ดร.นิเวศน์-ไพบูลย์ ถอดรหัสตลาดหุ้นไทยปีมังกร-ลุ้นฟันด์โฟลว์ไหลกลับ

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร-ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร-ไพบูลย์ นลินทรางกูร

กูรู “ไพบูลย์-ดร.นิเวศน์” ฉายภาพตลาดหุ้นไทยปีมังกร หลังปี’66 ติดลบ 17% เกือบแย่สุดในโลก ลุ้นปี’67 พลิกฟื้นรับเศรษฐกิจโต 3-3.5% สภาพคล่องโลกปรับตัวดีขึ้นตามเทรนด์ดอกเบี้ยเฟดขาลง ลุ้นกำไร บจ.โตกว่า 10% ชี้นโยบายปัดกวาด “โปรแกรมเทรด” ทำร้ายตลาดช่วยฟื้นเชื่อมั่น หวังดึงฟันด์โฟลว์ไหลกลับดันดัชนี SET แตะ 1,600 จุด ตลท.เผยหุ้น IPO เข้าคิวเพียบรอภาวะตลาดเอื้อ

หุ้นไทยเกือบแย่สุดในโลก

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จํากัด ในฐานะกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2566 เป็นปีปรับฐานของตลาดหุ้นไทย เพราะดัชนี SET Index ติดลบไป 17% ผลตอบแทนเกือบจะแย่ที่สุดในโลก ขณะที่ดัชนี MSCI World โตขึ้นเฉลี่ย 20% ดังนั้นถือว่าตลาดหุ้นไทย Underperform หุ้นโลกเกือบ 40%

เป็นเพราะปี 2566 ภาพเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้เมื่อตอนต้นปี ส่วนหนึ่งมาจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า อีกส่วนจากเศรษฐกิจจีนไม่ได้ฟื้นตัวเหมือนที่คาด และนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาไทยต่ำกว่าเป้าหมาย รวมทั้งเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากการทุจริต ตกแต่งบัญชี และข่าวลือการทำ Naked Short Selling เป็นต้น

และสิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ ยังไม่มีพ.ร.บ.งบประมาณประจำปีที่จะนำออกมากระตุ้นใช้จ่าย จึงเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าเป้า และกดดันทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) พลาดเป้าไปด้วย

ปี’67 เศรษฐกิจโต 3-3.5%

นายไพบูลย์กล่าวว่า ถ้ามองในปี 2567 ภาพเศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัว เพราะรัฐบาลเข้ามาทำงานกว่า 3 เดือนแล้ว ซึ่งพยายามออกมาตรการลดค่าครองชีพ แก้ปัญหาหนี้ และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งในปี 2567 จะมีมาตรการตามออกมาอีกเรื่อย ๆ ฉะนั้นคาดว่าภาพเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเกิน 3% หรือเฉลี่ย 3-3.5% (ยังไม่รวมมาตรการดิจิทัลวอลเลต) ซึ่งเป็นโมเมนตัมที่สูงขึ้นจากปี 2566 ที่คาด GDP โตประมาณ 2.5%

ประกอบกับความชัดเจนเรื่องนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะลดดอกเบี้ยในกลางปี 2567 สอดคล้องกับยุโรปและหลาย ๆ ธนาคารกลางทั่วโลกซึ่งจะทำให้สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกปรับตัวดีขึ้น และอาจนำไปสู่เศรษฐกิจโลกเริ่มนิ่ง จากปี 2566 อยู่ในช่วงขาลง ซึ่งจะทำให้การส่งออกดีขึ้น และการท่องเที่ยวยังเติบโตดีอยู่

ลุ้นฟันด์โฟลว์ไหลกลับ

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ตลาดหุ้นไทยจะรับผลพลอยได้จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และคาดการณ์กำไร บจ.ปี 2567 จะเติบโตกว่า 10% เป้าดัชนี SET Index อยู่ที่ 1,600 จุด ซึ่งเชื่อว่าทิศทางฟันด์โฟลว์มีโอกาสไหลกลับเข้ามา จากปี 2566 ไหลออกไปเกือบ 2 แสนล้านบาท

เพราะเม็ดเงินที่เคยไปทำกำไรตลาดหุ้นไหนมาก ๆ ก็มักจะหาตลาดหุ้นอื่น ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาเป็นที่สนใจ

“ความเสี่ยงที่อาจทำให้ฟันด์โฟลว์ไม่กลับมาคือ เศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปตามคาด มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลแถลงไม่ออกมา ซึ่งความเป็นไปได้มีน้อย เพราะมีงบประมาณประจำปีแล้ว น่าจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่ หรือถ้าทิศทางดอกเบี้ยเฟดไม่กลับสู่ขาลงอย่างที่คาดไว้ เงินเฟ้อเอาไม่อยู่ สหรัฐอเมริกาเกิด Hard Landing ปัจจัยนี้ก็อาจทำให้เงินส่วนหนึ่งยังกังวลอยู่”

ปัดกวาด “โปรแกรมเทรด”

นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการกำกับดูแลระบบโปรแกรมเทรดดิ้ง (Program Trading) อยากให้ทางการจัดการโปรแกรมประเภทเข้ามาดันหุ้นหรือทำร้ายหุ้น เอาเปรียบนักลงทุนที่มาลากขึ้นลากลง อีกประเภทคือ พวกสร้างปริมาณซื้อขายเทียม เช่น โปรแกรมที่เขียนมาเพื่อยิงออร์เดอร์หลอก ซึ่งจริง ๆ ไม่ให้ทำอยู่แล้ว แต่ถ้ามีต้องจัดการ

และต้องแยก 3 โปรแกรมเทรดที่ไม่ได้ทำร้ายตลาด ประกอบด้วย 1.Execution Strategy ซึ่งส่วนใหญ่ 90% ใช้โปรแกรมประเภทนี้ซื้อขายหุ้น เพราะปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติและสถาบันซื้อหุ้นปริมาณมาก ๆ ต้องทำให้ได้ราคาเฉลี่ยที่อยู่ในเป้าหมายที่ต้องการในวันนั้น ซึ่งในอดีตใช้คน แต่วันนี้แค่ใส่ข้อมูลในโปรแกรมให้ซื้อขายหุ้นแทน

2.Market Making Strategy เพื่อทำให้ Spread ระหว่าง Bid กับ Offer แคบลง ซึ่งทำให้ตลาดมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และลดต้นทุนในการเทรดด้วยคน และ 3.Arbitrage การหากำไรระหว่างตลาด TFEX และ SET

“ฉะนั้นโปรแกรมเทรดดิ้งจะยกเลิกทั้งหมดไม่ได้ เพราะเป็นเหมือนทุกอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมาทดแทนคน”

ผิดนัดหุ้นกู้ไม่สะเทือนระบบ

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ส่วนความกังวลการผิดนัดชำระหนี้ตลาดหุ้นกู้ ซึ่งในปี 2567 จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดทั้งสิ้น 8.9 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นกลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) จึงไม่ค่อยน่าห่วง แต่ที่ต้องจับตามองคือ กลุ่มไฮยีลด์ (หุ้นกู้เสี่ยงสูง) ที่จะครบกำหนดประมาณ 1 แสนล้านบาท

แต่จะไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเกิดปัญหา เป็นเรื่องของตัวบริษัทเท่านั้น ฉะนั้นมองว่าไม่ถึงขั้นกระทบกระเทือนระบบให้ไปต่อไม่ได้ จึงไม่เชื่อว่าจะเป็นวิกฤตตลาดหุ้นกู้ เพราะส่วนใหญ่ยังสามารถโรลโอเวอร์และออกหุ้นกู้ใหม่ได้

ดร.นิเวศน์ปีแห่งการ “ฟื้นฟู”

ขณะที่ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นักลงทุนรายใหญ่ ต้นแบบนักลงทุนสายเน้นคุณค่า (VI) มองว่า ปี 2567 จะเป็นปีแห่งการฟื้นฟูของภาคเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าตัวเลข GDP จะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2566 ที่ตกต่ำหนักเหลือโตแค่ 2% ซึ่งจะได้แรงหนุนจาก 4 ปัจจัยสำคัญคือ

1.การท่องเที่ยวค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 3.การส่งออก ที่คาดว่าในกรณีเลวร้ายสุดจะแค่ทรง ๆ ตัว ซึ่งถือว่าไม่ได้แย่ และ 4.ดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ขาลง คาดว่าปี 2567 จะเห็นทิศทางดอกเบี้ยลดลงตามต่างประเทศ ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่มีเหตุผลที่จะต้องคงดอกเบี้ยสูง เพราะเงินเฟ้อไทยต่ำ

“ต้องยอมรับว่าหลังจากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เห็นชัดว่ารัฐบาลชุดนี้มุ่งเน้นด้านธุรกิจและเศรษฐกิจค่อนข้างจะคึกคัก และนายกรัฐมนตรีที่วางตัวเป็นเซลส์แมน ออกไปนำเสนอประเทศไทยให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งช่วยเรื่องความมั่นใจได้มากขึ้น อย่างน้อย ๆ ก็เป็นการช่วยเรื่องความมั่นใจ ให้กับคนที่สนใจเห็นว่าประเทศไทยเป็นทางเลือกในการลงทุน ซึ่งมองว่าช่วยฟื้นฟูภาพของเราที่ไม่มีใครคุยด้วยในอดีต”

ตลาดหุ้นไทยปีแห่งการ “ฟื้นตัว”

ดร.นิเวศน์เล่าต่อว่า สำหรับภาพตลาดหุ้นไทยปี 2567 เชื่อว่าจะเป็นปีแห่งการ “ฟื้นตัว” ด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และเรื่องทิศทางดอกเบี้ยจะสนับสนุนให้ดัชนี SET Index ฟื้นตัวดีขึ้นได้ และเนื่องด้วยปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยแย่เกือบจะที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ในทางเทคนิคแล้ว ตลาดหุ้นมักจะไม่ติดลบหนัก ๆ ติดต่อกัน 2 ปี ซึ่งสถิติส่วนใหญ่ก็มักจะปรับตัวขึ้นได้ ถ้าให้คาดการณ์ดัชนี คงพอไปได้ในระดับ 1,530 จุด

ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เชื่อว่าจะกลับไปยืนที่ระดับ 1 ล้านล้านบาทได้ ถ้าเศรษฐกิจไทยเป็นไปตามที่คาดการณ์ ส่วนเรื่องเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนี SET Index อย่างมาก เพราะปีที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 2 แสนล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าพอขายไปถึงจุดหนึ่งก็น่าจะพอ ขณะที่ยังมีกองทุนทั่วโลกที่กระจายความเสี่ยงการลงทุน ซึ่งยังมี Exposure ในตลาดหุ้นไทย และตอนนี้ถือว่าราคาหุ้นไทยไม่แพง นอกจากนี้เชื่อว่ายังพอมีแรงซื้อจากนักลงทุนไทยอยู่

ไอพีโอบริษัทใหญ่เข้าคิวเทรด

ด้านนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางการระดมทุนขายหุ้นไอพีโอปี 2567 ค่อนข้างคึกคัก เพราะดีลในไปป์ไลน์ที่สนใจ และยื่นไฟลิ่งค้างอยู่ มีทั้งได้รับอนุญาตแบบคำขอให้เสนอขายหุ้นแล้ว รอจังหวะ หรือทยอยยื่นเข้ามาแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตแบบคำขอก็มีอยู่จำนวนมาก

โดยปี 2566 มีไอพีโอกว่า 40 บริษัท เพียงแต่หุ้นไอพีโออาจจะโดนผลกระทบจากสภาวะตลาดหุ้นไทยที่แย่มาก แต่เชื่อว่าปี 2567 สภาวะตลาดจะดูดีขึ้นตามภาพเศรษฐกิจไทย ประกอบกับความกังวลเงินเฟ้อและดอกเบี้ยลดลงไปมาก

ทั้งนี้ต้องติดตามบริษัทใหญ่ที่เลื่อนระดมทุนว่าจะเข้าไอพีโอในปี 2567 หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญคือ 1.ความพร้อมข้อมูลของบริษัท 2.ความต้องการใช้เงิน ซึ่งต้องสอดคล้องกับเทรนด์อุตสาหกรรม และ 3.สภาวะตลาด ซึ่งเชื่อว่าตลาดหุ้นทั่วโลกน่าจะอยู่ในเซนติเมนต์ที่ดีขึ้น แต่ไม่ถึงกับพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หุ้นใหญ่ที่คาดไอพีโอปี 2567 คือ 1.เอสซีจี เคมีคอลส์ (SCGC) 2.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) และ 3.ธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) ธุรกิจตระกูลไชยวรรณ ซึ่งเป็นหุ้นธนาคารที่เข้าตลาดหุ้นไทยในรอบ 10 ปี ส่วนบริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส ตามแผนจะยื่นไฟลิ่งใหม่ในปี 2567 และคาดว่าจะนำบริษัทไอพีโอช่วงปี 2568