นุสรา อัสสกุล ซีอีโอและเจ้าของบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต ผงาดนั่งนายกสมาคมประกันชีวิตไทยคนใหม่ รับไม้ต่อ “สาระ ล่ำซำ” มั่นใจเบี้ยรวมสิ้นปีโตระหว่าง 2-4% แตะ 6.4-6.5 แสนล้านบาท ชี้เร่งแก้ความท้าทายเคลมประกันสุขภาพ-ฉ้อฉลประกัน
วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 การประชุมประจำปี 2567 ของสมาคมประกันชีวิตไทย (TLAA) ในวันนี้ มีวาระสำคัญในการเลือกนายกสมาคมประกันชีวิตไทยคนใหม่ เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งแทน นายสาระ ล่ำซำ ที่ครบวาระ
โดยการประชุมใช้เวลายาวนานที่สุดครั้งหนึ่ง และผลประชุมมีมติเลือก นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ประจำปี 2567-2569 พร้อมทั้งได้เลือกกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ ประกอบด้วย
1. นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย
2. นายสาระ ล่ำซำ อุปนายกฝ่ายการตลาด
3. นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ อุปนายกฝ่ายบริหาร
4. นายนิคฮิล อาซวานิ แอดวานี อุปนายกฝ่ายวิชาการ
5. นายโชน โสภณพนิช เลขาธิการสมาคม
6. นายสุทธิ รจิตรังสรรค์ เหรัญญิกสมาคม
นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า การเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมในครั้งนี้ไม่ง่าย เพราะมีความท้าทายรออยู่อีกมาก
โดยเฉพาะเรื่องการประกันสุขภาพภายใต้มาตรฐานใหม่ และปัญหาของเคลมประกันสุขภาพที่ธุรกิจมองว่าถ้าจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนต้องสามารถบริหารจัดการกับปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งได้มอบให้ทางคุณสาระ ล่ำซำ ช่วยรับผิดชอบดูแลปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญมากกับภาคธุรกิจประกันชีวิตและลามไปถึงธุรกิจประกันวินาศภัยด้วย
นอกจากนี้ได้มอบให้คุณบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ช่วยดูแลเรื่องปัญหาการฉ้อฉลประกันภัยที่ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังคงเจอปัญหาอยู่
สำหรับวิสัยทัศน์ของสมาคมยังคงมุ่งมั่นเป็นองค์กรกลางชั้นนำของบริษัทประกันชีวิตและกลุ่มวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันชีวิตเพื่อสู่ความเป็นเลิศ เพื่อประโยชน์ของประชาชน สังคม และประเทศชาติ โดยมีพันธกิจ 4 เรื่องคือ
1. เป็นองค์กรหลักของธุรกิจประกันชีวิต 2. เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการในการประสานงานกับภาครัฐ 3. ช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของธุรกิจประกันชีวิตและผู้เกี่ยวข้อง และ 4. ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ เนื่องจากในปัจจุบันคนไทยทำประกันชีวิตแค่ 40% ของจำนวนประชากร ยังเหลืออีกกว่า 60% ที่ไม่ทำประกัน
โดยเป้าประสงค์ของสมาคมคือ ต้องการสนับสนุนให้ธุรกิจประกันชีวิตเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน และต้องการสร้างมาตรฐานให้กับประกันชีวิตเพื่อสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งรู้ว่าการแข่งขันสูง ดังนั้นการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ต้องมีประสิทธิภาพและความสามารถในการบริหารจัดการ
รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้วย และมุ่งสนับสนุนให้ภาคธุรกิจได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพราะธุรกิจประกันชีวิตจำเป็นต้องได้ข้อมูลในการวิเคราะห์อย่างมาก รวมทั้งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์
และอยากให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของการประกันชีวิต และยกระดับคุณภาพตัวแทนประกันชีวิตสู่ความเป็นมืออาชีพ โดยนำเสนอจากความต้องการของลูกค้า มากกว่าเฉพาะผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการขาย
นางนุสรา กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจว่า ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย. 2567) มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม (Total Premium) อยู่ที่ 311,414 ล้านบาท เติบโต 3.80% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) มาจาก 1. เบี้ยรับรายใหม่ (New Business Premium) 88,391 ล้านบาท เติบโต 1.83% ซึ่งเบี้ยรับรายใหม่แยกออกเป็นเบี้ยปีแรก (First Year Premium) 57,573 ล้านบาท เติบโต 1.98% และเบี้ยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) 30,818 ล้านบาท เติบโต 1.55%
และ 2. เบี้ยปีต่ออายุ (Renewal Premium) 223,023 ล้านบาท เติบโต 4.61% มีอัตราความคงอยู่ใกล้เคียงเดิมที่ 83% โดยถือว่าเบี้ยปีต่ออายุเติบโตได้ค่อนข้างดี สวนทางเบี้ยซิงเกิลพรีเมียมเติบโตไม่ได้หวือหวา
“ผู้นำ 10 อันดับแรกในธุรกิจประกันชีวิต มีมาร์เก็ตแชร์จากเบี้ยรับรายใหม่รวมกันเกือบ 90% ส่วนเบี้ยรับรวมสูงถึง 92%”
โดยสินค้าพระเอกยังคงเป็นกรมธรรมสามัญ แบบประกันตลอดชีพเติบโตเกือบ 20% ขยับขึ้นมามีมาร์เก็ตแชร์ 17.24% ตามมาด้วยสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพเติบโต 14.33% มีมาร์เก็ตแชร์ 16.52% และสัญญาเพิ่มเติมประกันโรคร้ายแรงเติบโต 8.50% มีมาร์เก็ตแชร์ 3.15% ซึ่งหลังจากเกิดวิกฤตโควิดหลายคนให้ความสำคัญและตระหนักถึงประโยชน์ของการประกันสุขภาพเพื่อเป็นหลักประกันในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี ขณะที่ประกันสะสมทรัพย์ยังครองมาร์เก็ตแชร์เป็นส่วนใหญ่ 42.38% แต่เบี้ยอาจจะลดลงเล็กน้อย 1.18% เพราะในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นก็มีความท้าทายในการขายประกันออมทรัพย์อยู่
ส่วนช่องทางการขาย พระเอกหลักยังคงเป็นการขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) ซึ่งมีเบี้ยรับรวมถึง 50% เติบโต 1.98% ตามมาด้วยการขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) มีเบี้ยรับรวม 39.34% เติบโต 4.28% และรองลงมาคือการขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) มีเบี้ยรับรวมคิดเป็นสัดส่วน 6.06% เติบโตถึง 13.42% ขณะที่ช่องทางการขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ (Tele Marketing) มีเบี้ยรับรวมคิดเป็นสัดส่วน ติดลบ 8.43% ซึ่งทราบดีว่ากฎหมาย PDPA ไม่เอื้อและเจอคอลเซ็นเตอร์กระทบการขายอย่างหนัก
ในแง่ความมั่นคงและความยั่งยืนของธุรกิจประกันชีวิตโดยรวม มีอัตราความเพียงพอของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (CAR) อยู่ที่ 360% จากเกณฑ์ขั้นต่ำ 140% สะท้อนธุรกิจที่มั่นคงมาก โดยมีสินทรัพย์รวม 4 ล้านล้านบาท เป็นสินทรัพย์ลงทุน 3 ล้านล้านบาท
นางนุสรา กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลัง ยังชื่อว่ากการเติบโตยังคงเป็นไปตามประมาณการเดิมที่คาดว่าเบี้ยรับรวมของอุตสาหกรรมจะเติบโต 2-4% หรือมีเบี้ยระหว่าง 646,113-658,782 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ที่ 2.5%
แต่อย่างไรก็ตามการเติบโตของเบี้ยประกันคงจะมาจากลูกค้าในกลุ่มเซกเมนต์ระดับบนเป็นหลัก เพราะในเวลานี้กลุ่มฐานรากหรือผู้มีรายได้น้อยเผชิญความลำบากจากผลพวงทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นการขายประกันคงจะมุ่งเน้นตลาดที่มีกำลังซื้อและมุ่งความต้องการทางด้านสินค้าประกันสุขภาพ ที่เชื่อว่าจะยังคงเติบโตได้ดี แต่ก็จะมีความท้าทายต่อภาคธุรกิจทั้งปัญหาการเคลมและการฉ้อฉล โดยเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลเติบโตเร็ว และประกันกลุ่มมีเคลมสินไหมที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นต้องบริหารจัดการให้ได้