
สวนทุเรียนกุมขมับ พิษภัยแล้ง-อากาศแปรปรวน ดอกร่วงไม่ติดทำผลผลิตลดวูบ 30-60% สวนนอกเขตชลประทานกระทบหนัก เมืองจันท์หลายอำเภอต้องควักกระเป๋าซื้อน้ำรด โอดราคาน้ำพุ่ง 2,000-3,000 บาท/เที่ยว สำนักงานเกษตรจังหวัดภาคตะวันออก ประเมินผลผลิตทุเรียนรอบ 3/2567 ปีนี้มีแค่ 782,874 ตัน เพิ่มจากปี 2566 เพียง 0.77% เผยเปิดฤดูราคาดี แต่ไม่มีของ ช่วงสงกรานต์ราคายืน 180-200 บาท/กก. แต่ชาวสวนไม่มีทุเรียนขาย
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 สำนักงานเกษตรจังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ได้ทำการประเมินสถานการณ์และปริมาณผลผลิตทุเรียน ครั้งที่ 3/2567 ซึ่งคาดว่า ปีนี้จะมีผลผลิตทุเรียนรวมออกมาประมาณ 782,874 ตัน จากปี 2566 ที่มี 776,914 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5,960 ตัน หรือ 0.77 % แบ่งเป็น จันทบุรี 554,833 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มี 538,461 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 16,372 ตัน หรือ 3.04%, ตราด 91,217 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มี 89,511 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 1,706 ตัน หรือ 1.91% และระยอง 136,824 ตัน ลดลงจากปี 2566 ที่มี 148,942 ตัน ลดลง 12,118 ตัน หรือ 8.14%
ทั้งนี้คาดว่า ผลผลิตจะออกสู่ตลาดเดือนเมษายนประมาณ 125,051 ตัน หรือ 15.97% พฤษภาคม 427,646 ตัน หรือ 54.63% มิถุนายน 185,230 ตัน หรือ 23.66% และกรกฎาคม 39,063 ตัน หรือ 4.99%
แหล่งข่าวจากสำนักงานเกษตรจังหวัดภาคตะวันออกระบุว่า จากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตลดลงมาก โดยเฉพาะสวนทุเรียนเก่าที่มีปริมาณการผลิตลดลง ส่วนผลผลิตของสวนใหม่มีปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น และส่งผลให้ภาพรวมมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
สวนจันท์ผลผลิตวูบ 30-50%
ขณะที่เจ้าของสวนทุเรียนในภาคตะวันออกหลายรายให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้เป็นปีที่ทำผลผลิตทุเรียนยากที่สุด เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ทำให้ทุเรียนออกดอกไม่ดี ดอกร่วงไม่ติดผลและยังร่วงหล่นเสียหายในช่วงผลอายุทุเรียน 50 วัน ทำให้ผลผลิตลดลง 30-60%
และจากสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ชาวสวนไม่สามารถควบคุมหรือคาดการณ์สถานการณ์ได้ ทำให้ทุเรียนออกดอกยาก และปีนี้ทุเรียนออกช้ากว่าปีก่อน ๆ ประมาณ 1 เดือน ประกอบกับประสบปัญหาภัยแล้ง วิกฤตเอลนีโญที่แล้งยาวกว่าปกติ ความสมบูรณ์ของผล คุณภาพของทุเรียนจะทำยากขึ้น และที่พบอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุเรียนแก่เร็วขึ้น
นายไวกูณฐ์ เทียนทอง เลขานุการคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี และเจ้าของสวนทุเรียนใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวในเรื่องนี้ว่า ปัญหาแล้งและน้ำขาดแคลนน้ำและภาวะอากาศที่ไม่ปกติ ส่งผลให้ทุเรียนติดลูกยาก บางสวนได้ผลผลิตเพียง 30-40% ซึ่งตอนนี้สวนผลไม้ในจันทบุรี รวมถึงพื้นที่รอบ ๆ อ่างเก็บน้ำคลองศาลทรายมีสวนทุเรียนหลายหมื่นไร่ เดือดร้อนค่อนข้างมาก เพราะตอนนี้อ่างเก็บน้ำเหลือความจุเก็บกักน้ำเพียง 3.7 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุเก็บกักน้ำประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบกับช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาไม่มีฝนตกตามที่คาดการณ์ และตอนนี้เหลือเวลาอีก 1 เดือนครึ่งที่จะเข้าสู่ฤดูฝน จึงคาดว่ากรมชลประทานอาจจะปล่อยน้ำได้น้อยกว่าเป้าหมาย
ส่วนสวนของเกษตรกรนอกเขตพื้นที่ชลประทานประสบปัญหาขาดน้ำอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงที่รอให้ผลทุเรียนแก่มากพอที่จะตัดได้ ซึ่งเป็นช่วงที่ทุเรียนต้องการน้ำมากกว่าปกติ เช่น เขตพื้นที่ ต.จันเขลม ต.พลวง ต.ตะเคียนทอง อ.เขาคิชกูฏ อ.แก่งหางแมว เป็นต้น ทำให้ชาวสวนหลายรายต้องลงทุนซื้อน้ำเพื่อนำมารดทุเรียน เที่ยวละ 1,500-2,000 บาท (20,000 ลิตร) หากช่วงกลางเดือนพฤษภาคมฝนยังไม่ตก สวนทุเรียนในหลาย ๆ อำเภออาจจะเสียหายอย่างหนัก
นายณรงค์สิชฌ์ สุทธาทิพย์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับชาวสวนทุเรียนหลาย ๆ รายพบว่า ผลผลิตปีนี้ลดลงมาก อาจจะมีตัวเลข 40-50% ตอนนี้ทุเรียนรุ่นแรกจะออกช่วงเดือนเมษายนยังมีปริมาณไม่มาก แม้ราคาทุเรียนจะดี แต่ไม่มีทุเรียนขาย และตอนนี้ชาวสวนในจันทบุรีเริ่มซื้อน้ำรดทุเรียนแล้ว หนักสุดที่ อ.เขาคิชกูฏ รถบรรทุกน้ำขนาด 20,000 ลิตร เที่ยวละ 2,000-3,000 บาท จากปีที่แล้วราคาเที่ยวละ 1,500-2,000 บาท
จากราคาน้ำมันและราคาทุเรียนที่เพิ่มขึ้น ชาวสวนบางรายต้องตัดหรือสอยลูกทุเรียนทิ้งบางส่วน และเหลือไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อให้มีน้ำเลี้ยงให้ได้ผลผลิต ซึ่งช่วงเดือนเมษายนนอกจากปัญหาภัยแล้งแล้วก็ยังต้องระวังปัญหาลมพายุที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งทำให้ผลผลิตเสียหายมาก
สงกรานต์ราคายืน 180-200 บาท
นายสมศักดิ์ เลิศสำโรง ผู้จัดการ บริษัท อิมพอร์ตแอนด์เอ๊กพอร์ต จำกัด จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า หลังวันที่ 5 เมษายน เป็นต้นมา เริ่มมีทุเรียนออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ในแง่ของราคาก็มีการปรับลดลงตามหลักดีมานด์ ซัพพลาย แต่ด้วยปริมาณทุเรียนยังมีน้อย ราคาทุเรียนหมอนทอง เกรด AB น่าจะประมาณ 180-200 บาท และในช่วงเดือนพฤษภาคม ปริมาณทุเรียนออกมากขึ้น ราคาน่าจะไม่ต่ำกว่าปีก่อนอยู่ประมาณ 140 บาท และช่วงเดือนพฤษภาคมจะเป็นช่วงที่ตรงกับทุเรียนเวียดนามออกมากเช่นกัน
นายเซียว เย่าเหิง (Mr.Xiao Yadheng) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ม่านกู่หวาง ฟู๊ด จำกัด เปิดเผยว่า มีโรงคัดบรรจุรับซื้อทุเรียนที่จันทบุรี 3 แห่ง และมีห้องเย็น 2 แห่ง ที่ระยอง และสงขลา ต้องการรับซื้อทุเรียนทุกเกรด ทุกไซซ์ ปีละประมาณ 20,000 ตัน แต่ซื้อได้เพียง 7,000-8,000 ตัน เพราะมีโรงงานห้องเย็น แปรรูปรองรับยังไม่เต็มการผลิต ปีนี้พยายามที่จะซื้อทุเรียนภาคตะวันออกจากเกษตรกรโดยตรงไม่ผ่านนายหน้า ปี 2567 ตั้งเป้าไว้ 15,000 ตัน จากปีที่ผ่านมารับซื้อทุเรียนไม่ถึง 10,000 ตัน
ทางด้านแผงรับซื้อทุเรียน “มินิโฟว์” ที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ให้ข้อมูลว่า แผงเพิ่งจะเปิดรับซื้อวันที่ 5 เมษายน 2567 และที่ผ่านมาจากกรณีที่มีการตัดทุเรียนส่งออกไปจีน และมีการตัดทุเรียนอ่อนติดไปด้วย ทำให้ตลาดปลายทางขายไม่ออก พ่อค้าขาดทุนกันมาก ทำให้ล้งหลาย ๆ รายไม่กล้าเปิดแผงรับซื้อทุเรียน แต่จะลงไปรับซื้อในสวนเพื่อให้เห็นสภาพที่แท้จริงของทุเรียนว่าเป็นอย่างไร
แหล่งข่าวจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทุเรียนเวียดนาม เปิดเผยถึงกรณีที่ศุลกากรจีนมีการตรวจพบโลหะหนัก (สารแคดเมียม) ตกค้างในทุเรียนเวียดนาม 30 ลอตที่ส่งไปขายเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยอาหารของประเทศจีน ว่า กรณีมีโลหะหนัก (สารแคดเมียม) ตกค้างในทุเรียนจากเวียดนามเป็นสารที่อยู่ในระเบิดตั้งแต่ครั้งสงครามเวียดนาม จะไม่มีผลต่อตลาด หรือราคาทุเรียนไทย แต่อาจจะทำให้ชะงักช่วงเวลาสั้น ๆ และคาดว่าเวียดนามจะสามารถจัดการเรื่องมาตรการการปรับปรุงแก้ไขให้กับหน่วยงานอารักขาพืช เพื่อนำส่งข้อมูลให้ศุลกากรแห่งชาติจีนโดยเร็ว
รายงานข่าวจากฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว เปิดเผยว่า ปี 2566 จีน นำเข้าทุเรียนจากเวียดนาม 493,000 ตัน มูลค่ากว่า 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 34.6 โดยราคาทุเรียนหมอนทองเวียดนาม เกรด A มีมูลค่าถึง 218,000-230,000 ดองต่อกิโลกรัม (310-330 บาท) เกรด B 195,000-200,000 ดอง (278-285 บาท) และเกรด C 100,000-140,000 ดอง (143-200 บาท) ส่วนราคาทุเรียนรีเสา (Ri 6) ทรงตัวที่ 160,000 ดอง (228 บาท) สำหรับเกรด A และ 70,000 ดอง (100 บาท) สำหรับเกรด C ราคา 110,000 ดอง (127 บาท)
- ทุเรียนเวียดนามมาแรง ครองส่วนแบ่งตลาดจีน 31.8% เตรียมพุ่งสู่เป้าหมาย-แซงไทย
- ศุลกากรจีนพบโลหะหนักตกค้างในทุเรียนเวียดนาม 30 ลอต เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย
- “ทุเรียนเวียดนาม” มาแรง จีนนำเข้าพุ่ง 5.4 หมื่นล้าน คู่แข่งสำคัญ ”ทุเรียนไทย”
- ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกในเวียดนามราคาพุ่ง 50% คนจีนแห่ซื้อเป็นของขวัญตรุษจีน
- “ทุเรียนเวียดนาม” มาแรง จีนนำเข้าพุ่ง 5.4 หมื่นล้าน คู่แข่งสำคัญ ”ทุเรียนไทย”