กยศ. ย้ำการเบี้ยวจ่ายหนี้อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานโกงเจ้าหนี้และความผิดตามกฎหมายอื่น จี้ควรนึกถึงรุ่นน้อง
นางสาวนันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ย้ำเตือนว่า “ตามที่มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อ้างตัวเป็นผู้กู้ยืมเงิน กยศ. โพสต์รีวิวการบิดหนี้ กยศ. โดยชักชวนผู้กู้ยืมเงินไม่ให้ชำระหนี้คืนและโอนทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับคดีนั้น กยศ.ขอย้ำเตือนว่าการเบี้ยวหนี้โดยโอนทรัพย์สินไปให้ผู้อื่นโดยมีเจตนาไม่ให้ กยศ.ได้รับชำระหนี้นั้น นอกจาก กยศ.จะสามารถยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอเพิกถอนการโอนทรัพย์สินนั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 แล้ว ผู้กู้ยืมเงินยังอาจมีความรับผิดทางอาญาฐานโกงเจ้าหนี้
ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 ซึ่งกำหนดว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
นอกจากนี้ ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดย่อมเข้าข่ายผู้สนับสนุน ซึ่งจะมีความผิดและได้รับโทษทางอาญาเช่นกัน โดยที่ผ่านมามีผู้กู้ยืมเงินได้ดำเนินการดังกล่าว ซึ่ง กยศ.ได้มีการดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ไปแล้วกว่า 40 ราย
“ขอย้ำว่า กยศ.เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์ในการให้โอกาสทางการศึกษาและประชาชนผู้ขาดแคลน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เงินทุกบาทที่ผู้กู้ยืมเงินนำมาชำระหนี้จะส่งต่อถึงนักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไป เพื่อให้มีโอกาสทางการศึกษาเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงขอให้ผู้กู้ยืมเงินมีจิตสำนึกในการชำระหนี้คืนในทันทีที่มีโอกาส เพื่อให้เงินทุกบาทตกทอดแก่นักเรียน นักศึกษารุ่นต่อไป ซึ่งอาจเป็นบุตรหลานหรือญาติพี่น้องของท่าน” ผู้จัดการกองทุนกล่าวในที่สุด