สรุป 5 ข้อเท็จจริง ภาวะลิ่มเลือดจากวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า

วัคซีน015

สรุป 5 ข้อเท็จจริงสำคัญ เกี่ยวกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากวัคซีนโควิด-19 แบบไวรัสเวกเตอร์ ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า

วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 การเกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 แบบไวรัสเวกเตอร์ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกรวมถึงไทยให้ความสนใจ

โดยจากเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงของ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และความเห็นของ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค-สวทช. สามารถสรุปข้อเท็จจริงสำคัญได้ 5 ข้อ คือ

1. การเกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) จากการฉีดวัคซีนโควิดของแอสตร้าเซนเนก้านี้ เป็นที่เปิดเผยและรับรู้กันทั่วโลกมานานกว่า 3 ปีแล้ว

โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกเอกสารคำแนะนำการใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 และอัพเดตคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการกล่าวถึงการเกิดภาวะ TTS ในคำแนะนำ ฉบับปรับปรุง 15 มีนาคม 2565 ระบุว่า ผู้ที่มีภาวะ TTS หลังรับวัคซีนโดสแรก ไม่ควรได้รับวัคซีนชนิดเดิมเป็นโดสที่ 2 เป็นต้น

ส่วนบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ใส่คำเตือนถึงความเสี่ยงเกิดภาวะ TTS ในเอกสารกำกับยามาตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2564 โดยอยู่ในหัวข้อ คำเตือนพิเศษ และข้อควรระวังในการใช้ยา

Advertisment

ขณะเดียวกันหลายประเทศ เก็บและเปิดเผยข้อมูลการเกิดภาวะนี้มาตั้งแต่ปี 2564 เช่น สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันบริษัทแอตตร้าเซนเนก้าเองก็มีการเก็บและรายงานข้อมูลเหล่านี้เช่นกัน

สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค-สวทช. ที่ระบุบนเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ว่า วัคซีนแบบไวรัสเวกเตอร์ ซึ่งมีใช้ในช่วงต้นการระบาดของโควิด-19 มี 3 ตัว คือ AstraZeneca COVID-19 ChAdOx-1, Johnson & Johnson (J&J) Janssen COVID-19 Ad26.COV2-S และวัคซีนจากรัสเซียซึ่งไม่ได้นำมาใช้ในไทย ต่างมีข้อมูลจำนวนมากที่กล่าวถึงความเสี่ยงที่ผู้ได้รับวัคซีนจะมีอาการลิ่มเลือดอุดตัน (TTS)

โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นที่ยอมรับกันในวงวิชาการ ไม่มีการปิดบังข้อมูลต่อสังคม เห็นได้จากเอกสารคำแนะนำเรื่องการรับมือกับ TTS ในผู้ที่ได้รับวัคซีนประเภทนี้ของ WHO ที่ออกมาอย่างน้อย 1 ปีแล้ว ขณะที่ทั้ง AstraZeneca หรือ J&J ต่างไม่ได้ออกมาทักท้วง WHO ถึงการออกคำแนะนำดังกล่าว

2. การเกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า มีโอกาสเกิดต่ำ

สะท้อนจากข้อมูลของสหราชอาณาจักร ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ระบุว่า และสหภาพยุโรป คาดการณ์ว่า ความเสี่ยงในการเกิดภาวะ TTS ของประชากรในภูมิภาคอยู่ที่ 1 รายต่อ 100,000 ประชากร ส่วนข้อมูลของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า พบว่า อัตราการรายงานภาวะ TTS ต่อประชากร 1,000,000 ราย มีตั้งแต่ 0.2 ในประเทศแถบเอเชีย-บราซิล ไปจนถึงถึง 17.6 ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก

Advertisment

สำหรับประเทศไทย มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 48,730,984 โดส พบผู้สงสัยหรือยืนยันภาวะ TTS จำนวน 7 ราย คิดเป็นอัตราการเกิดเท่ากับ 0.014 ต่อ 100,000 ประชากร หรือจะพบผู้ที่มีภาวะนี้ได้ 1 รายในผู้รับวัคซีน 10,000,000 คน

3. การป่วยด้วยโรคโควิด-19 สามารถทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) ได้เช่นกัน และมีความเสี่ยงสูงกว่าการรับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าหลายเท่า

จากการเก็บข้อมูลในอังกฤษ ซึ่งมีประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรกจำนวน 19,608,008 คน กับกลุ่มประชาชนที่มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก จำนวน 1,758,095 คน สามารถวิเคราะห์อัตราการเสี่ยงของการเกิดภาวะต่าง ๆ ในช่วง 8-14 วัน หลังได้รับวัคซีนได้ดังนี้

ความเสี่ยงเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่ 1.33 ส่วนความเสี่ยงเกิดภาวะนี้หลังการป่วยโควิด-19 อยู่ที่ 5.27

ความเสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่ 1.10 ส่วนความเสี่ยงเกิดภาวะนี้หลังการป่วยโควิด-19 อยู่ที่ 13.86

ความเสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดง หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่ 1.02 ส่วนความเสี่ยงเกิดภาวะนี้หลังการป่วยโควิด-19 อยู่ที่ 4.52

สอดคล้องกับ เอกสารคำแนะนำการใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ขององค์การอนามัยโลก ฉบับปรับปรุง 15 มีนาคม 2565 ที่ระบุว่า ในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมีมากกว่าความเสี่ยงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การประเมินประโยชน์และความเสี่ยงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ทั้งนี้แต่ละประเทศควรพิจารณาสถานการณ์ทางระบาดวิทยา ความเสี่ยงในระดับบุคคลและประชากร ความพร้อมของวัคซีนชนิดอื่น ๆ และทางเลือกสำหรับลดความเสี่ยง

ซึ่งจากข้อมูลทั่วโลกพบว่า การรับวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงสูงสุดในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากหากประชากรในกลุ่มนี้ป่วยด้วยโควิด-19 มีโอกาสที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ และความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่มีสาเหตุมาจากการป่วยด้วยโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นตามอายุ

4. ภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) หลังรับวัคซีนโควิด ส่วนใหญ่มักเกิดภายใน 3-21 วัน

นอกจากจะมักพบในช่วง 3-21 วัน หลังรับวัคซีนแล้ว ยังพบหลังรับวัคซีนเข็มแรกมากกว่าเข็มสอง และพบในคนอายุน้อยมากกว่าผู้สูงอายุ

โดยปัจจุบันยังไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการเกิดภาวะ TTS แต่จากการเก็บข้อมูล พบว่า ภาวะ TTS มักเกิดในผู้ป่วยที่มีประวัติการเกิดลิ่มเลือดมาก่อน ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง และผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากระบบภูมิคุ้มกัน

5. ปัจจุบันไทยไม่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบไวรัสเวกเตอร์ ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว

ขณะเดียวกันสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ย้ำว่า จากข้อมูลเหล่านี้ ความเสี่ยงของการเกิดภาวะ TTS จากการป่วยด้วยโควิด-19 สูงกว่า การรับวัคซีนโควิด-19 แบบไวรัสเวกเตอร์ ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า อย่างมาก

และทั่วโลกร่วมถึงไทย มีระบบกำกับดูแลความปลอดภัยจากการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลักเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมากกว่าความเสี่ยงที่ได้รับอย่างดีที่สุด

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงภายหลังจากการได้รับวัคซีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แต่จะมีการควบคุมให้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด ก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ใช้วัคซีนในวงกว้าง

ขอให้ประชาชนคลายความกังวลใจ ทั้งนี้หากมีข้อมูลเพิ่มเติมสถาบันวัคซีนแห่งชาติจะทำการอัพเดตข้อมูลให้ท่านทราบเป็นระยะ