แบงก์เข้มปล่อยกู้ “ล้งทุเรียน” ผวาเจอ “นอมินีทุนจีน” เบี้ยวหนี้

ธุรกิจส่งออกทุเรียนแสนล้าน ผู้ประกอบการล้งจีน-ไทยหน้าใหม่แข่งเดือด แบงก์ผวา “นอมินีทุนจีน” เบี้ยวหนี้ เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เช็กประวัติธุรกิจย้อนหลัง 2-3 ปี เผยวงเงินปล่อยกู้เฉลี่ย 10-60 ล้านบาท รับมีหนี้เสียเป็นปกติ ยันไม่หยุดปล่อยกู้กลุ่มล้งทุเรียน ชี้โอกาสเติบโตสูง มูลค่าส่งออกกว่าแสนล้านบาท ด้านผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ แนะชาวสวนปิดความเสี่ยง รับ “เงินสด” เท่านั้น

BBL ตรวจเข้มล้งจีน

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่าสถาบันการเงิน คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ทำโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ทุเรียน เนื่องจากมีผู้ประกอบการล้งเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งล้งจีนและล้งไทย

โดยที่ผ่านมาก็มีบางรายเกิดปัญหาไม่ชำระหนี้ได้ โดยยอมรับว่า ที่ผ่านมามีลูกค้าไทยที่เป็นตัวแทน (นอมินี) ให้กับคนจีนจริง ซึ่งพบได้ในทุกภาคไม่เฉพาะภาคใต้ ซึ่งธนาคารต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หรือทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ธนาคารกรุงเทพไม่ได้หยุดปล่อยสินเชื่อในเซ็กเตอร์ผู้ประกอบการล้งทุเรียน เนื่องจากมองว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยมีมูลค่าตลาดส่งออกถึงราว 1.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นผลผลิตราวล้านตัน แม้ว่าจะเจอภัยแล้ง แต่จะเห็นว่ามีเกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะตลาดยังคงมีความต้องการสูง

นายศิริเดชกล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อในกลุ่มนี้ ธนาคารจะพิจารณาเข้มงวดและระมัดระวัง โดยลูกค้าที่จะได้รับสินเชื่อ ต้องดำเนินธุรกิจอย่างน้อย 2-3 ปี เพื่อธนาคารจะได้เห็นธุรกรรมในช่วงที่ผ่านมา เพราะกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นการทำธุรกิจด้วยเงินทุนตัวเอง และค่อยขยายธุรกิจ จึงเข้ามาขอใช้วงเงินสินเชื่อกับธนาคาร โดยธนาคารจะพิจารณาจากประวัติการส่งออกสินค้า มูลค่าหลักประกัน ซึ่งวงเงินการปล่อยสินเชื่อจะพิจารณาตามปริมาณธุรกิจที่เกิดขึ้น

“เราไม่ได้หยุดปล่อยกลุ่มล้งทุเรียน เพราะเป็นตลาดที่เติบโตสูง แต่ยอมรับว่ามีกรณีที่เจ้าของเป็นคนจีน ซึ่งมีทั้งไทยผสมทุนจีน หรือจีน 100% เราเองก็ต้องพิจารณาให้ดีและระมัดระวัง เพราะมีบางรายบางคนตั้งใจสร้างตัวเลข Transaction ปลอมมา ซึ่งแบงก์เคยเจอบ้าง แต่ไม่เยอะ ดังนั้น เราต้องดูว่าธุรกิจทำมานานแค่ไหน หลักประกันที่มี และให้วงเงินตามปริมาณธุรกิจจริง” นายศิริเดชกล่าว

ADVERTISMENT

หนี้เสียล้งทุเรียนระดับปกติ

ด้านนายชัยยศ ตันติพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปล่อยสินเชื่อกลุ่มล้งทุเรียน โดยหลักการหากเป็นนอมินีมาขอสินเชื่อธนาคาร ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้อยู่แล้ว แต่ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยยังคงปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการล้งทุเรียนเป็นปกติอยู่ ไม่ได้ชะลอหรือหยุดปล่อยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ กรณีเป็นตัวแทนมาขอสินเชื่อ ธนาคารจะพิจารณาจากธุรกรรมของธุรกิจลูกค้า เพื่อดูกระแสเงินสดและหลักประกันที่มีอยู่ ซึ่งบางรายอาจจะมีเงินทุนส่วนตัวด้วย และขอวงเงินสินเชื่อบางส่วน โดยวงเงินปล่อยกู้ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจเฉลี่ยจะมีตั้งแต่ 10 ล้านบาท จนถึง 50-60 ล้านบาทต่อราย อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า กลุ่มล้งทุเรียนมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เป็นปกติของการปล่อยสินเชื่อ ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ADVERTISMENT

“เราเห็นการให้คนไทยมาเป็นตัวแทนในการขอสินเชื่อ หรือนอมินี ในล้งทุเรียนมีมานานแล้ว ซึ่งก็มีที่คนจีนเปิดล้งเอง หรือคนไทยเปิด แต่ให้จีนบริหาร มีหลากหลายรูปแบบ ปกติเราก็ระมัดระวังอยู่แล้ว เราดู Transaction การบริหารกระแสเงินของเขา และหลักประกัน ถ้าดูแล้วมีคุณสมบัติเหล่านี้ครบ เราก็ปล่อยสินเชื่อปกติ เป็นเงินทุนหมุนเวียน หนี้เสียก็มีเป็นปกติ แต่ไม่ได้ผิดปกติ”

แนะสวนทุเรียนรับเงินสด

ด้านนายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกทุเรียนและผลไม้รายใหญ่ของไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ส่งออกที่ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะตลาดส่งออกจีน ทำให้ปัจจุบันมีล้ง (โรงคัดบรรจุผลไม้) หน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งล้งคนไทยและล้งจีน

โดยในส่วนล้งคนไทย ที่ไม่ได้ส่งออกเองก็จะรับงานจากพ่อค้าคนจีน เช่นตกลงกันว่าจะมีออร์เดอร์ซื้อทุเรียนวันละ 3-5 ตู้คอนเทนเนอร์ คนไทยก็จะสร้างโรงงานหรือเช่าล้ง เพื่อรับงานของพ่อค้าจีน แต่หลายโรงงานที่ไปเช่าไว้แล้ว ถึงที่สุดนายทุนจีนที่ตกลงกันไว้มีปัญหาหายไป ทำให้ไม่มีงานเข้ามาแบบนี้ก็มี

“อีกปัญหาคือ นายทุนจีนมาซื้อทุเรียนจริง วันละ 5-6 ตู้คอนเทนเนอร์ ล้งเห็นว่านายทุนจีนคนนี้มีออร์เดอร์มาจริง จ่ายตรง เครดิตดี ล้งคนไทยเลยไปกู้เงินธนาคาร ขยายการลงทุน รวมทั้งไปค้ำประกันซื้อทุเรียนส่งให้นายทุนจีน แต่พอท้ายฤดูพ่อค้าจีนมีปัญหาหมุนไม่ทัน เพราะธุรกิจส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนขาดทุนไม่มีเงินจ่าย ทำให้ล้งคนไทยที่ไปกู้แบงก์ก็เกิดปัญหา ซึ่งก็ทำให้ธนาคารมองว่าธุรกิจล้งมีปัญหา”

นายณธกฤษกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสวนทุเรียน เมื่อตกลงขายทุเรียนแล้ว ก็แนะนำให้ชาวสวนรับเงินสด เพราะที่ผ่านมาก็มีที่พ่อค้าจีนเข้ามาแย่งซื้อทุเรียนในราคาที่สูง แต่จ่ายเป็นเช็คล่วงหน้า 6 เดือน ซึ่งก็มีชาวสวนบางส่วนยอมรับเป็นเช็ค ขอติดหนี้จนจบฤดูถึงจะมาเคลียร์ ก็ถือเป็นความเสี่ยงของชาวสวน เพราะถ้าคนจีนหรือพ่อค้าคนนั้นหายไป เช็คในมือที่ถืออยู่ก็ไม่มีประโยชน์

“ผมแนะนำว่าเรื่องชาวสวนต้องรับเงินสด อย่างที่บริษัทก็ให้เงินสด ชาวสวนได้ตังค์ก่อน ความเสี่ยงอยู่ที่ผมเอง ปกติชาวสวนมีความเสี่ยงเยอะอยู่แล้ว ทั้งเรื่องสภาพอากาศ คู่แข่งทุเรียนเวียดนาม เพราะฉะนั้นเอาความเสี่ยงเรื่องไม่จ่ายเงิน ให้ไปอยู่กับพ่อค้าดีกว่า ตอนนี้ก็มีชาวสวนไปร้องเรียนกับทางการว่า ล้งติดหนี้ตั้งแต่ปีที่เเล้ว ไม่จ่ายเงิน”