แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้าน อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น-BBL แชมป์

จับตาผลประกอบการกลุ่มแบงก์ โบรกเกอร์ประเมินปี 2566 ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ “เอเซีย พลัส” เผย 8 แบงก์ใหญ่กำไรทะลัก 2.2 แสนล้านบาท อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้นดันส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิพุ่ง “บล.พาย” วิเคราะห์ BBL พลิกครองแชมป์กำไรมากสุด 4.2 หมื่นล้าน แซงหน้า KBANK-SCB ลุ้นปี 2567 ทำนิวไฮต่อ สินเชื่อโต 3.5% รายได้ค่าธรรมเนียม “ขายประกัน-ตลาดทุน” ฟื้นตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (BANK) ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 10 แห่ง ประกาศผลประกอบการออกมาโดยรวมมีกำไรสุทธิ 186,559 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่มีกำไรสุทธิ 163,745 ล้านบาท โดยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ทำกำไรสุทธิสูงสุดที่ 33,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.34% YOY ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ทำกำไรเพิ่มขึ้นมาก งวด 9 เดือนกำไร 32,773 ล้านบาท โตถึง 50.78% YOY

สำหรับธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง (จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ) ประกอบด้วย 1.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) 2.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 3.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) 4.ธนาคารกรุงไทย (KTB) 5.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) 6.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) 7.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) 8.ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) 9.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) และ 10.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG)

แบงก์ทำสถิติกำไรนิวไฮ

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่บริษัทครอบคลุมบทวิเคราะห์จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย BBL, KBANK, KTB, SCB, TISCO, TTB, TCAP และ KKP คาดว่าไตรมาส 4/2566 ตัวเลขกำไรสุทธิ (8 แบงก์) จะอยู่ที่ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 25-30% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) แต่ลดลง 15% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลที่ไตรมาส 4 จะมีกำไรน้อยสุด เพราะมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานสูงกว่าปกติ และกำไรแบงก์จะไปทำจุดสูงสุด (New High) อีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี

ปัจจัยหลักสนับสนุนการเติบโตของกำไรแบงก์ปี 2566 คือการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่คาดปรับตัวดีขึ้น 3.4% (เพิ่มขึ้น 46 bps) ตามการปรับดอกเบี้ยสูงขึ้นมาตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2565 จนถึงไตรมาส 4/2566

นายธนเดชกล่าวว่า แรงหนุนจาก NIM ทำให้กำไรแบงก์ปี 2566 คาดจะอยู่ที่ 202,183 ล้านบาท เติบโต 18.5% จากปีก่อนหน้า ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจธนาคาร โดยแบงก์เคยทำกำไรสูงสุดช่วงปี 2557 ที่ระดับ 1.9 แสนล้านบาท (ประเมินจากหุ้นแบงก์ 8 แห่ง)

BBL พลิกกำไรสูงสุด

นายธนเดชกล่าวว่า จากที่ประเมิน BBL คาดว่าในปี 2566 จะพลิกเป็นแบงก์ที่มีกำไรสุทธิสูงสุดอยู่ที่ 42,232 ล้านบาท เติบโต 44.1% แซงหน้า KBANK และ SCB ที่มีกำไร 41,760 ล้านบาท เติบโต 16.7% และ 40,692 ล้านบาท เติบโต 8.4% (ตามลำดับ) หลัก ๆ มาจาก BBL มีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิสูงขึ้นมากที่สุดตามการปรับขึ้นดอกเบี้ย และพอร์ตสินเชื่อโตกว่า 1%

รายได้ค่าธรรมเนียมโต 3% หากไม่กันสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น BBL จะมีกำไรโตถึง 60% ขณะที่ KBANK และ SCB โดยปกติจะพึ่งพิงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยค่อนข้างมาก ซึ่งปีที่ผ่านมาค่าธรรมเนียมจากตลาดทุนไม่ดี และมีค่าใช้จ่ายตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่สูง

เอ็นพีแอลขยับเล็กน้อย

ส่วนสินเชื่อโดยรวมถือว่าไม่โต เพราะคนไม่ใช้จ่าย เศรษฐกิจไม่ได้โตตามเป้าหมาย จึงคาดสินเชื่อโดยรวมปี 2566 จะโตได้แค่ 0.5% ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (NII) ก็ถือว่าแค่ทรงตัว ติดลบประมาณ 0.5% ถูกกดดันจากภาวะตลาดทุน โดยภาพตลาดหุ้นไทยแย่มาทั้งปี กลับมาดีแค่ช่วงไตรมาสสุดท้าย ที่ดัชนี SET Index พุ่งขึ้นมาได้ 50 จุด

ขณะที่ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) คาดอยู่ที่ 4.5 แสนล้านบาท ถือว่ายังทรง ๆ ยกเว้นเซ็กเมนต์ของพอร์ตเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลที่หนี้เสียเพิ่มขึ้น แต่พอร์ตเหล่านี้เป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ของแบงก์ในภาพรวม

ทั้งนี้ ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ การขาดทุนรถยึดจะกระทบ KKP หนักสุด เพราะมีพอร์ตมากที่สุด จึงจะทำให้ภาพกำไรออกมาแย่ที่สุดในปี 2566 โดยคาดการณ์ว่าจะมีกำไรสุทธิ 5,882 ล้านบาท ลดลง 22.6% YOY แต่ปี 2567 จะปรับตัวดีขึ้น คาดกำไรโต 6.6%

ปี’67 กำไรแบงก์โตต่อ

นายธนเดชกล่าวต่อว่า แนวโน้มกำไรแบงก์ (8 แห่ง) ในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 224,336 ล้านบาท เติบโตขึ้น 11% YOY ทำนิวไฮใหม่ แต่จะเป็นอัตราการเติบโตแผ่วลงเพราะเทรนด์ดอกเบี้ยหยุดขึ้นแล้ว คาดดอกเบี้ยจะปรับลงช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยประเมินภาพของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะเติบโต 3.6% (เพิ่มขึ้นมา 20 bps) สำหรับสินเชื่อโดยรวมปีนี้คาดจะโต 3.5% สูงกว่าตัวเลขจีดีพีที่คาดโต 3%

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมเชื่อว่าจะกลับมาดีขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ซึ่งจะช่วยหนุนให้การขายประกัน (แบงก์แอสชัวรันซ์) และภาพตลาดทุนไทยกลับมาดีขึ้น ฉะนั้น คาดรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะกลับมาเป็นบวกได้ หรือโต 3% จากปีที่แล้วติดลบ 0.5% ส่วนการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจะทรงตัวถึงปรับลดลงได้ 3%

“ประเด็นเอ็นพีแอลไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะมีมาตรการของแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ในการช่วยปรับโครงสร้างหนี้อยู่ ซึ่งช่วยควบคุมไม่ให้ไหลเป็นหนี้เสียได้ แต่ประเมินตัวเลขเอ็นพีแอลน่าจะเพิ่มขึ้นบ้าง มาอยู่ที่ 4.7 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในเซ็กเมนต์ เช่น ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และบัตรเครดิต เพราะจะมีเรื่องการชำระขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้น จากเดิม 5% เป็น 8%”

3 ตัวแปรกระทบหุ้นแบงก์

นายธนเดชกล่าวว่า กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายเรื่อง หลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าไม่มีผลกระทบต่อแบงก์ เพราะแบงก์จะไม่เร่งปล่อยสินเชื่อในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี เนื่องจากเกรงปัญหาหนี้เสีย

อย่างไรก็ดี นโยบายนี้จะดูเรื่องความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มเติม ก็อาจจะทำให้แบงก์ระวังมากขึ้น ประกอบกับตัวมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่ออกมาปลายปีที่ผ่านมา ระบุว่าก่อนที่ลูกค้าจะเป็นเอ็นพีแอล ให้สถาบันการเงินยื่นข้อเสนอในการปรับโครงสร้างหนี้ก่อน ทำให้แบงก์อาจจะเข้มในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

โดยในภาพรวมก็อาจทำให้การขยายสินเชื่อ โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยจะมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ที่เจอปัญหาการตกชั้นหนี้ การยึดรถ ซึ่งจะมีผลไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ก่อนจะเริ่มนิ่งลงในปี 2568 จึงคาดจะทำให้การเติบโตของสินเชื่อรายย่อยปีนี้โตได้ไม่มาก

“นโยบายนี้ไม่มีผลต่อแบงก์มาก แต่อาจจะมีผลกระทบเยอะต่อกลุ่มน็อนแบงก์ เพราะเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ฐานะการเงินไม่เข้มแข็งเท่าแบงก์” นายธนเดชกล่าว

นายธนเดชกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจกระทบต่อแบงก์ ต้องติดตามมีอยู่ 3 ตัวแปรคือ 1.กฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติ ว่าจะมีมาตรการอะไรที่เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ 2.ทิศทางดอกเบี้ยยังนิ่ง ๆ อยู่ ตัวแปรสำคัญคือเงินเฟ้อ ซึ่งแบงก์ชาติมองไว้ที่ระดับ 2% และ 3.นโยบายของภาครัฐหลัก ๆ คือ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งมองได้ 2 มุมคือ มุมกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกมุมคือเรื่องภาระหนี้ของประเทศที่เพิ่มขึ้น

8 แบงก์กำไรพุ่ง 2.2 แสนล้าน

สอดคล้องกับนายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางกำไรแบงก์ไตรมาส 4/2566 คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น YOY โดยเอเซีย พลัส ครอบคลุมการวิเคราะห์ 8 แบงก์ใหญ่คือ BBL, BAY, KBANK, KKP, KTB, SCB, TISCO, TTB พบว่าช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 กำไรอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท เติบโต 14% YOY ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของคาดการณ์กำไรแบงก์ทั้งปี ที่คาดจะอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท เติบโต 13% YOY

ส่วนแนวโน้มกำไรแบงก์ในปี 2567 คาดจะเติบโตราว 6% ขยับมาอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตในอัตราที่ช้าลง เนื่องจากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) แคบลงตามทิศทางดอกเบี้ยหยุดขาขึ้น และจะกลับทิศเป็นขาลงในช่วงครึ่งปีหลัง

ประกอบกับปีนี้แบงก์ชาติมุ่งเน้นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ล่าสุดออกมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เช่น ห้ามโฆษณาประเภทของมันต้องมี เพื่อลดกระตุ้นการใช้สินเชื่อเกินตัว ซึ่งโดยหลักการเป็นสิ่งที่แบงก์ส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่แล้ว รวมทั้งจะเห็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้การเติบโตของสินเชื่อในปีนี้จะไม่โดดเด่นมาก โดยเฉพาะกลุ่มรายย่อยในบางประเภท เช่น ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ เพราะมีหนี้ปัญหาเสียสูง

จึงคาดว่าแบงก์คงพยายามมุ่งกลยุทธ์ไปกลุ่มสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น และการเร่งช่วยปรับโครงสร้างหนี้ จะทำให้ช่วยชะลอการตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลได้ระดับหนึ่ง ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมคาดฟื้นตัวได้ในระดับ 5% คาดหวังรายได้ค่าฟีจากตลาดทุน ทั้งการซื้อขายหุ้นและกองทุนรวม

แนะนำกลยุทธ์ลงทุนหุ้นแบงก์

นายภาสกรกล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์การลงทุนหุ้นแบงก์ แนะนำเลือกซื้อ (Selective) เน้นหุ้นที่มีปัจจัยเฉพาะตัว จ่ายปันผลสูง เช่น TISCO ที่จ่ายปันผล 8% ต่อปี ถือว่าน่าสนใจ และ KBANK มองการบริหารจัดการเอ็นพีแอลตลอดปี 2566 ทำได้ดี ในปีนี้การกันสำรองน่าจะลดลงได้ และในเชิงของอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ซื้อขายอยู่ที่ 0.6 เท่า และคาดหวังปันผล 3-4% ต่อปี

ปีแห่งการแก้หนี้-หารายได้เพิ่ม

ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โจทย์ของระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในปี 2567 มองว่ายังคงเป็นปีแห่งการแก้หนี้ สอดคล้องกับภาพใหญ่ของประเทศที่ภาครัฐเดินหน้าในการแก้หนี้ รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือกฎกติกาของผู้กำกับดูแลในเรื่องของการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

อย่างไรก็ดี ในแง่ของภาพรวมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ยังมี Upside เนื่องจากสินเชื่อยังคงขยายตัว โดยปี 2567 จะเห็น NIM ที่แคบลงจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญปรับลดลงกว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากธนาคารยังต้องเผื่อไว้ สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังคงมีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้น แต่เป็นภาพที่ยังไม่น่ากังวล ธนาคารยังสามารถบริหารจัดการได้

สำหรับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัว โดยคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.5-3.5% ซึ่งกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ยังคงเติบโตได้ตามกิจกรรมในประเทศ ส่วนธุรกิจรายย่อยไม่ได้ปรับลดลง และอาจได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี สินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มขนาดเล็ก (SSME) ที่สายป่านสั้นอาจได้รับผลกระทบอยู่ เพราะไม่สามารถแข่งขันได้กับรายใหญ่กว่า