วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

(File) Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

แม้ว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จะผ่านพ้นมาถึง 5 ปีแล้วก็ตาม แต่ผลของการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และลดความรุนแรงของโรคยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ล่าสุดบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทยายักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีน AstraZeneca ซึ่งเป็นวัคซีนแบบไวรัลแวกเตอร์ ได้ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกในเอกสารฉบับหนึ่งที่ใช้ในศาล ระหว่างการฟ้องร้องของผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนที่ว่า วัคซีนของบริษัทสามารถทำให้เกิดภาวะทีทีเอส (TTS) หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตัน-ภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ในบางกรณี แต่ไม่ทราบสาเหตุ

เอกสารอย่างเป็นทางการที่ถูกใช้ในศาลฉบับดังกล่าว ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าวัคซีนของบริษัทไม่ได้มีความปลอดภัยแบบ 100% เต็ม หลังจากที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของคนที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นที่สนใจและติดตามของคนไทยที่ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าถึงผลกระทบของวัคซีนที่อาจจะได้รับ แม้ว่าเวลาจะผ่านพ้นมาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้วก็ตาม

ล่าสุด สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่องภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) ภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าว่าไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่เป็นข้อมูลที่ได้จากการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบซึ่งพบว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่พบได้น้อยมาก

เฉพาะในอังกฤษและสหภาพยุโรปมีการรายงานความเสี่ยงในการเกิดภาวะ TTS อยู่ที่ประมาณ 1 รายต่อประชากร 100,000 คน รายงานของบริษัทเองอยู่ที่อัตรา 0.2 ต่อประชากร 1,000,000 คนในประเทศแถบเอเชีย-บราซิล ส่วนกลุ่มประเทศนอร์ดิกอยู่ที่ 17.6 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางภูมิศาสตร์

Advertisment

สำหรับประเทศไทยเองตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ปรากฏมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วทั้งหมด 48,730,984 โดส และพบผู้สงสัยหรือยืนยันภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำจำนวนแค่ 7 คน หรืออัตราการเกิดภาวะ TTS เท่ากับ 0.014 ต่อ 100,000 ประชากร หรือจะพบผู้มีภาวะดังกล่าวได้ 1 คนในผู้ได้รับวัคซีนจำนวน 10,000,000 คน

นอกจากนี้ การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันภายหลังจากการได้รับวัคซีน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 3-21 วันแรกหลังจากที่ได้รับวัคซีนแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ต้องยอมรับว่าวัคซีนประเภทใหม่ ๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างเร่งด่วน ตามความจำเป็นที่จะต้องใช้ป้องกันและลดความรุนแรงของโรค ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันในช่วงนั้น

ดังนั้น การฉีดวัคซีนที่ได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนจึงมีความเสี่ยงจากอาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ควรที่คนไทยที่ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไม่ต้องตื่นตระหนก แต่จำเป็นต้องติดตามผลของการฉีดวัคซีนในระยะยาวต่อไป

Advertisment