แบงก์ชาติชี้ “นครสวรรค์” Transform สู่มหานครเหนือตอนล่าง

นครสวรรค์

กระแสของ 4 สายน้ำ ปิง วัง ยม น่าน บรรจบกันที่เมืองปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ กลับกลายเป็นกระแสการฟื้นความเป็นเมืองชุมทางเศรษฐกิจในรอบสองทศวรรษ ภาพจำเดิมคือเมืองแห่งเกษตรกรรมที่อิงอยู่บนฐานของข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และการประมง อัตลักษณ์วัฒนธรรมการค้าของ “เมืองมังกรปากน้ำโพ” คือ การค้าขายโดยอาศัยการเป็นศูนย์รวมด้านการขนส่งทั้งทางน้ำ-ทางบกมายาวนาน แต่วันนี้การ Transform เมืองครั้งใหม่มีปัจจัยการกระตุ้นที่น่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างถนนที่สามารถเชื่อมปีกเศรษฐกิจ ผ่านโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ที่สามารถต่อเชื่อมกับประเทศเมียนมา และเส้นทางรถไฟไปยังอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เชื่อมกับทาง สปป.ลาวในอนาคต รวมถึงการมีรถไฟความเร็วสูงขึ้นสู่ภาคเหนือ

ปรากฏการณ์ในช่วงระยะ 2 ปี (ปี 2565-2566) ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตของเมืองปากน้ำโพ จากการหลั่งไหลของกลุ่มทุนที่เข้ามาปักฐานลงทุนกันอย่างคึกคัก

ล่าสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเวทีสัมมนาวิชาการสัญจร ประจำปี 2566 “ยกระดับเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาภาคเหนือตอนล่างอย่างยั่งยืน” ที่จังหวัดนครสวรรค์ และพบปะพูดคุยกับนักธุรกิจในจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมฉายภาพให้เห็นทุกมิติ ว่าปัจจัยใดที่ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดนครสวรรค์เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ศูนย์กลาง Ld.เหนือตอนล่าง

นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เศรษฐกิจจังหวัดนครสวรรค์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือ รองจากเชียงใหม่และกำแพงเพชร ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่มากนัก เนื่องจากไม่ได้พึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวสูงเช่นจังหวัดในภาคเหนือตอนบน แต่ขับเคลื่อนด้วยภาคเกษตร 30% อุตสาหกรรม 17% ค้าส่งและค้าปลีก 14%

ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจจังหวัดนครสวรรค์และภาคเหนือตอนล่างอยู่ในทิศทางฟื้นตัว สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวได้ แม้ชะลอลงบ้าง ตามผลผลิตพืชหลัก ได้แก่ ข้าวนาปี และอ้อยโรงงานที่ลดลงจากปีก่อน หลังประสบกับภาวะฝนทิ้งช่วงและมีปริมาณน้อยกว่าปีก่อนในช่วงต้นฤดูเพาะปลูก ด้านราคาพืชหลักขยายตัวดีตามผลผลิตที่ลดลง ประกอบกับมีอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะราคาน้ำตาลล่วงหน้าที่ปรับสูงขึ้น ตามผลผลิตอ้อยอินเดีย ที่ทั้งลดลงและระงับการส่งออก ด้านการบริโภคปรับดีขึ้นจาก pent-up demand และในหมวดภาคบริการตามการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น

ปัจจัยหนุนศักยภาพเมือง

นางพรวิภา กล่าวว่า พื้นที่นครสวรรค์เป็นแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำ และเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ส่งผลให้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ นำมาต่อยอดในการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรและธุรกิจเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงได้ แม้ว่าพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์จะเป็นแหล่งธรรมชาติและเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีความสมบูรณ์ แต่ยังมีพื้นที่เกษตรสัดส่วนถึง 70% ที่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนศักยภาพของเศรษฐกิจของจังหวัดนครสวรรค์ ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร หากจะผลักดันพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนวัตถุดิบป้อนโรงงาน จำเป็นต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ระบบชลประทานดีขึ้นและทั่วถึง

นครสวรรค์

โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ตากฟ้า อ.ตาคลี และ อ.ท่าตะโก ซึ่งมักได้รับผลกระทบจากภาวะแล้ง เกษตรกรส่วนใหญ่ยังทำเกษตรแบบดั้งเดิม อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ขาดแหล่งกักเก็บน้ำ และการเจาะบ่อบาดาลมีต้นทุนสูง รวมถึงการสนับสนุนการทำการเกษตรแบบ smart farming ที่ใช้เทคโนโลยีช่วยในการบริหารจัดการเกษตรกรรมซึ่งรวมถึงการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2.การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ อาทิ ระบบขนส่ง เช่น การเพิ่มรถไฟรางคู่ เส้นทางรถไฟสายใหม่ (รถไฟสายปากน้ำโพ-แม่สอด) รวมถึงพิจารณาวางระบบขนส่งและผังเมืองให้ครบทั้ง supply chain เพราะนักลงทุนอยากลงทุน แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะติดข้อจำกัดด้านกฎหมายผังเมือง

และ 3.การสนับสนุนและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ อาทิ ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยว unseen จ.นครสวรรค์ เช่น พาสาน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้จากภาคเอกชนในท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวมีโอกาสเติบโต และส่งผลเชิงบวกต่อยอดไปยังการบริโภค การลงทุน และการเติบโตโดยรวมของจังหวัดต่อไป

ทุนส่วนกลางพลิกโฉมเมืองใหม่

นางพรวิภา กล่าวต่อว่า นครสวรรค์ถือเป็นอีกหนึ่งในจังหวัดของภาคเหนือที่มีศักยภาพในการรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2565) จะเห็นว่ามีการขยายตัวของความเป็นเมืองในจังหวัดนครสวรรค์อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากข้อมูลดาวเทียมที่แสดงการขยายตัวของพื้นที่สิ่งปลูกสร้างกว่า 14 ตารางกิโลเมตร (+0.07%) เพิ่มมากเป็นอันดับ 2 ของจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง รองจาก จ.เพชรบูรณ์ (อันดับ 5 ของภาคเหนือ)

โดยจะเห็นว่าในพื้นที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งกลุ่มการค้า (ห้างเซ็นทรัล) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (โครงการศุภาลัย) กลุ่มอุตสาหกรรมอย่าง โรงงานน้ำตาล และโรงงานนมขนาดใหญ่ รวมถึงโครงการ “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” Bio Hub ครบวงจรแห่งแรกของไทยที่เกิดจากการร่วมทุนของกลุ่มบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม GGC และกลุ่มบริษัท เกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS รวมเป็นกลุ่มบริษัท GGC KTIS Bio Industrial Company Limited (GKBI)

และขณะนี้กำลังลงทุนระยะที่ 2 ในพื้นที่ 2,000 ไร่ ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของ GKBI และ NatureWorks ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดการเป็นเศรษฐกิจสีเขียวในอนาคต เพิ่มโอกาสการจ้างงานในพื้นที่และทำให้เกิดกิจกรรมใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทุนภูธรปรับตัวรับความท้าทาย

นางพรวิภา กล่าวว่า ปัจจุบันทุนท้องถิ่นในนครสวรรค์กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้านที่เปรียบเสมือนคลื่นลูกใหญ่ที่สั่นคลอนการอยู่รอดของธุรกิจ หากไม่สามารถต้านทานกระแสได้ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นวงกว้าง (Digital Disruption) และความพยายามในการหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาผลกำไรที่สูงที่สุด และการดูแลสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability)

ดังนั้นการปรับตัวคือทางรอดของภาคธุรกิจเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและสามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ได้แก่ 1.การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต 2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มคุณภาพสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

3.การหาพันธมิตรกับผู้ประกอบการรายอื่น (Partnership) ที่สนับสนุนหรือต่อยอดจากธุรกิจเดิม โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก แต่เป็นการลงทุนด้านอื่น เช่น การพัฒนาทักษะสำคัญในการทำงาน (Know-How) และ 4.การปรับตัวไปพร้อมกับคู่ค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) เช่น การให้ความรู้และช่วยเหลือคู่ค้าในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพและยั่งยืน