SPCG ยื่นฟ้อง กฟภ. ละเมิดข้อตกลง เรียกค่าเสียหาย 3.7 พันล้าน

เอสพีซีจี-เซท เอนเนอยี ยื่นฟ้อง “การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” กรณีละเมิดข้อตกลงร่วมพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในพื้นที่โครงการอีอีซี ขอศาลปกครองสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย 3,709 ล้านบาท

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯว่า บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด ได้ยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กระทำละเมิดบริษัท เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อศาลปกครองกลาง

สืบเนื่องจากวันที่ 9 สิงหาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือบริษัทในเครือของ กฟภ. เข้ามาศึกษาและวางแผนผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด การเชื่อมต่อเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้า การจำหน่ายพลังงาน การปรับปรุง บำรุงและรักษาระบบการผลิตและเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าสะอาด ให้สามารถใช้ในการสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

ซึ่ง กฟภ.มีบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ) เป็นบริษัทในเครือแห่งแรกและแห่งเดียว จึงมอบหมายให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่งจำหน่ายเข้าระบบโครงข่ายของ กฟภ. ในเขตพื้นที่อีอีซี

แต่เนื่องจากบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ เป็นรัฐวิสาหกิจที่มี กฟภ.เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด จึงมีข้อจำกัดหลายประการโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ และการจัดหาแหล่งเงินทุนในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ บริษัทซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และเป็นบริษัทผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟรายแรกของประเทศไทย จึงได้รับการเชิญชวนให้เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินโครงการนี้ร่วมกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ

ADVERTISMENT

และวันที่ 28 สิงหาคม 2562 เกิดการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ และสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ในพื้นที่โครงการอีอีซี ระหว่าง กฟภ. บริษัท และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ จนช่วงปลายปี 2562 มีการร่วมกันก่อตั้งบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (บริษัท เซทฯ) ขึ้นมาเพื่อดำเนินโครงการนี้โดยเฉพาะ

ซึ่งวันที่ 30 กันยายน 2562 คณะกรรมการของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ และของ กฟภ. ต่างมีมติเห็นชอบให้ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ร่วมทุนในบริษัท เซทฯ จำนวน 20% ของเงินลงทุนทั้งหมด และต่อมาวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ก็ได้มีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัท เซทฯ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 25%

ADVERTISMENT

โดยกระบวนการคัดเลือกให้บริษัทมาเป็นผู้ร่วมทุนในการดำเนินโครงการนี้เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนมาเป็นผู้ร่วมทุนของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ และ กฟภ.เอง นอกจากนี้ กฟภ.ยังได้เชิญบริษัท เซทฯ มาทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยให้บริษัท เซทฯ เป็นผู้พัฒนาโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสำรอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) ให้แก่พื้นที่ในโครงการเขตอีอีซี

โดยในระยะแรกการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีขนาดไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ มูลค่าเงินลงทุน โครงการประมาณ 23,000 ล้านบาท เพื่อรับซื้อและส่งจำหน่ายในพื้นที่อีอีซี และต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 กฟภ.ได้อนุมัติให้จัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่เขตอีอีซี ระหว่างบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ กับบริษัท เซทฯ

ภายหลังจากวันที่ กฟภ.ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ในวันถัดไป โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟภ. กับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ระบุว่า กฟภ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า และในข้อ 8 ของสัญญาระบุเรื่องการโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ผลิตไฟฟ้าว่า

ห้ามมิให้ผู้ผลิตไฟฟ้าโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับผู้อื่น เว้นแต่ผู้รับซื้อไฟฟ้า (กฟภ.) อนุญาตให้โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ ส่วนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่างบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ กับระบุว่าบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า และบริษัท เซทฯ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า

กล่าวคือ การทำสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้บริษัท เซทฯ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ส่งให้แก่ กฟภ.นั่นเอง และต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 กฟภ.ก็มีหนังสือแจ้งบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ว่า กฟภ.เห็นชอบในการโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ผลิตไฟฟ้าตามสัญญาดังกล่าวจากบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ไปให้บริษัท เซทฯแล้ว

รวมทั้ง กฟภ.ยังเป็นผู้แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินโครงการนี้ โดยบริษัท เซทฯ ให้ สกพอ.ทราบมาตลอด และเนื่องจากตามสัญญาระหว่างบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ กับบริษัท เซทฯ กำหนดให้บริษัท เซทฯ จัดหาที่ดินเพื่อใช้เป็นที่ตั้งโครงการและในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ และมีการกำหนดวัน SSPI หรือวันติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2569

บริษัท เซทฯ จึงได้เร่งดำเนินการจัดซื้อที่ดินจากเอกชนเพื่อใช้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่อีอีซี โดยเป็นที่ดินที่สามารถผลิตและจ่ายไฟเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟภ.ได้ และได้ผ่านการพิจารณาของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ และ กฟภ.แล้ว ทั้งยังใช้เงินลงทุนเกี่ยวกับการเคลียร์พื้นที่ ปรับถมดิน ล้อมรั้ว และยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ้างที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ

เช่น ด้านการเงิน การเงินอิสระ กฎหมาย เทคนิค กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการโอนกิจการ ตามที่สถาบันการเงินผู้อนุมัติเงินกู้ในการดำเนินโครงการนี้กำหนด รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อขอใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าในเขตอีอีซี และเนื่องจากตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการขอรับใบอนุญาต และการอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2551 กำหนดว่า

ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าต้องมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือสัญญาจะซื้อจะขายไฟฟ้ามาแสดงด้วย แต่เวลาผ่านไปพอสมควรแล้ว กฟภ.ก็ไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟภ. กับบริษัท เซทฯเสียที วันที่ 7 มีนาคม 2567 บริษัท เซทฯ จึงมีหนังสือถึงบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ ในฐานะคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าและเป็นบริษัทในเครือของ กฟภ. เพื่อขอให้เร่งรัด กฟภ.ดำเนินกระบวนการให้บริษัท เซทฯ เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพื่อให้บริษัท เซทฯ นำเอาสัญญานี้ไปแสดงต่อหน่วยงานผู้มีอำนาจในการพิจารณาออกใบอนุญาตเพื่อดำเนินโครงการต่อไป

และในวันเดียวกันมีหนังสือถึง กฟภ. เพื่อขอสงวนสิทธิ์ขยายระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เนื่องจากความล่าช้าดังกล่าว

แต่วันที่ 22 เมษายน 2567 กฟภ.กลับมีหนังสือแจ้งบริษัท พีอีเอ เอ็นคอมฯ และบริษัท เซทฯ ว่า กฟภ.ขอยกเลิกหนังสือแจ้งให้ความยินยอมในการโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เคยให้ไว้ และบริษัท เซทฯ ไม่ใช่คู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. ที่จะอ้างหรือใช้สิทธิการขอขยายระยะเวลาตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ รวมทั้งมีหนังสือแจ้งไปยัง กพอ.ว่า กฟภ.ขอยกเลิกการให้ความยินยอมในการโอนสิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แก่บริษัท เซทฯดังกล่าว

รวมทั้งขอยกเลิกการยืนยันพื้นที่ติดตั้งโครงการและอัตราค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อในโครงการตามที่ กฟภ.เคยแจ้งให้ กพอ.ทราบด้วย การกระทำดังกล่าวของ กฟภ. ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงความร่วมมือและพันธกิจในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ได้กระทำร่วมกันมาระหว่าง กฟภ. และบริษัท พีอีเอ เอนคอมฯ กับบริษัท และเป็นเหตุให้บริษัท เซทฯ อยู่ในสภาพถูกแช่แข็งให้ตายทั้งเป็น เพราะไม่สามารถดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต่อไปได้

รวมทั้งไม่สามารถประกอบกิจการอื่นได้ เนื่องจากบริษัท เซทฯ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กับบริษัท พีอีเอ เอนคอมฯ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ. ในโครงการนี้เท่านั้น ดังนั้นบริษัท เซทฯ และบริษัท ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เซทฯ ที่ได้ใช้เงินลงทุนไปจำนวนมากเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการนี้ จึงได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงจากการกระทำละเมิดของ กฟภ.ดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ บริษัท เซทฯ และบริษัท จึงจำเป็นต้องใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจาก กฟภ. ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีนี้ เพื่อขอให้ศาลปกครองกลางได้พิจารณาพิพากษาให้ กฟภ.ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัททั้งสอง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,709,300,451.24 บาท

ปัจจุบันรอศาลปกครองมีคำสั่งรับคำฟ้องหรือมีคำสั่งใด ๆ ต่อไป โดยหากศาลพิพากษาให้ชนะคดีคาดว่าจะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจาก กฟภ. ไม่น้อยกว่า 2,000,000,000 บาท