กระดูกพรุน โรคที่ต้องระวัง

คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามา
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ชายนันท์ วิจิตรตระการรุ่ง  สาขาวิชาเวชศาสตร์การกีฬา 
ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล

กระดูกเป็นส่วนสำคัญของระบบโครงสร้างร่างกาย เป็นแกนหลักให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึดเกาะ ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้และเป็นส่วนเก็บแร่ธาตุแคลเซียม หากไม่บำรุงจะทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน ที่อาจส่งผลต่อภาวะกระดูกแตกหรือหักง่าย

โรคนี้จะมีมวลกระดูกลดน้อยลง ซึ่งเกิดการสลายตัวของกระดูกเร็วกว่าการสร้าง ทำให้กระดูกมีค่าลดลง หากหกล้มหรือกระแทกเพียงเล็กน้อยก็อาจแตกหรือหัก

ปัจจัยเสี่ยงคือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ผู้หญิงวัยหลังหมดประจําเดือน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ พันธุกรรม ดื่มกาแฟ ชา น้ำอัดลม รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง โปรตีนหรือไฟเบอร์มากเกินไป รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอ ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ติดต่อกันนาน มีโรคเบาหวาน โรคข้อ โรครูมาตอยด์

กระดูกที่พบโรคกระดูกพรุนได้มากที่สุดคือ กระดูกข้อสะโพก สันหลัง ปลายแขน

อันตรายของโรคนี้จะไม่แสดงอาการ แต่มวลกระดูกที่ลดลงจะส่งผลให้กระดูกแตกง่าย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมา

Advertisment

อาการแทรกซ้อน เช่น โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต หลังโก่ง หลังค่อม ติดเชื้อในกระแสเลือด ช่วยเหลือตัวเองลำบาก เคลื่อนไหวช้าลง แผลกดทับ (กรณีผู้ป่วยติดเตียง)

ประเภทของโรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุนแบบปฐมภูมิ เกิดกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงในร่างกายลดลง พบได้หลังหมดประจำเดือนไปแล้วประมาณ 15-20 ปี

เกิดในผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่อร่างกายเสื่อมสภาพลง การทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายก็จะมีประสิทธิภาพลดลง

Advertisment

โรคกระดูกพรุนแบบทุติยภูมิ พบได้ทุกเพศทุกวัย เช่น คนที่เป็นโรคเบาหวาน รูมาตอยด์ ไตวายเรื้อรัง เกิดอุบัติเหตุ

ประเภท

1.กระดูกปกติ คือ มีค่ามวลกระดูกอยู่ในช่วง 1 ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ค่ามวลกระดูก มากกว่า -1)

2.กระดูกโปร่งบาง คือ มีค่ามวลกระดูกอยู่ระหว่างช่วง 1-2.5  (ค่ามวลกระดูก มีค่าระหว่าง -1 ถึง -2.5)

3.กระดูกพรุน คือ มีค่ามวลกระดูก 2.5 หรือต่ำกว่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ค่ามวลกระดูก น้อยกว่า -2.5)

วิธีป้องกัน งดดื่มแอลกอฮอล์ กาเฟอีน รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว รับประทานผักและผลไม้ รับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่ว งดรับประทานอาหารรสเค็มและหวานจัด รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม

วิธีการรักษา ออกกำลังกาย รับประทานยาต้านการสลายของกระดูก เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนแคลซิโตนินแคลเซียม

ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย เช่น เต้นแอโรบิก เดินเร็ว วิ่งเหยาะ เพื่อให้ข้อต่อแข็งแรง ระวังการหกล้ม รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ออกรับแสงแดด (มีวิตามิน D) หากเกิดอาการผิดปกติ ควรรีบเข้าพบแพทย์