ชิดชนก ชิดชอบ คนรุ่นใหม่มอง “กฎหมายกัญชา”

ชิดชนก ชิดชอบ
ชิดชนก ชิดชอบ

“กัญชา” กำลังจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยในอีกไม่ช้า หากร่าง พ.ร.บ.กัญชา และกัญชง พ.ศ. … ผ่านความเห็นชอบจากสภา แต่คำถามคือ คนไทยพร้อมแล้วหรือยัง ในขณะที่กฎหมายดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันถึงคำนิยาม เช่น ใช้ประโยชน์ในด้านใดบ้าง เพื่อนันทนาการ เพื่อรักษาโรค หรือแค่การบรรเทาเท่านั้น เนื่องจากการทำวิจัยที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่า กัญชานั้นมีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน ซึ่งไม่ว่าจะออกมาในมุมไหนก็ตาม ล้วนแล้วต้องมีผู้ที่ได้ประโยชน์และผลกระทบ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 หากยังพอจำกันได้ งานมหกรรมกัญชาทางการแพทย์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถูกจัดขึ้นภายใต้ชื่อ “พันธุ์บุรีรัมย์” ครั้งแรก แต่ผู้ร่วมงานมากกว่า 150,000 คน มีผู้มายื่นขอจดครอบครองกัญชา 12,753 ราย ผ่านเกณฑ์การขอจดครอบครองกัญชา จำนวน 4,397 ราย ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งในและสำนักข่าวต่างประเทศมากกว่า 200 คน ผู้ร่วมออกร้านในงาน 3,290 ราย ความสำเร็จของงานในวันนั้น เกิดจากแม่งาน ชื่อ “นางสาวชิดชนก ชิดชอบ” ประธานวิสาหกิจชุมชนพันธุ์บุรีรัมย์ และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอาร์ เพาเวอร์ จำกัด (BR POWER) ผู้ริเริ่มและเป็นหัวเรือหลักสำคัญของงาน “พันธุ์บุรีรัมย์” ผ่านมาถึงวันนี้ เป็นอย่างไร

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้สัมภาษณ์ “ชิดชนก” หลังจากร่วมสัมมนา “กัญชาไทย…จะไปทางไหน ?” ที่จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ถึงสถานการณ์การส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชผลที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย หลังลงทุนตั้งโรงสกัดกัญชาขึ้นมาแห่งเดียวในบุรีรัมย์

ตั้งโรงสกัดน้ำมัน CBD

เมื่อปี 2014 (2557) เราก่อตั้งบริษัท บีอาร์ เพาเวอร์ ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมเกษตรกรในจังหวัดของบุรีรัมย์ โดยเฉพาะเรื่องของการปลูกพืชท้องถิ่น จนในที่สุดรัฐบาลก็ปลดล็อกกฎหมายและถอดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดในปี 2565 นี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เมื่อสังคมเปิดกว้างเราเริ่มทำหน้าที่สร้างความเข้าใจ ถึงการใช้ยาจากพืชธรรมชาติเหล่านี้ โดยเฉพาะประโยชน์ของ CBD (Cannabidiol) หรือสารสกัดประเภทหนึ่งที่ได้จากต้นกัญชา หรือที่รู้จักกันในชื่อ “น้ำมันกัญชา” และเรายังมีหน้าที่พัฒนาสายพันธุ์ที่ปลูกให้มันเหมาะสมกับสภาพอากาศในเมืองร้อน เพราะไม่ใช่ว่าทุกสายพันธุ์จะปลูกได้หรือจะมีคุณภาพดีทั้งหมด

ในปี 2020 (2563) เราเริ่มก่อสร้างโรงสกัด CBD ขึ้นมา และเราเองได้เริ่มศึกษาเรื่องของกัญชา กัญชง ด้วยการทำวิจัยรวมถึงทดลองปลูกบนพื้นที่ 1 ไร่ เป็นรูปแบบของการทัศนศึกษา เมื่อปลายปี 2566 เราได้รับใบอนุญาตต่าง ๆ จากไร่ที่เราปลูกได้ผลผลิตไม่มากเพียง 80 กิโลกรัมเท่านั้น ในกระบวนการสกัดจะกำจัดสารประกอบอื่น ๆ ได้ความบริสุทธิ์เกิน 98% เพื่อให้ได้ CBD Isolates ที่เหมาะสำหรับใส่อาหาร รวมถึงเครื่องสำอาง

อย่างไรก็ตาม การสกัดยังคงเหลือ THC (Tetrahydrocannabinol) แต่ไม่เกิน 0.2% และนี่กลายเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ CBD จึงสามารถใช้เป็นยาเฉพาะทาง เพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วยในโรคบางประเภท นอกจากนี้เรายังมีแผนต่อยอดรองรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เครื่องใช้ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ CB
รับซื้อไร่ละ 2,500 บาท

ที่เราปลูกน้อยเพราะเป้าหมายของเรา คือ ต้องการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ที่เป็นคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับเรา โดยที่มีมาตรฐาน GAP ซึ่งเราจะลงไปช่วยวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่เรื่องของสายพันธุ์ อย่างพันธุ์นี้สกัดแล้วได้สารอะไร เหมาะกับใช้กับอะไร ช่วยเรื่องการปลูก เพราะเรื่องพืชชนิดนี้มีรายละเอียดที่ต้องดูแลอย่างประณีตไม่ห่างทุกวัน

“บีอาร์ เพาเวอร์ รับซื้อสูงสุด 2,500 บาท/กก. ตามเกรด แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เรามีต้นทุนที่ต้องตรวจค่าสารปนเปื้อนต่าง ๆ เช่น พวกความชื้น เชื้อรา โลหะหนัก”

สังคมไทยยังไม่พร้อม

เราต้องยอมรับสิ่งหนึ่งว่าสังคมไทยยังไม่พร้อม ปรับตัวไม่ทัน เราประกาศใช้เรื่องของกัญชาเร็วเกินไป ทำให้เยาวชนเข้าถึงง่ายขึ้น ยังไม่มีแผนรองรับ แผนการควบคุม หรือแม้แต่ความรู้เรื่องประโยชน์และโทษที่ชัดเจน ปัจจุบันตลาด “กัญชา กัญชง” มีมูลค่า ไทยเราสามารถผลิตขายและส่งออกในต่างประเทศได้

แต่ปัญหาคือ เราจะควบคุมการใช้ได้อย่างไร ตัวแทนจากผู้เข้าร่วมสัมมนาในงานต่างให้ความเห็นกันในหลากหลายมุมมอง ทั้งประโยชน์ที่ว่าสร้างโอกาสในการรักษาโรคมะเร็ง ส่งออกไม่พอกับความต้องการของตลาด หรือแม้แต่โทษที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในชุมชน ที่หันมาลองใช้สารจากกัญชาเพื่อนันทนาการ และนำไปสู่การใช้สารเสพติดประเภทอื่นตามมา

“ไทยควรปลดล็อกเพื่อการแพทย์เป็นสเตป โดยค่อย ๆ เพิ่มโรคที่กัญชาสามารถรักษาได้ ควบคู่กับผลวิจัยที่สอดคล้อง เพราะถึงจุดหนึ่งที่เราปลดตรงนี้ไปเรื่อย ๆ เส้นแบ่งแยกระหว่างการใช้เพื่อการแพทย์กับสันทนาการมันจะบางมากจนแยกไม่ออก และเมื่อนั้นถึงจะเหมาะสมเสนอฝ่ายนิติบัญญัติว่าประเทศไทยพร้อมสันทนาการหรือยัง”

มุมมองต่อข้อเสนอปรับกฎหมาย

“ความรู้เรื่องกัญชาของคนไทยยังน้อย คนเข้าใจผิดมาก ไปโฟกัสเรื่องโทษเกินไป บางคนก็อวยจนเกินไป สิ่งที่รัฐควรทำคือ บอกให้ชัดว่าสายพันธุ์ไหนที่ควรปลูก สารสกัดช่วยด้านไหน ค่าสารเท่าไรช่วยโรคอะไร เอกชนจะได้รู้ว่าตลาดเป็นอย่างไร ก็เหมือนแอลกอฮอล์ที่ดื่มได้ แต่ก็ต้องควบคุมบังคับใช้กฎหมายให้ได้”

การเสนอให้กฎหมายยกเลิกการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ ในมุมมองเอกชนเห็นว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง เพราะต่อให้ไม่มีกัญชา ประชาชนก็สามารถใช้สารอย่างอื่นเพื่อนันทนาการได้เช่นกัน ดังนั้นการแก้ไขเรื่องนี้ อยู่ที่ความรู้ของคน นี่คือสิ่งสำคัญมากที่สุด