ธุรกิจกัญชาม้วนเสื่อ รัฐบาลรื้อนโยบาย สั่ง สธ.ดึงกัญชากลับบัญชียาเสพติด ขีดเส้นตายในสิ้นปี ผู้ประกอบการทำใจรับผลกระทบ-เร่งปรับตัว รอความชัดเจน หมื่นร้านค้าเตรียมโบกมือลาโรง ส่วนสินค้ากัญชา “เครื่องดื่ม-สแน็ก-กาแฟ-ซอสปรุงรส” พากันถอดใจทยอยขนสินค้าลงจากเชลฟ์ร้านสะดวกซื้อ หลังพบยอดขายไม่วิ่ง-ตลาดวาย คนไม่นิยม ขณะที่โรงพยาบาลเผยคนไข้มองภาพกัญชาเป็นเนกาทีฟไม่นิยม ด้าน “แม่โจ้-โรงงานผลิตยา” หนุนเต็มสูบ เดินหน้าพัฒนาวิจัยหนุนทำยา
อีกไม่นาน การถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 และทำให้เกิดกระแส กัญชาเสรี-กัญชาฟีเวอร์ ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด โดยขีดเส้นภายในสิ้นปีนี้ และเร่งออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น หลังพบว่านอกจากคดีเกี่ยวกับยาเสพติดจะพุ่งขึ้น 4-5 เท่าแล้ว อีกด้านหนึ่งยังส่งผลกระทบและกลายเป็นปัญหาสังคมที่ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ ขณะเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปลายเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ถึงแนวทางการแก้ไขนโยบายกัญชา และการควบคุมร้านค้าที่จำหน่ายกัญชาอย่างเสรี รวมถึงการแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องกัญชา พร้อมย้ำว่าจะอนุญาตให้กัญชาใช้ได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์เท่านั้น และไม่สนับสนุนกัญชาเพื่อการสันทนาการ
ธุรกิจกัญชาโบกมือลาโรง
แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจกัญชารายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดให้โทษ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบกับธุรกิจกัญชาและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้มีการลงทุนปลูกกัญชา ร้านจำหน่ายสินค้ากัญชาที่เปิดให้บริการตามย่านสถานบันเทิง เมืองท่องเที่ยว รวมถึงแพลตฟอร์มค้าปลีกสินค้ากัญชาออนไลน์ ซึ่งเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วธุรกิจเหล่านี้ก็คงจะต้องปิดกิจการไป รวมถึงสินค้าต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่วางจำหน่ายตามร้านค้าต่าง ๆ
“รัฐบาลชุดที่ผ่านมาวาดหวังว่า กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่งกัญชาก็ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมามาก ตอนนี้เวลาผ่านมาประมาณ 2 ปี วันนี้กัญชากำลังจะกลับไปเป็นยาเสพติดให้โทษ ธุรกิจกัญชาที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็น Megatrend กำลังจะกลายเป็นธุรกิจ Sunset อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจกัญชาต่างก็มีการปรับตัว เพื่อให้ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น”
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการร้านจำหน่ายสินค้ากัญชาในย่านถนนสุขุมวิทรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า การนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ จะทำให้ร้านจำหน่ายสินค้ากัญชาที่เปิดให้บริการตามย่านสถานบันเทิงทั้งในกรุงเทพฯ จังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา เกาะพะงัน ฯลฯ ซึ่งคาดว่าจะเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ร้านค้า จะต้องปิดตัวลงไปโดยปริยาย
“แน่นอนว่าในแง่ของความเสียหายก็ต้องมีเป็นธรรมดา ทั้งในแง่ของค่าเช่า ค่าตกแต่งร้าน สต๊อกสินค้า ฯลฯ เปิดมาได้ 1-2 ปี หลายรายยังไม่คืนทุน ตอนนี้ทุกคนกำลังลุ้นอยู่ว่า การนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด สธ.จะออกมาเป็นประกาศกฎกระทรวง หรือจะเป็นการแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หากใช้วิธีการแก้ พ.ร.บ.ก็อาจจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และทำให้มีเวลาปรับตัวมากขึ้น แต่หากออกมาเป็นกฎกระทรวง ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นเร็ว”
แห่ถอดสินค้าออกจากเชลฟ์
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการคอนซูเมอร์โปรดักต์เปิดเผยว่า การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ในทางปฏิบัติอาจจะไม่มีผลกระทบกับสินค้าต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชา หรือสารซีบีดีมากนัก เนื่องจากปัจจุบันสินค้าที่มีส่วนผสมของกัญชาซึ่งมีใบอนุญาตและผ่านการพิจารณาอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่วางจำหน่ายในตลาด ในแง่ของยอดขายลดลงไปมาก เมื่อเทียบกับช่วงแรก ๆ ที่เป็นกระแสฟีเวอร์ ไม่ว่าจะเป็น น้ำดื่ม เครื่องดื่มกาแฟ ป๊อปคอร์น สแน็ก สกินแคร์ ซอสปรุงรส เป็นต้น
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับการที่จะบริโภคน้ำดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา หรือสารอะไรพวกนี้อยู่แล้ว ประกอบกับการรับรู้เกี่ยวกับกัญชาของผู้บริโภคที่เป็น Negative มากกว่า Positive และอีกอย่างคือ สาร CBD (Cannabidiol) ของกัญชาที่เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม อาหาร กฎหมายมีการกำหนดปริมาณการใส่สารเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย เมื่อไม่อนุญาตให้ใส่ในปริมาณมากก็ไม่มีผลอะไร ผู้บริโภคก็ไม่บริโภค
แหล่งข่าวรายนี้ยอมรับว่า ตอนนี้ยอดขายสินค้าที่มีส่วนผสมกัญชาที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ก็ไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไรมากนัก และในแง่ของผู้บริโภค สินค้ากัญชาตลาดวายแล้ว ตอนนี้ซัพพลายเออร์สินค้าหลาย ๆ รายก็มีการหารือกับร้านค้าปลีกรายใหญ่ ร้านสะดวกซื้อ ในการที่จะยกเลิกการผลิตและวางขายในช่องทางหลัก ๆ หลายรายกำลังดูว่ารสชาติไหน ฉลากหมด แพ็กเกจจิ้งหมด วัตถุดิบหมด ก็เลิก ซึ่งที่ผ่านมาเครื่องดื่มกัญชาบางรายการ ขนมขบเคี้ยวบางตัว ยอดขายไม่ดี ผลตอบรับไม่ได้หวือหวาอะไร ก็ทยอยถอดสินค้าออกจากตลาดไปเงียบ ๆ
“ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสัญญาณนี้มาระยะหนึ่งแล้ว หากสังเกตจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาหลายค่ายหยุดใส่เม็ดเงินโฆษณามาตั้งนานแล้ว และไม่มีการโปรโมตอะไร ขายไปตามสภาพ ตอนนี้เราก็วางแผนจะถอดสินค้ากัญชาที่เหลืออยู่ออกจากร้านสะดวกซื้อ ซึ่งร้านสะดวกซื้อก็เห็นด้วย ตัวไหนหมดก็เลิก ส่วนรายอื่น ๆ เท่าที่ติดตามมาเป็นระยะ ๆ พบว่าตอนนี้แทบจะไม่มีตัวไหนเหลือแล้ว”
คนไม่นิยมกัญชารักษาโรค
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชนแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ในแง่การเปิดศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชาของโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งอาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากเป็นการใช้กัญชาในทางการแพทย์ที่ทางการอนุญาต ซึ่งตอนนี้สังคมส่วนหนึ่งให้การยอมรับว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ เพียงแต่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่นิยมมากนัก ทั้งนี้ ศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชาไม่ได้ถูกกระทบโดยการห้ามใช้ แต่จะถูกกระทบในแง่ที่ว่าคนไข้ได้ความรู้ผิด ๆ มาว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ก็เลยไม่กล้าใช้ ก็ทําให้คนไข้ดรอปลง
“หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า การปลูกกัญชายังบูมเหมือนเมื่อก่อนหรือไม่ โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากเป็นการปลูกที่เป็นสเกลขนาดเล็กเพื่อใช้ในการแพทย์ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร แต่หากเป็นการปลูกสเกลขนาดใหญ่อาจจะเพื่อการส่งออกหรือสกัดสาร อาจจะกระทบบ้าง แต่คงต้องรอความชัดเจนของกฎหมายว่าจะอนุญาตให้ทำได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ตอนนี้ในแง่ของคนปลูกเชื่อว่าลดลง เพราะปลูกแล้วไม่รู้จะไปขายให้ใคร ไม่มีใครรับซื้อ จะไปทําเป็นครีม ทําเป็นยา ทําเป็นอะไรก็ไม่มีใครใช้ ไม่มีใครซื้อ ก่อนหน้านี้ กฎหมายก็อนุญาตให้ปลูก ใครจะปลูกก็มาขออนุญาตก็ปลูกได้ แต่ปลูกแล้วตอนนี้จะไปขายใคร เพราะกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด คนปลูกก็ปลูก เพราะมีใบอนุญาตปลูก ปลูกเสร็จแล้วขายไม่ได้ ก็เลิกปลูกกันไปเอง”
แหล่งข่าวจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกกัญชาในภาคอีสานตอนบนกล่าวในเรื่องนี้ว่า เบื้องต้นวิสาหกิจชุมชนคงรอดูนโยบายของทางการก่อนว่าจะมีรายละเอียดออกมาอย่างไรบ้าง เนื่องจากการปลูกกัญชาของวิสาหกิจชุมชมต่าง ๆ จะต้องยื่นขอใบอนุญาตจาก สธ. ซึ่งเป็นใบอนุญาตเป็นรายปี ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับทางการว่าจะมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องกัญชาอย่างไร และจะออกใบอนุญาตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าที่ผ่านมาการปลูกกัญชาที่ขายได้ หลัก ๆ ก็มีเฉพาะช่อดอกที่เป็นการจำหน่ายให้โรงพยาบาล เพื่อนำไปสกัดเป็นยาหรือนำไปใช้ในการรักษา ส่วนใบ กิ่ง ก้าน ราก หรือส่วนอื่น ๆ ที่กฎหมายอนุญาตให้นำมาใช้ได้ เช่น ผสมในเครื่องดื่ม ผสมในอาหาร ไม่ได้รับความนิยมเหมือนช่วงแรก ๆ
“ยกตัวอย่าง ใบกัญชา ช่วงแรกได้รับความนิยมมาก และขายได้ราคาดี กิโลกรัมละ 4-5 พันบาท เพราะร้านอาหารซื้อไปเป็นส่วนผสมของเมนูอาหาร แต่หลังจากที่ทางการอนุญาตให้ปลูกได้ทุกบ้าน ราคาก็เริ่มตกลง เมื่อใคร ๆ ก็ปลูกได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมาซื้อจากวิสาหกิจชุมชน เดี๋ยวนี้ร้านอาหารต่าง ๆ ก็ทยอยถอดกัญชาออกจากเมนูอาหารกันหมดแล้ว ตอนนี้แม้แต่ ชากัญชา ที่วิสาหกิจชุมชนทำออกมาขาย ก็ขายไม่ค่อยได้”
แม่โจ้หนุนจัดระเบียบกัญชาใหม่
ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า เห็นด้วยการกับที่รัฐบาลจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ที่หมายถึงการจัดระเบียบกัญชาใหม่ และสนับสนุนให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ ไม่เห็นด้วยที่มีการนำกัญชามาใช้เพื่อนันทนาการ ขณะเดียวกันภาครัฐควรเร่งแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศที่สัดส่วนมากถึง 75% ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม่โจ้มีจุดยืนชัดเจนเกี่ยวกับกัญชาที่เน้นปลูกเพื่อทางการแพทย์เท่านั้น และแม่โจ้ก็จะมีการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์กัญชาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการปลูกแบบออร์แกนิก ปลูกได้ปีละ 3 รอบ รอบละ 1 แสนต้น หรือราว 3 แสนต้นต่อปี
ขณะที่ นายวิธวินท์ วิทยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานผลิตยาสารสกัดจากกัญชาและกัญชง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันคาดว่ามูลค่าอุตสาหกรรมกัญชาในประเทศ มีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ที่ราว 20,000-25,000 ล้านบาท หลัก ๆ มาจากการท่องเที่ยว และมีการจ้างงาน 70,000-80,000 ตำแหน่ง หากนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดทั้งหมด คาดว่าจะกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่โตไปค่อนข้างมากแล้ว ทั้งผู้ขายอุปกรณ์ ขายเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรรายย่อย-รายใหญ่ หากการนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดเป็นเพียงแค่ออกกฎระเบียบควบคุมดูแลมากขึ้น มีการจัดกฎระเบียบให้ชัดเจน มีการควบคุมที่ดี โดยส่วนตัวค่อนข้างเห็นด้วย และบริษัทไม่น่าจะได้รับผล กระทบมากนัก และจะยังมีการลงทุนด้านการวิจัยเพื่อนำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง