รอยัล ภูเก็ต มารีน่า ยกระดับ “มารีน่า” สู่ไลฟ์สไตล์เดสติเนชั่น

GuluLawani
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ราว 20 ปีที่ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” หรือ RPM โครงการมิกซ์ยูส (Mixed-use) หรูในภูเก็ต เข้าลงทุนในธุรกิจท่าจอดเรือยอชต์ หรือมารีน่า รวมถึงโครงการที่อยู่อาศัย รีเทล ร้านอาหาร ผับ-บาร์ และสำนักงานให้เช่า

โดยเมื่อ 8-9 ปีก่อน “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ได้ประกาศแผนลงทุนมากถึง 5,000 ล้านบาท (5 ปี) ในหลากหลายธุรกิจ ทั้งโรงแรม เรสซิเดนซ์หรู พร้อมเติมแม็กเนตในส่วนของร้านอาหาร และไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ เพื่อทำให้โครงการแห่งนี้กลายเป็น “ไลฟ์สไตล์เดสติเนชั่น” แห่งใหม่ของภูเก็ตและของเอเชีย แต่ด้วยวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นทำให้ต้องหยุดเพื่อทบทวนแผนการลงทุนใหม่อีกครั้ง

ผู้บุกเบิก “ลักเซอรี่มารีน่า”

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ “กูลู ลาวานี” ประธานบริหาร รอยัล ภูเก็ต มารีน่า ถึงการสานต่อแผนพัฒนาโครงการรอยัล ภูเก็ต มารีน่า อีกครั้ง หลังสถานการณ์การท่องเที่ยวทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกลับคืนสู่ภาวะปกติ ไว้ดังนี้

“ลาวานี” บอกว่า โครงการ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” มีพื้นที่รวม 185 ไร่ โดยในเฟสแรกลงทุนเฉพาะมารีน่า หรือที่จอดเรือยอชต์ เพราะเป็นคนที่ชื่นชอบการล่องเรือ และเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเรื่องลดภาษีนำเข้าเรือยอชต์ให้เหลือศูนย์ ในช่วงประมาณปี 2004 หรือปี พ.ศ. 2547 เพื่อยกระดับประเทศให้เป็น “ยอชต์เดสติเนชั่น”

และเป็น “สวรรค์” ของนักล่องเรือ หรือ Riviera Asia ซึ่งที่ผ่านมาเอเชียถือเป็นภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจการท่องเที่ยวโดยเรือยอชต์ ขณะที่คนไทยก็มีแนวโน้มนำเข้าเรือยอชต์เพิ่มมากขึ้น

Advertisment

“เราเห็นเทรนด์ของการนำเข้าและการถือครองเรือยอชต์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มคนไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราจึงทุ่มพัฒนามารีน่ารองรับ ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับดีมาก มีอัตราการจองที่จอดเต็มทั้ง 250 ที่จอด ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะค่าบริการของเราค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับมารีน่าในสิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งปัจจุบันภูเก็ตมีผู้ให้บริการมารีน่ารวมถึง 6 แห่ง”

มารีน่า

หลังจากนั้นก็มีการลงทุนเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิลล่า พูลวิลล่า (มีที่จอดเรือใต้ถุนบ้าน) เรสซิเดนซ์ ร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ทุกธุรกิจจะเน้นความเป็นลักเซอรี่ทั้งหมด เช่น พูลวิลล่า ราคาเริ่มต้นที่ 165 ล้านบาท คอนโดมิเนียม มีพื้นที่ตั้งแต่ 154 ตารางเมตรขึ้นไป ราคาเริ่มต้นที่ 13.5 ล้านบาท เป็นต้น

โดยย้ำว่า การลงทุนและพัฒนาธุรกิจของ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” นั้นเกิดขึ้นจากความรักและมาจาก Passion ล้วน ๆ

Advertisment

ลงทุนไปแล้วกว่า 2 พันล้าน

ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ถูกพัฒนาไปแล้วเพียงแค่ประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณ 35% ของพื้นที่ทั้งหมด ประกอบด้วย ที่จอดเรือยอชต์ที่รองรับได้ถึง 250 ลำ พูลวิลล่า 6 หลัง (สามารถจอดเรือส่วนตัวได้) อพาร์ตเมนต์ เรสซิเดนซ์ เพนต์เฮาส์ ฯลฯ รวมถึงพื้นที่ให้เช่าสำหรับสำนักงาน ร้านค้า ฯลฯ

รวมมูลค่าที่ลงทุนไปแล้วประมาณ 60 ล้านเหรียญ หรือกว่า 2,000 ล้านบาท ไม่รวมที่ดินที่ประเมินมูลค่าไว้ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,400 ล้านบาท

และด้วยทำเลที่ตั้งของโครงการถูกล้อมรอบด้วยเกาะกว่า 32 แห่ง สถานที่แห่งนี้จึงเหมือนฮับของการท่องเที่ยวทางน้ำของภูเก็ต ปัจจุบันมีบริษัทให้บริการเรือนำเที่ยวและ Yacht Charter รวมถึงบริษัททัวร์มาเช่าพื้นที่ให้บริการภายในโครงการด้วย

ทำให้ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ในวันนี้ นอกจากจะเป็นมารีน่ารองรับการจอดเรือและการท่องเที่ยวโดยเรือยอชต์ไปตามเกาะต่าง ๆ ของภูเก็ต และพังงาแล้วยังเป็นศูนย์รวมบริการที่เป็นลักเซอรี่ในส่วนของที่พักอาศัย ทั้งวิลล่า พูลวิลล่า เรสซิเดนซ์ ฯลฯ

ลงทุน รร.-พูลวิลล่า 1.5 พันล้าน

“ลาวานี” บอกด้วยว่า ตอนนี้สถานการณ์ของการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยนิ่งและเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ โดยจากข้อมูลของท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต พบว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าภูเก็ตแล้ว 1,036,667 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า 27%

และพบว่าในจำนวนนี้เดินทางมายัง “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ประมาณ 10% หรือประมาณ 1,800-2,000 คนต่อวัน แบ่งเป็น ชาวต่างชาติประมาณ 98% ซึ่งมีตลาดรัสเซียมากที่สุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา และจีน ส่วนอีก 2% ที่เหลือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย

ขณะเดียวกันก็พบอีกว่ามีบริษัทพัฒนาอสังริมทรัพย์รายใหญ่ ทั้งจากส่วนกลางคือกรุงเทพฯ และทุนใหญ่ในพื้นที่เริ่มขยับตัวลงทุนในโครงการใหม่ ๆ อย่างคึกคัก ตนจึงนำแผนลงทุนที่เคยประกาศไปเมื่อหลายปีก่อนกลับมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากที่ดินของโครงการยังเหลือสำหรับการพัฒนาเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก

โดยทำการปรับแผนใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ และพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตโควิดล่าสุดมีแผนพัฒนาในส่วนของธุรกิจโรงแรมและวิลล่า รวมมูลค่าลงทุน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท

มารีน่า

การลงทุนครั้งใหม่นี้นับเป็นการลงทุนเฟส 5 ของโครงการ ประกอบด้วย ลักเซอรี่ โฮเทล ลักเซอรี่ อพาร์ตเมนต์ และลักเซอรี่ พูลวิลล่า โดยในส่วนของโรงแรมจะลงทุนโรงแรมระดับ 5 ดาว จำนวน 2 แห่ง รวมประมาณ 300-400 ห้อง บนพื้นที่ 17.7 ไร่ แต่ละแห่งจะมีความโดดเด่นด้านคอนเซ็ปต์ การดีไซน์ และกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

ส่วนอพาร์ตเมนต์ มีจำนวน 80-81 ห้อง พูลวิลล่า (มีที่จอดเรือส่วนตัว) จำนวน 42 หลัง และเพนต์เฮาส์ 2 ห้อง โดยจะก่อสร้างบนพื้นที่ 18.3 ไร่ เชื่อมต่อกับโครงการเดิม

ปัจจุบันทั้ง 2 โครงการดังกล่าวออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการขออนุญาต EIA ซึ่งคาดว่าจะประกาศเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2567 นี้ จากนั้นจะใช้เวลาสำหรับการก่อสร้างราว 2 ปี ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงประมาณปลายปี 2569

“จากการสำรวจข้อมูลเราพบว่าสิ่งที่ภูเก็ตขาดคือ วิลล่า พูลวิลล่า และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในระดับลักเซอรี่ที่เป็นนิชมาร์เก็ต รองรับทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ”

เติมแม็กเนต “ไลฟ์สไตล์”

สำหรับสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันคือ การเติมแม็กเนตใหม่เพื่อช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยดึงท็อปดีไซเนอร์มาร่วมออกแบบ และเนรมิตทางเข้าออกโครงการใหม่ให้มีความเป็นไทยสมัยใหม่ มีลานจัดกิจกรรม และเพิ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็น 29-30 ยูนิต บริเวณรอบพื้นที่บอร์ดวอล์ก โดยคัดร้านอาหารที่ขึ้นชื่อของจังหวัดภูเก็ตมารวมไว้ในที่แห่งนี้ จากเดิมที่มีอยู่เพียงแค่ 2-3 ยูนิต ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในช่วงต้นปีหน้า

โดยเป้าหมายของการลงทุนในเฟส 5 นี้คือ การทำให้โครงการ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” แห่งนี้เป็น “ไลฟ์สไตล์เดสติเนชั่น” และเป็นฮับในการ Check-in Point แห่งใหม่ของภูเก็ต

“ลาวานี” ทิ้งท้ายว่า แผนการลงทุนใหม่ทั้งหมดนี้จะเปิดตัวและให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2567 นี้

ปักหมุด “ท่าจอดเรือ” ปลอดคาร์บอนแห่งแรกในเอเชีย

โครงการ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ตั้งอยู่บนชายฝั่งด้านตะวันออกของจังหวัดภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับคนที่แสวงหาความหรูหรา การผจญภัย และความยั่งยืน ทั้งกลุ่มที่เป็นเจ้าของเรือยอชต์และผู้ที่ชื่นชอบกีฬาทางน้ำ

เป็นโครงการมิกซ์ยูสที่ให้ความสำคัญกับความเป็นเลิศในการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก สุขภาพ ความปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

และถือว่าเป็นหนึ่งใน “เดสติเนชั่น” หลักที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต

ที่สำคัญ “ภูเก็ต” ยังเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวทั้งระยะสั้น เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และระยาวอย่างรัสเซีย เยอรมนี อเมริกา ฯลฯ เดินทางกเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง

ล่าสุด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ได้ประกาศตัวในฐานะท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกของเอเชีย ตอกย้ำในฐานะผู้นำการพัฒนาด้านความยั่งยืน

มารีน่า

นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่มาจากความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

“กูลู ลาวานี” ประธานบริหาร รอยัล ภูเก็ต มารีน่า เล่าว่า เขาเริ่มนำพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกมาใช้ตั้งแต่ปี 2559 โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารที่จอดเรือในร่ม ซึ่งจ่ายพลังงานได้มากกว่า 40% ต่อวัน

ต่อมาได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย หรือ อบก. ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ เพื่อต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน

ขณะเดียวกันก็ยังได้ทำงานร่วมกับภายในโครงการในการลดการใช้ขวดพลาสติกในกิจกรรมการเดินเรือทุกประเภท รวมถึงการพัฒนาด้านความยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ติดตั้งจุดเติมน้ำดื่มภายในโครงการฟรี 5 จุดเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก

จัดให้มีจุดแยกขยะ มีเรือเก็บขยะในทะเลเพื่อทำความสะอาดทะลทุกวัน การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวช่วยกันลดขยะ มีการจัดการเรื่องขยะอาหารที่เป็นระบบ และตรวจวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ รวมถึงตั้งจุด Monitor คุณภาพอากาศภายในโครงการ

ขณะที่ในส่วนของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นั้นได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้วรวม 173.44 kWp และกำลังมีแผนติดตั้งขนาดประมาณ 100 kWp เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปีนี้

มารีน่า

ทั้งนี้ เพื่อช่วยยกระดับประเทศไทยในฐานะการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างมาตรฐานสำหรับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและทั่วทั้งเอเชีย

นอกจากนี้ ยังมีให้ความสำคัญกับการจ้างงานคนในพื้นที่ โดยปัจจุบันมีการจ้างงานพนักงานจากจังหวัดภูเก็ตกว่า 31%

โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เพียงแต่ชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอีกด้วย จึงมั่นใจได้ “รอยัล ภูเก็ต มารีน่า” ดำเนินงานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม และนำแนวทางปฏิบัติด้านนวัตกรรมที่ยั่งยืนและเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล

โดยมีเป้าหมายก้าวสู่ Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2568 นี้