คอลัมน์ : สัมภาษณ์
“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB ถือเป็นซีอีโอของธนาคารกรุงไทยคนแรกที่ได้ต่ออายุนั่งซีอีโอต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 3 (8 พ.ย. 67-7 พ.ย. 71)
ทำให้มีเวลาปฏิบัติหน้าที่ 12 ปี ตั้งแต่การซ่อมสร้าง พลิกฟื้นและทรานส์ฟอร์มกรุงไทย ธนาคารพาณิชย์ของรัฐขึ้นมาอยู่แถวหน้า
หลังจากแจ้งเกิด “เป๋าตัง” ที่เป็นระบบโอเพ่นไฟแนนซ์ คู่ขนานกับแอป “Krungthai Next” โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเป็นโอกาสในการวิ่งให้ทันคู่เทียบหรือคู่แข่ง และสามารถตอบโจทย์ลูกค้าในช่วงการเปลี่ยนผ่านได้
จากสิ่งที่เกิดขึ้นในนั้น ทำให้ลูกค้าจาก 3.5 ล้านคน ก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 40 ล้านคนในช่วงเวลาไม่กี่ปีบนความเชื่อว่าโลกกำลังเข้าสู่ Open Finance
และอีก 4 ปีข้างหน้า บทบาทของธนาคารกรุงไทย ภายใต้การขับเคลื่อนของ “ผยง ศรีวณิช” ที่จะเป็นมากกว่าธนาคารพาณิชย์
ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ซีอีโอกรุงไทยฉายมุมมองว่า ธนาคารกรุงไทยต้องเดินควบคู่ออฟไลน์และออนไลน์ สาขายังมีความจำเป็นในบริบทของเศรษฐกิจไทย เพราะจากลูกค้ากว่า 40 ล้านคน มีลูกค้าที่ใช้สาขาอย่างเดียว 7 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 52% และเป็นกลุ่ม Underserve ที่เข้ามาใช้สวัสดิการแห่งรัฐ ขณะที่มีลูกค้าเดินเข้าสาขาและใช้ดิจิทัลแบงกิ้งคู่ขนานกัน 35 ล้านคน
อย่างไรก็ดีลูกค้าที่ใช้บริการสาขาอย่างเดียว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้สร้างรายได้ ทำให้แบงก์ส่วนใหญ่เร่ง “ปิดสาขา” แต่กรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่ต้องคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก ดังนั้นการจะ “ปิดสาขา” ต้องดูว่าในรัศมี 5 กิโลเมตร ประชาชนมีทางเลือกอื่นหรือไม่ ถ้าไม่มีกรุงไทยก็จะยังต้องเปิดสาขานั้นไว้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ
ดังนั้นกรุงไทยไม่สามารถที่จะเร่งเครื่องดิจิทัลแบบไม่สนใจกลุ่มเปราะบาง เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น วันนี้ KTB จึงเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขามากสุดอยู่ที่ 960 สาขา
แต่ขณะเดียวกันจากการพัฒนาสู่ดิจิทัลก็ทำให้ธนาคารมีกลุ่มลูกค้า New Gen เพิ่มขึ้นอัตโนมัติ ทำให้ธนาคารสามารถปรับส่วนผสมเชิงโครงสร้างของ Portfolio ลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมลูกค้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมาก
“มวยรอง” ที่ผู้นำต้องระวัง
“ผยง” เล่าว่า ปัจจุบันกรุงไทยยังมีสถานะเป็น Underdog คือเป็นมวยรองที่มีความกระตือรือร้นที่จะสู้ และมีการเร่งสปีดเรื่องแวลูมากขึ้น นอกจากราคาหุ้นในส่วนของ ROE และ ROA ปรับตัวดีขึ้น
หลังสถานการณ์โควิด NPL ของกรุงไทยค่าเฉลี่ยถือว่าดีกว่าคู่เทียบพอสมควร และยังมุ่งเน้นเรื่องเสถียรภาพตั้งสำรองในระดับสูง 170-180% ซึ่งมีแค่ BBL ที่สูงกว่านี้ โดยกรุงไทยมุ่งเน้นการเติบโตอย่างสม่ำเสมอและยั่งยืน สะท้อนจากราคาตลาดหุ้นที่ Price to Book Value แม้ว่าจะต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มแบงก์ใหญ่ (D-SIPs) แต่ด้วยการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนองค์กรได้สื่อสารให้นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้น
ซีอีโอกรุงไทยระบุว่า ยุทธศาสตร์ธนาคารคือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และนำเทคโนโลยีมาใช้ พร้อมกับสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจและกลุ่ม Underserve ที่มีความเสี่ยงสูง โดย Virtual Bank จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่จะสร้างการเติบโตในกลุ่มนี้ โดยจะเห็นได้ว่ากรุงไทยตามหลังเรื่องการไปต่างประเทศ เพราะมุ่งหวังที่จะจัดสรรทรัพยากรลงลึกในกลุ่ม Underserve ก่อนที่จะไปต่างประเทศ เพราะทรัพยากรขององค์กรมีจำกัด ณ เวลานี้อยากลงทุนในประเทศมากกว่า
เป๋าตัง ถึง Virtual Bank
หลังจากที่ “ธนาคารกรุงไทย” ได้แสดงบทบาทการเป็นพันธมิตรของรัฐบาล ตอบสนองต่อนโยบายและการขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือไปถึงประชาชนในช่วงโควิด ผ่าน “เป๋าตัง” จนทำให้ประชาชนกว่าครึ่งประเทศรู้จักและเข้าถึงบริการมากขึ้น
“ผยง” กล่าวว่า Virtual Bank คือ New Growth Engine ที่จะทำให้ก้าวไปสู่ธุรกิจที่มากกว่าแบงก์ โดยหัวใจสำคัญก็คือการใช้ Data และ Ecosystem ของพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง AIS และ OR มาช่วยให้การปล่อยกู้ในกลุ่ม Underserve ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“โจทย์การให้บริการ Virtual Bank เกิดจากบริบทข้อจำกัดและความบกพร่องในแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่างในยุโรป Virtual Bank ส่วนใหญ่ผู้ให้บริการเพย์เมนต์ เพราะค่าโอนเงิน ค่าบริการบัตรเครดิตสูงมาก ส่วนจีนมีอีคอมเมิร์ซจำนวนมาก จึงเน้นเรื่องการให้ความสะดวกในการปล่อยกู้”
ส่วนในประเทศไทย อุปสรรคคือการปล่อยกู้กลุ่ม Underserve เพราะไม่มี Data เพียงพอ ดังนั้นกรุงไทยจึงเลือกเข้าไปในชุมชน AIS และ OR โดยทำตัวเป็นแบงก์ในชุมชนเหล่านั้นด้วยต้นทุนต่ำ ซึ่งทั้งสองก็สนใจขอลงทุนด้วย จึงกลายเป็น 3 Partnership ที่แข็งแรงที่สุดให้ความมั่นใจกับสาธารณะในการมาฝากเงิน
“Virtual Bank ต้องมีทั้งเทคโนโลยี และ Data แต่จุดชี้ขาดคือ Data และความสามารถในการวิเคราะห์ Data”
OR-AIS พันธมิตรทรงพลัง
ซีอีโอกรุงไทยอธิบายเพิ่มเติมว่า KTB เริ่มปล่อยสินเชื่อ Digital Lending มา 2-3 ปี ซึ่งการปล่อยกู้ยังมีดาต้าเฉพาะของธนาคารเท่านั้น โดยใช้ AI เข้ามาช่วย โดยปีที่ผ่านมามียอดสินเชื่อราว 7,000 ล้านบาท และปีนี้น่าจะโตได้ถึง14,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถคุม NPL ไม่เกิน 4% ทำให้ทุก ๆ 1 บาทที่ปล่อยจะได้ผลตอบแทนมากกว่าปล่อยกู้แบบเดิมถึง 3 เท่า ด้วยวิธีการค่อย ๆ รู้จักลูกค้าในหลากหลายมิติ ทำให้คุม NPL ได้ ในขณะที่คู่เทียบทะลุไป 10% เรียกว่า แม้จะมาช้ากว่าคนอื่น แต่ก็มีความมั่นคง
ขณะที่สเต็ปการทำ Virtual Bank ของกรุงไทย จะมีข้อมูลและระบบนิเวศของพันธมิตรอย่าง AIS ทั้งข้อมูลลูกค้าจากแอป myAIS ร้านเทเลวิซ และจากการควบรวมกับกัลฟ์ (GULF) ก็มี Digital Asset ของกัลฟ์ไบแนนซ์ พลังงานสะอาด ดาต้าเซ็นเตอร์ที่สามารถแชร์ Economy of Scale ร่วมกันได้ สำหรับ OR ก็มีเรื่องพลังงาน ปั๊มน้ำมันและรีเทล ข้อมูลผู้ใช้บริการปั๊มน้ำมัน รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs
“เมื่อมีพาร์ตเนอร์อีก 2 รายที่ทรงพลัง จะยิ่งตอบโจทย์รัฐ ในการรุกคืบเข้าไปให้บริการกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นพร้อม ๆ กับมี Fair Share ของสภาพคล่องในระบบ”
สำหรับในแง่จุดคุ้มทุนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปีบวกลบ เพราะใช้เงินทุนสูงมากคือ 10,000 ล้านบาท และแต่ละระบบต้องพร้อมก่อนที่แบงก์ชาติจะเปิดผให้ทำในขั้น ๆ ต่อไป หลายประเทศ 5 ปีก็ยังไม่รอด
“ผยง” ย้ำว่า Data และ Ecosystem จะช่วยให้ KTB สามารถเข้าไปในกลุ่ม Underserve ได้ และจะนำกรุงไทยไปสู่ Beyond Banking Business
แก้โจทย์ ศก.นอกระบบ
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ “ผยง” ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนไปพร้อมกับธุรกิจแบงก์ คือการแก้โจทย์ “เศรษฐกิจนอกระบบ” โดยระบุว่า เป็นเรื่องที่ธนาคารให้ความสำคัญมาก ทั้งด้านความเหลื่อมล้ำ และ Financial Inclusion เพราะประเทศไทยมีสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบสูงสุดประเทศหนึ่งในโลกถึงกว่า 48% ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ทำให้ไม่สามารถเติบโตได้
โดยตัวเลขนี้นำมาซึ่งแรงงานนอกระบบ 51% ซึ่งรัฐต้องจัดสรรงบประมาณบางส่วนไปดูแลเรื่องรักษาพยาบาล แต่คนกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในระบบการเสียภาษี ซึ่งเป็นความท้าทายที่กัดกร่อนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความบิดเบือน
ปัจจุบันมีผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 12 ล้านคน แต่มีคนเสียภาษี 4 ล้านคน แต่มีคนขอสวัสดิการของรัฐ 70 ล้านคน ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบที่เป็นต่างด้าว เป็นอีกตัวที่กัดกร่อน
โดย World Bank ระบุผลลัพธ์ของการมีเศรษฐกิจนอกระบบที่สูง ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำสูง ผลิตภาพต่ำ ไม่สามารถแข่งขันกับชาวบ้านได้ ความยืดหยุ่น หรือภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนต่อระบบเศรษฐกิจต่ำ รวมถึงธรรมาภิบาลต่ำ และความยั่งยืนล้าหลัง
ขณะที่รัฐบาลไม่มีรายได้ที่จะลงทุน ต้องตั้งงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในนามของสมาคมธนาคารไทยอยากจะสื่อว่า การขึ้นภาษีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างภาษี ภาษีไม่เพียงพอต่องบประมาณรายจ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบฯสวัสดิการ ไม่ใช่งบฯลงทุน
ซีอีโอกรุงไทยทิ้งท้ายว่า เมื่อประเทศขาดการลงทุน การแข่งขันสู้ได้ยาก ก็ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ