ธปท.ห้ามแบงก์ “แจกรางวัล-ของขวัญ” ก่อนอนุมัติสินเชื่อ ชี้กระตุ้นก่อหนี้

ธปท.

มีผลบังคับใช้แล้ว ธปท.ออกเกณฑ์ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม 8 ด้าน กำชับแบงก์ “โฆษณาต้องถูกต้องชัดเจน-ไม่กระตุ้นก่อหนี้เกินควร” สั่งห้ามส่งเสริมการขายให้รางวัล-ของขวัญก่อนการอนุมัติสินเชื่อ ชี้เป็นการเร่งรัดการตัดสินใจให้สมัครสินเชื่อ

วันที่ 4 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งหนังสือเวียนให้กับสถาบันการเงินภายใต้กำกับทุกแห่ง เรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ให้บริการมีการจัดการด้านการให้บริการอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้ผู้ให้บริการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยหลักเกณฑ์ครอบคลุม 8 ด้านสำคัญ โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

โดยหนึ่งในเกณฑ์ที่สำคัญ คือ การโฆษณา ผู้ให้บริการต้องจัดทำและควบคุมโฆษณาให้มีเนื้อหาที่ “ถูกต้องและชัดเจน” “ครบถ้วนและเปรียบเทียบเงื่อนไข อัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้” และ “ไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร” เพื่อให้ลูกค้าได้รับและเข้าใจข้อมูลที่จำเป็นจากโฆษณาอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจและส่งเสริมการมีวินัยทางการเงินที่ดี

ซึ่งในส่วนของการโฆษณา ต้อง “ไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร” ผู้ให้บริการต้องส่งเสริมการตลาดอย่างรับผิดชอบ และสนับสนุนการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีของลูกค้า โดยต้องส่งเสริมให้ลูกค้าพิจารณาถึงความจำเป็นในการก่อหนี้ และความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนส่งเสริมวินัยทางการเงินและค่านิยมในการอุปโภคบริโภคอย่างเหมาะสม รวมถึงการทำการตลาดร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจเช่น ผู้ให้บริการทำการตลาดร่วมกับร้านค้า โดยอย่างน้อยต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1.การโฆษณา การตั้งชื่อผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และการทำการตลาด ต้องไม่มีลักษณะกระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร และต้องไม่มีลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่าการให้สินเชื่อของผู้ให้บริการ ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้หรือประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นสำคัญ รวมถึงไม่มีลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่ากระบวนการอนุมัติสินเชื่อของผู้ให้บริการไม่ได้ทำอย่างรอบคอบ

2.ห้ามผู้ให้บริการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ให้รางวัลหรือของขวัญก่อนการอนุมัติสินเชื่อ โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ก่อน ซึ่งเป็นการกระตุ้นหรือเร่งรัดการตัดสินใจให้สมัครสินเชื่อ เช่น “เพียงแค่สมัคร ก็รับเลยกระเป๋าเดินทางทันที” ทั้งนี้ผู้ให้บริการต้องควบคุมพนักงานขายหรือตัวแทนขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อ รวมถึงการทำการตลาดร่วมกับ พันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ให้ดำเนินการดังกล่าวด้วย

3.ผู้ให้บริการต้องแสดงคำเตือน “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว” ในโฆษณา ของสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท เพื่อกระตุกพฤติกรรมให้มีการก่อหนี้อย่างเหมาะสม โดยขนาดตัวอักษร ต้องสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และความเร็วในการอ่านออกเสียงต้องเท่ากับเนื้อหาอื่นที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในโฆษณา
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการอาจแสดงคำเตือนหรือข้อแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้ลูกค้ามีวินัยทางการเงินที่ดี เช่น การเตือนเรื่องการจ่ายชำระหนี้คืนขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ลูกค้าต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นตลอดอายุสัญญาในจำนวนที่สูง และใช้เวลานานในการชำระคืนหนี้ทั้งหมด

ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้ให้แสดงคำเตือนตามที่กำหนด

-ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต ให้แสดงคำเตือนว่า “ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้ เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย (แสดงช่วงระหว่างอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดและอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง)

-ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่โฆษณาให้ผ่อนชำระที่อัตราดอกเบี้ย 0% ของยอดใช้จ่ายจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เช่น ผ่อนชำระสินค้าที่อัตราดอกเบี้ย 0% นาน 24 เดือน ให้แสดงคำเตือนว่า “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้ตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย (แสดงช่วงระหว่างอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดและอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง)”

ตัวอย่างโฆษณาที่มีถ้อยคำไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ สนับสนุนให้ก่อหนี้เกินควร

1.ของมันต้องมี อยากได้ต้องได้
2.ช็อปหนักแค่ไหนก็รวย เหมือนเดิม
3.รสนิยมสูงทักมา
4.มีหรือเปิดวงเงินไว้ พร้อมใช้ช็อปปิ้งได้หลาย Brand

ตัวอย่างโฆษณาแสดงให้เห็นว่าอาจไม่ได้พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้

1.ใคร ๆ ก็กู้ได้
2.ไม่ดูเครดิต ก็กู้ได้
3.ไม่เช็ก
4.ไม่เช็กบูโร
5.ไม่เช็กเครดิตบูโร

ตัวอย่างโฆษณาแสดงให้เห็นว่าการกู้เป็นเรื่องที่ไม่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการเร่งให้ก่อหนี้เกินควร

1.กู้เงินเรื่องง่าย ๆ
2.กู้ง่าย
3.อนุมัติง่าย

ตัวอย่างโฆษณาที่มีภาพไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ สนับสนุนให้ก่อหนี้เกินควร

1.ภาพนอนบนกองเงิน เงินปลิวลอยเป็นจำนวนมาก
2.ภาพจำนวนเงินที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่โฆษณา ถุงสินค้า Brand Name จำนวนมาก