการเงินย่อมเพิ่มขึ้นตามวัย การวางแผนทางการเงินจึงมีความสำคัญมากขึ้นตามไปนะครับ​ การวางแผนทางการเงินจึงต้องทำอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวัยเกษียณ ที่เป็นช่วงชีวิตที่เราจะมีรายได้ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายบางอย่างจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นั่นก็คือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและค่ารักษาพยาบาล ที่นับวันจะแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว และเราไม่อาจหลีกเลี่ยงมันได้เลย จริงไหมครับ

หากไม่มีการวางแผนที่ดีแล้ว ความฝันที่จะใช้ชีวิตแบบเกษียณสุขของคุณก็คงเลือนลางไปด้วย และหากถึงเวลานั้นไม่ว่ายาขนานไหนก็อาจช่วยไม่ได้แล้ว

ดังนั้นถ้าถามว่าการวางแผนทางการเงินควรเริ่มตอนไหนดี ผมตอบได้ทันทีว่า ‘ฤกษ์ดีคือเลิกรอ’ ตอนนี้แหละดีที่สุดครับ ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยประเมินความรอบรู้ทางการเงิน เพื่อทดสอบว่าคุณมีความมั่นคงทางการเงินมากน้อยแค่ไหน มีทักษะในการจัดการเงินส่วนบุคคลอย่างไร และความรู้พื้นฐานด้านการเงินเพียงพอหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการเงินทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตาม Life Cycle ของแต่ละคน

สูตรวางแผนการเงิน 5 ขั้นตอน

สำหรับมือใหม่หัดจัดสรรเงิน ผมมีขั้นตอนง่าย ๆ ในการบริหารจัดการเงินมาฝากครับ เป็นหลักทฤษฎีพื้นฐานที่จะช่วยให้คุณวางแผนทางการเงินไปได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว มีขั้นตอน 5 ข้อดังนี้

  1. ประเมินฐานะการเงิน เพราะสิ่งที่สะท้อนฐานะทางการเงินที่แท้จริงของแต่ละคนไม่ใช่สินทรัพย์ที่มีอยู่ แต่เป็นความมั่งคั่งสุทธิ โดยคำนวณได้จาก สินทรัพย์-หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ หรือพูดง่าย ๆ ว่าหลังหักค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแล้วแล้วคุณมีเงินเหลือใช้จริง ๆ เท่าไหร่

และเครื่องมือที่จะช่วยให้รู้ว่า คุณมีเงินเหลือใช้จริงๆ เท่าไหร่ในแต่ละเดือน ก็คือ การจดบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวันเพื่อจะได้รู้พฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง ตามสูตร รายรับ-เงินออม-รายจ่าย = เงินเหลือใช้/เงินขาดมือ

  1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน โดยเป้าหมายที่ดีต้องเป็นไปตามหลัก SMART ตามสูตรนี้

S: Specific ควรเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ มีความเฉพาะเจาะจงว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร

M: Measurable สามารถวัดผลเป็นตัวเลขหรือตัวเงินได้ชัดเจน เพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้า ว่าใกล้ถึงเป้าหมายมากน้อยแค่ไหนแล้ว

A: Achievable เป็นเป้าหมายที่สามารถทำสำเร็จได้ โดยรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย

R: Realistic เป็นสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง

T: Time Bound มีกรอบเวลาที่แน่ชัด ว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ และต้องใช้เวลาเท่าไหร่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้ โดยอาจแบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

  1. จัดทำแผนการเงิน ควรมีการจัดทำแผนการบริหารเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น เราจะใช้จ่ายเงินอย่างไร หารายได้เพิ่มเติมจากแหล่งไหน หรือนำไปลงทุนอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยต้องจัดสรรระยะเวลาของแผนให้สัมพันธ์กับรายได้และภาระทางการเงิน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ และไม่กดดันตัวเองจนเกินไป
  2. ดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความมุ่งมั่นและมีวินัย เพราะหากขาดการปฏิบัติที่จริงจังและต่อเนื่อง ก็ยากที่จะบรรลุเป้าหมายได้
  3. ตรวจสอบและปรับแผนตามสถานการณ์ ควรหมั่นตรวจสอบแผนอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 6 เดือนว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ หากคำตอบคือ ‘ไม่’ ก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากตัวเรา หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่ทำให้ไม่เป็นไปตามแผน แล้วปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

New Year’s Resolution

สิ้นปีแบบนี้ ผมเชื่อว่า หลายคนคงมีการตั้งเป้าหมายในชีวิตเพื่อรับปีใหม่ หรือที่เรียกว่า New Year’s Resolution ซึ่งในแต่ละปีเป้าหมายของแต่ละคนที่ตั้งไว้อาจสำเร็จหรือไม่สำเร็จบ้าง แต่อย่างน้อยการตั้งเป้าหมายก็ทำให้เรามีแรงผลักดันที่จะไปให้ถึงจุดหมาย

แน่นอนว่าเป้าหมายของแต่ละคนอาจเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน บางคนตั้งเป้าลดน้ำหนักด้วยการขยันออกกำลังกายมากขึ้น บ้างก็ตั้งใจจะเป็นคนใหม่ด้วยการเลิกนิสัยไม่ดีบางอย่าง หรือบางคนก็มี Passion อันแรงกล้าที่จะ Move On จากบางคนหรือบางเรื่องให้จงได้

และเป้าหมายด้าน ‘การเงิน’ ก็เป็นหนึ่งใน New Year’s Resolution ของหลายคนในทุก ๆ ปี เช่น อยากมีรายได้มากขึ้น อยากมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น หรืออยากลดภาระหนี้ให้น้อยลง และเมื่อ ‘เงิน’ คือปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต การวางแผนทางการเงินจึงมีความจำเป็นเท่า ๆ กับการหาเงินและการใช้เงิน บางคนมีสิ่งที่อยากได้-อยากมีมากมายในขีวิต แผนการเงินจะช่วยดึงสติ ลดความฟุ้งซ่าน ทำให้เราใช้จ่ายบนพื้นฐานของความเป็นจริงและความจำเป็น

จัดลำดับความสำคัญระหว่างความจำเป็นกับความฝัน โดยใช้กรอบเวลาเป็นตัวตั้ง เพื่อกำหนดเป้าหมายทางการเงินในระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราวางแผนทางการเงินได้ง่ายขึ้น และเดินตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระหว่างทางก็ควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มทักษะทางการเงินไปด้วย เช่น

  • เป้าหมายระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) เก็บเงินใน e-Saving รับดอกเบี้ยสูง ให้ได้ 40,000 บาท เพื่อซื้อมือถือใหม่
  • เป้าหมายระยะกลาง (1-3 ปี) ศึกษาข้อมูลการลงทุนและเพิ่มทักษะทางการเงิน ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น สร้างกำไรจากพอร์ตลงทุนให้ได้ 300,000 บาท เพื่อนำมาดาวน์คอนโดฯ
  • เป้าหมายระยะยาว (มากกว่า 3 ปี) ลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยวิธีเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar Cost Averaging : DCA เดือนละ 10,000 บาท เป้าหมายมีเงินเก็บ 10 ล้านบาทไว้ใช้หลังเกษียณ

คาถาพารวย ‘ออมก่อนรวยกว่า’

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน อาจคิดว่าการเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป แต่เคล็ดลับอย่างหนึ่งในการออมเงินให้สำเร็จก็คือ หากเริ่มออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อยและออมจนเป็นนิสัยอย่างสม่ำเสมอ เราจะสามารถไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้อย่างสบาย ๆ ด้วยจำนวนเงินออมต่อเดือนที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับการเริ่มต้นออมเมื่ออายุมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการมีเงินก้อนตอนอายุ 60 ปี ประมาณ 1.5 ล้านบาท แล้วเริ่มออมตั้งแต่เริ่มทำงานตอนอายุ 25 ปี โดยเก็บเงินทุกเดือน (สมมุติว่าได้รับผลตอบแทน 3% ต่อปี) เราจะเก็บเงินประมาณเดือนละ 2,000 บาท แต่หากเราเพิ่งมาเริ่มต้นออมเงินตอนอายุ 45 ปี เราจะต้องออมเงินถึงเดือนละประมาณ 6,500 บาท ถึงจะได้เงินเก็บในจำนวนใกล้เคียงกันเมื่อเกษียณอายุ

คนที่เลือกไปถึงเป้าหมายด้วยการแบ่งเงินออมส่วนหนึ่งไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก เช่น ตราสารหนี้ หุ้น หรือกองทุนรวม เพื่อสร้างผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยงไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในเงินฝากเพียงอย่างเดียว สัดส่วนที่เหมาะสมของเงินที่ควรแบ่งไปลงทุนนั้นจะขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ของแต่ละคนด้วย

หรือง่ายกว่านั้น คือ การลงทุนด้วยวิธี DCA โดยทยอยลงทุนเป็นประจำในจำนวนที่เท่า ๆ กันทุกเดือน โดยไม่สนใจว่าราคาสินทรัพย์ลงทุนในขณะนั้นจะเป็นเท่าไหร่ เพื่อสร้างวินัยการออม เฉลี่ยต้นทุนในการลงทุน และลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาในแต่ละช่วงเวลาได้ ยิ่งเป็นการลงทุนระยะยาวเมื่อกาลเวลาผ่านมา คุณจะต้องอัศจรรย์กับผลตอบแทนทบต้น ขณะที่เงินต้นก็เพิ่มพูนขึ้นด้วย

ผมมีตัวอย่างการลงทุนด้วยวิธี DCA ที่แสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของผลตอบแทนทบต้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งแบ่งเป็นเป็น 2 โมเดล ตามนี้ครับ

โมเดลที่ 1 : ลงทุนในดัชนี S&P 500 ระหว่างปี 2000-2021

  • ลงทุนครั้งเดียว 10,000 บาท อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 5.66% ต่อปี
  • ลงทุนแบบ DCA 10,000 บาทต่อเดือน อัตราผลตแบแทน 9.59% ต่อปี

โมเดลที่ 2 : ลงทุนในดัชนี Nasdaq ระหว่างปี 2000-2021

  • ลงทุนครั้งเดียว 10,000 บาท อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 6.49% ต่อปี
  • ลงทุนแบบ DCA 10,000 บาทต่อเดือน อัตราผลตอบแทน 13.14% ต่อปี

มือใหม่หัดออม-เริ่มต้นลงทุน

หากคุณเป็น First Jobber ที่เข้าสู่สถานะ ‘ผู้มีเงินได้’ อย่างเป็นทางการ และเริ่มสนใจการเก็บออม โดยพื้นฐานแล้วมีเครื่องมือในการเก็บเงิน 2 รูปแบบคือ การฝากเงินและการลงทุน ซึ่งทุกคนคงคุ้นเคยการฝากเงินกับธนาคารเป็นอย่างดี และหลายคนก็ถูกปลูกฝังการออมมาตั้งแต่เด็ก แต่ที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือ บัญชีเงินฝากมีให้เลือกมากมายหลายประเภท ไม่ได้มีแค่เงินฝากออมทรัพย์ที่ดอกเบี้ยต่ำเท่านั้น เช่น เงินฝากขั้นบันได เงินฝากปลอดภาษี หรือเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ

ส่วนการลทุน ซึ่งในที่นี้จะพูดถึงการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หุ้นกู้ หรือกองทุนรวม ซึ่งการเลือกลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน ทั้งจำนวนเงินในการลงทุน ระยะเวลาลงทุน อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ ที่สำคัญระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลในการลงทุนอย่างรอบคอบ จริงจัง และเพียงพอก่อนตัดสินใจลงทุน

แต่หากคุณไม่มีเวลาเพียงพอ ไม่มีเงินก้อนใหญ่พอ หรือไม่มีวินัยทางการเงินมากพอ การให้มืออาชีพอย่างผู้จัดการกองทุนช่วยดูแลพอร์ตลงทุนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี หรือล้ำไปกว่านั้นคือการใช้แพลตฟอร์มในการบริหารเงินออมเงินลงทุน ถือเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ลงทุนยุคดิจิทัล ซึ่งทุกวันนี้มีแพลตฟอร์มบริหารเงินให้เลือกในหลากหลายรูปแบบ ที่สามารถช่วยบริหารจัดการเงินได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การใช้จ่าย การเก็บออม ไปจนถึงการลงทุน

แถมยังมีฟีเจอร์ล้ำ ๆ ให้เรากำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง เช่น ในแต่ละเดือนอยากออมเท่าไหร่ โอนไปเป็นเงินลงทุนเท่าไหร่ หรือบางฟีเจอร์สก็สามารถกำหนดได้ว่า ถ้าเราใช้เงินไป xxx บาทต่อเดือน จะต้องออมให้ได้ xx บาทในแต่ละเดือนด้วย ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของคนใหม่ได้อย่างแท้จริง และช่วยสร้างวินัยทางการเงินให้เพิ่มขึ้นด้วย

‘เงินเก็บนั้นจำเป็น แต่.. ชาเย็นก็สำคัญ’

คำคมสะท้อนแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิต การใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการ ณ ตอนนี้ มากกว่าการเก็บออมไว้ใช้ในวันข้างหน้า

แผนการเงินสำหรับคนรุ่นใหม่จึงควรอยู่บน Mindset ของการใช้จ่ายควรควบคู่ไปกับการเก็บออมและลงทุน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน และเพิ่มความมั่งคั่งในอนาคต

ดังนั้นหากจะหาแพลตฟอร์มการบริหารเงินดี ๆ มาใช้ ก็ต้องเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถบาลานซ์ความต้องการในปัจจุบัน และความจำเป็นในอนาคตให้ได้อย่างเหมาะสมด้วย และนี่อาจจะเป็นตัวช่วยที่เข้ามาเติมเต็มเส้นทางการเงิน และนำคุณไปสู่ถนนสาย ‘อิสรภาพ.. ทางการเงิน’ ได้ง่ายขึ้น ราบรื่นขึ้น และเร็วขึ้นด้วย

หวังว่าทุกคนจะมีความสุขกับการใช้เงิน ออมเงิน และลงทุนในปีใหม่นี้.. สวัสดีปีมังกรทองครับ