ถึงเวลาตั้ง “กองทุน” จัดการกากขยะอุตสาหกรรม

cadmium

การประกาศลาออกของ “นายจุลพงษ์ ทวีศรี” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ทั้งที่เหลือระยะเวลาเกษียณอายุราชการอีกเพียง 5 เดือน จะครบในวันที่ 30 กันยายน 2567 น่าจะมาจากความกดดันจากการทำงาน จากสาเหตุที่เกิดเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่และหลายครั้งติดต่อกัน ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ทั้งโรงงานพลุระเบิด โรงงานสารเคมี อ.บ้านค่าย จ.ระยอง มาสู่โรงงานสารเคมี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา

และที่สำคัญคือ ประเด็นการพบ “กากแร่แคดเมียม” ที่ถูกขุดออกจากบ่อเก็บกากอุตสาหกรรม ของ “บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน)” เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 อีก 15,000 ตัน วัตถุอันตรายจากเหมืองแร่สังกะสี ซึ่งตามข้อมูลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมกำหนดให้ฝังกลบเท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีการ “ขนย้าย” แรงกดดันดังกล่าวจึงพุ่งมาที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

จุลพงษ์ ทวีศรี
จุลพงษ์ ทวีศรี

ช่วงในระยะเวลาดังกล่าว แม้ว่าจะพยายามตรวจสอบเร่งหาสาเหตุของการหลุดออกไปของกากแคดเมียม ตามคำสั่งของ “นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีการสั่งย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เป็นการเริ่มต้น แต่ก็ถือว่าการปฏิบัติงานและการออกมาแสดงความรับผิดชอบ รวมถึงการชี้แจงข้อมูลความจริง ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

ขณะที่การดำเนินการจัดการกับ “กากแคดเมียม” เพื่อขนส่งกลับไปฝั่งกลบใน จ.ตาก ก็ยังมาประสบปัญหาสะดุดลงระหว่างทางอีก ในช่วง 22.00 น. ของวันที่ 29 เมษายน 2567 การขนย้ายกากแคดเมียมลอตแรกของ จ.สมุทรสาคร และบางซื่อ โดยรถบรรทุกจำนวน 10 คัน น้ำหนักทั้งสิ้น 254 ตัน ที่ใช้เวลาเดินทาง 7 ชั่วโมง ถึง จ.ตาก บนเส้นทางสายเอเชีย แต่กลับปรากฏว่า “โซ่ยกถุงบิ๊กแบ็กขาด”

ทำให้กากแคดเมียมตกกระจายบนพื้น จึงต้องสั่งระงับการขนย้าย และนำแผนสำรองเข้ามาทันทีและเริ่มการขนย้ายใหม่อีกครั้งในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 และคาดการณ์ว่ากว่าจะขนกลับ จ.ตาก ครบจะต้องรอไปถึงกลางเดือนมิถุนายน 2567

Advertisment

กากแร่แคดเมียมเจ้าปัญหา

ย้อนกลับไปถึงต้นตอของเรื่องดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 มีการเปิดเผยข้อมูลจาก “นายผล ดำธรรม” ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ถึงการตรวจพบกากแร่แคดเมียมประมาณ 15,000 ตัน ในพื้นที่ของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงงานหลอมหล่ออะลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมเม็ด จากเศษอะลูมิเนียมและตะกรันอะลูมิเนียม (Scrap and Dross)

จากนั้นจึงได้มีการขยายผลเพื่อหาต้นทางว่ากากแร่แคดเมียมดังกล่าวถูงส่งมาจากที่ใด ไม่ช้าหลังจากทำการสอบสวนพนักงานบริษัท เจ แอนด์ บีฯ จึงทราบว่าโรงงานดังกล่าวมีการรับซื้อกากอุตสาหกรรมเข้ามาเพื่อบำบัด โดยมีต้นทางมาจากบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จ.ตาก

ซึ่งเดิมชื่อ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำเหมืองแร่สังกะสีรายใหญ่ของประเทศ แต่ปิดเมื่อปี 2560 เนื่องจากมีการร้องเรียนจากชุมชนถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม บวกกับปริมาณแร่สังกะสีที่หมดลง เป็นอันสิ้นสุดการทำกิจการเหมืองแร่ดังกล่าว แต่ผาแดงฯได้ขยายไปยังธุรกิจอื่น คือ กำจัดกากอุตสาหกรรม นี่จึงเป็นต้นทางของการเก็บกากแร่แคดเมียมจากเหมืองสังกะสีที่ปิดไปแล้ว มาฝังกลบและบำบัดดังกล่าว

เปลี่ยนม้ากลางศึก

หลังจากการลาออกของนายจุลพงษ์ ตามกระบวนการจะมีผลใน 30 วันนับจากวันที่ยื่นหนังสือ ลำดับต่อไป กระทรวงอุตสาหกรรมต้องมีคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งตามตำแหน่งแล้วนั้นจะมี และ “นายสุนทร แก้วสว่าง” รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทั้ง 2 คน เป็นผู้ที่ต้องทำงานแทนตามระเบียบ

Advertisment

ที่ผ่านมา “นายจุลพงษ์” นับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ด้วยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท M.Sc. in Environmental Sanitation, State University of Ghent และปริญญาเอก Ph.D. in Environmental Technology, University of Ghent และยังเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมประจำญี่ปุ่น จนขึ้นสู่ตำแหน่งรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาหลายปี

กระทั่งมีความพยายามเข้ามาจัดการเรื่องของกากของเสียอันตรายโรงงานรีไซเคิล บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จ.ราชบุรี ที่ปัจจุบันยังคงดำเนินการค้างคาอยู่ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องถูกสั่งให้มาอยู่ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม จากนั้นขยับมาเป็นรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และในที่สุด วันที่ 5 ตุลาคม 2565 มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีคำสั่งให้นายจุลพงษ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ปลดล็อกทางออกปัญหา

มุมมอง นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า การลาออกของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการลงโทษหรือเป็นการรับผิดชอบที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะกรณีเพลิงไหม้ที่ จ.ระยอง หรือเรื่องกากแคดเมียม ต้องกลับไปดูที่ต้นตอว่าเกิดขึ้นยุคไหน สมัยไหน ปลัดและอธิบดีท่านไหน ที่มีการปล่อยปละละเลย (หรือเห็นด้วย) ให้มีการอนุญาตให้ขนกากที่เป็นวัตถุอันตรายในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกองกากอุตสาหกรรม หน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งภาคการเมือง ทั้งที่ดูแลด้านนโยบาย และภาคนิติบัญญัติควรจะแสดงความเป็นมืออาชีพ ในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งการอนุญาต การตรวจสอบ การแก้ไขมลพิษ

cadmium

และสิ่งสำคัญหลังจากนี้คือ การบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งนายอิศเรศมองว่า ปัญหาการเคลื่อนย้ายสารเคมีที่ล่าช้าเกิดจากจะต้อง “รองบประมาณ” ในการขนย้าย ซึ่งทางเอกชนเห็นว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงได้มีการเสนอประเด็นการแก้ไขกฎหมาย เพื่อวางแนวทางเกี่ยวกับ “กองทุน” ในการบริหารจัดการสารเคมีเข้าไป ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เกิดปัญหาการระเบิดโรงงานพลุที่ จ.สุพรรณบุรี เพื่อวางแนวทางระยะยาว

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ หากสามารถถอดบทเรียน วางแนวทางมุ่งแก้ไขปัญหา โดยโฟกัสที่ต้นเหตุ เร่งแก้ปัญหาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนได้ ก็จะทำให้การลาออกในครั้งนี้ไม่สูญเปล่า

ผู้ก่อกำเนิดกากแคดเมียม

ขณะทำงานแก้ไขปัญหาและขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ที่มี “นายณัฐพล รังสิตพล” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และคณะกรรมการร่วม 6 หน่วยงาน ได้ยึดอายัดกากแคดเมียมที่พบทั้งหมด 12,948 ตัน จาก 1.โกดัง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ตรวจพบกากแคดเมียม กากสังกะสี จำนวน 356 ถุง น้ำหนักประมาณ 534 ตัน 2.บริษัท ซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์เทค (2008) จำกัด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ตรวจพบกากแคดเมียม กากสังกะสี จำนวน 670 ถุง น้ำหนักประมาณ 1,005 ตัน

3.บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ตรวจพบกากแคดเมียม กากสังกะสี จำนวน 478 ถุง น้ำหนักประมาณ 717 ตัน 4.บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ตรวจพบกากแคดเมียม กากสังกะสีพบอีก 4,100 ถุง ประมาณ 6,151 ตัน 5.โกดังคลองกิ่ว จ.ชลบุรี 4,391 ตัน และที่บริษัท ล้อโลหะไทยเมททอล จำกัด เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 150 ตัน รวม 12,948 ตัน ของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จ.ตาก

เมื่อตรวจสอบลึกลงไปยังพบโครงสร้างของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ พบว่า อันดับ 1 คือ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 62,999,800 หุ้น หรือ 21.7% อันดับ 2 บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (สำนักงานใหญ่) จำนวน 50,000,000 หุ้นหรือ 17.24%

และอันดับ 3 กระทรวงการคลัง จำนวน 31,200,000 หุ้น หรือ 10.76% ในเวลาต่อมา บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปว่า บริษัทเป็นเพียงคู่สัญญากับบริษัท เจ แอนด์ บีฯ ในการซื้อขายกากแคดเมียมเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการประกอบกิจการ

ทั้งนี้ หากกากแร่แคดเมียมคือกากอุตสาหกรรมอันตราย แต่มีการขุดจากที่ฝังกลบไปแล้วออกนอกพื้นที่ บริษัทดังกล่าว จะถือเป็นผู้ก่อกำเนิด ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 หรือไม่

ผู้ก่อกำเนิดมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องการขนส่งและการจัดเก็บสิ่งปฏิกูลและวัสดุไม่ใช้แล้ว แม้เมื่อมีการนำออกนอกโรงงาน เป็นตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2535 พ.ร.บ.พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 (EIA)