Sustainable Fashion “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” แรงบันดาลใจ 14 จังหวัดภาคใต้

เพื่อสนองแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กระทรวงมหาดไทยจัดบิ๊กอีเวนต์อีกครั้ง ที่โรงแรมดีวาน่า พลาซ่า กระบี่ อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ โดยมี “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรม กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์”

ผ้าลายพระราชทาน “สิริวชิราภรณ์” จัดขึ้นครั้งแรกที่กระบี่

งานนี้จุดแรกเริ่มที่กระบี่ ก่อนจะเดินสายสู่ภาคใต้ โดยมีผู้เข้าอบรมและร่วมงานจำนวนมาก ประกอบด้วย “สยาม ศิริมงคล” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน สมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ วิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน

ชณิสา หาญภักดีปฏิมา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดกระบี่ วาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและเจ้าของแบรนด์ THEATRE

อ.ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการและรักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการสร้างสรรค์ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข เจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH

Advertisment

นุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์หลักสูตรสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

“เป็นโอกาสดียิ่งที่กิจกรรม Coaching ผ้าลายพระราชทาน ‘ผ้าลายสิริวชิราภรณ์’ ถูกจัดขึ้นครั้งแรกที่กระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดแรกของไทยตามลำดับพยัญชนะ ที่จะมีอายุครบ 152 ปีการสถาปนาชื่อจังหวัด โดยล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปีนี้” ปลัด มท.กล่าว

“ถ้าสะกดชื่อจังหวัดเป็นภาษาอังกฤษ คือ Krabi ‘K’ คือ King สะท้อนความหมายว่าเป็นจังหวัดของพระราชา ที่เป็นมงคลยิ่ง คือ กระบี่เป็นจังหวัดแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างจังหวัด ในการทรงประกอบพิธีเปิดศาลากลางจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดแรกในรัชกาล ภายหลังเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ และเป็นจังหวัดที่มีวัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง) เป็นวัดเนื่องในรัชกาลอีกด้วย”

ยูเนสโกยกย่องวัฒนธรรมไทยล้ำค่า

งานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทย อาหาร ประเพณี วัฒนธรรม บอกความเป็นอัตลักษณ์ของไทย ซึ่ง UNESCO ยกย่องว่าเป็นสิ่งที่ล้ำค่า และได้ประกาศขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในทุกปี ซึ่งสิ่งนั้นคือภูมิปัญญา ที่จับต้องได้ คือ ชิ้นงานดังพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย สร้างรายได้สู่ชุมชน จำหน่ายผ้าทั้งประเทศแล้วกว่า 60,000 ล้านบาท

Advertisment

สุทธิพงษ์กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริการส่งเสริมผ้าไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ซึ่ง “ผ้าไทย” มีนัยสำคัญว่า เป็นผ้าที่คนไทยรับ Knowhow มาจากบรรพบุรุษ และสร้างสรรค์ต่อยอดได้ ทั้งผ้าบาติก ผ้ายกดอก ผ้ามัดหมี่ ผ้าแพรวา ผ้าปัก กระเป๋าตะกร้าย่านลิเภา ใยกัญชง งานจักสานต่าง ๆ

พระองค์ท่านได้พระราชทานแนวพระดำริเรื่องความยั่งยืนของงานหัตถศิลป์หัตถกรรมไทยไว้ว่า “ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ปู่ ย่า ตา ยาย ต้องถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่” ซึ่งครอบครัวน้องลูกหม่อน อายุ 9 ขวบ ชาวอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นตัวอย่างของการน้อมนำพระดำริดังกล่าวถ่ายทอดภูมิปัญญาทอผ้าสู่รุ่นหลาน ทำให้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

พระองค์ท่านทรงห่วงใยชาวปักษ์ใต้มาก เพราะสิ่งที่พระราชทานให้ นอกจากเป็นอาวุธลับแล้ว ยังทำให้ “ผ้าไทย” ที่เคยถึงทางตันแล้ว เกิดทางสว่าง ให้พวกเราเห็นว่า

“ผ้าไทยสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกยุคสมัย ถ้ารู้จักออกแบบลวดลาย รู้จักใช้สี รู้จักรักษ์สิ่งแวดล้อม รู้จักการตัดเย็บ รู้จักถ่ายทอดเรื่องราว (Story Telling) พร้อมการ Matching วัตถุดิบ ผ้าไหมดี ๆ ผ้าฝ้ายดี ๆ ระหว่างภาคใต้กับภาคอื่น ๆ เช่น ไหมโคราช ครามสกลนคร เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เม็ดเงินก็จะหมุนเวียน”

เราต้องพัฒนาศักยภาพตนเองด้วยคติ “เกิดเป็นคนต้องเปิดใจให้กว้าง” รับสิ่งใหม่มาใช้กับงานตามความเหมาะสม เฉกเช่น ลายสิริวชิราภรณ์ เราสามารถหยิบเลือกเอาบางลวดลายมาผสมผสานกับลายอัตลักษณ์ดั้งเดิมให้เกิดลวดลายใหม่ ๆ

เพราะเดิมมีแต่ผ้าไทยลวดลายตายตัว ไม่มีลายใหม่ ไม่มีชิ้นงานใหม่ ๆ งานแฟชั่นต้องมีของใหม่ของแปลกมาจำหน่าย ทั้งสี ลวดลาย ขนาดต้องหลากหลาย เพราะธรรมชาติของคนมักชอบของใหม่ ๆ

“ให้ดีกว่าเก่า” และ “ดีที่สุดของโลก”

ดังนั้น งานดีต้องมีการประกวดเพื่อกระตุ้น (Catalyze) ให้ได้ชิ้นงานดี ๆ เพราะพระองค์ท่านทรงอยากเห็นเรารีดเค้นเอาสิ่งที่อยู่ในสมองออกมา ด้วยการทุ่มเท ใส่ใจ ออกแบบให้ประณีตงดงาม พิถีพิถันจนเป็นนิสัย จะได้มีชิ้นงานที่เป็นเลิศ เป็นที่ต้องการของตลาด

ปีนี้จะมีการประกวด 2 รายการ คือ 1) สุดยอดผ้าจังหวัด โดยสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดร่วมกับทุกจังหวัด สามารถส่งประกวดได้ภายในวันที่ 10 พ.ค. 2567 ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ผืนที่ได้รางวัลชนะเลิศแต่ละจังหวัดจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2567

และ 2) ประกวดผ้าลายสิริวชิราภรณ์และงานหัตถกรรม รับสมัคร 1 มิ.ย.-15 ส.ค. 2567 ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ 878 อำเภอ และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ

สิ่งที่พระองค์ทรงช่วยชาวมหาดไทย ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข คือทำทุกพื้นที่ให้เป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ควบคู่กับ Sustainable Fashion ด้วยการสนองพระปณิธานรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงยั่งยืนด้านเสื้อผ้า จะได้มีดีมานด์ซัพพลายจากรุ่นสู่รุ่น

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นแกนกลาง ทรงเพียรพยายามขับเคลื่อนผ่านกลไกภาคราชการ เพราะเป้าหมายสูงสุดคือประเทศชาติ “ต้องดีกว่าเก่า” และ “ดีที่สุดของโลก” ด้วย Sustainable Fashion