คลังล้างหนี้เสีย 3.5 ล้านคน เคลียร์ประวัติต่ำแสน-ปล่อยกู้เพิ่ม

พิชัย ชุณหวชิร
พิชัย ชุณหวชิร

คลังยกระดับแก้หนี้ หลัง “คุณสู้ เราช่วย” ลูกค้าเข้าร่วมไม่มาก ขุนคลัง “พิชัย” เล็งใช้เงิน FIDF 20,000-30,000 ล้าน ช่วยกลุ่มหนี้เสียไม่เกิน 100,000 บาท แย้มซื้อหนี้จากแบงก์มาให้ AMC บริหาร-ดึงเจรจา-เติมเงินให้ 10,000-20,000 บาท สร้างเครดิตใหม่ ชี้ 3 ปีหากชำระได้ปกติ “ล้างสถานะเครดิต” มั่นใจช่วยลดระดับหนี้ครัวเรือนต่ำลงได้ ขณะที่ “แบงก์” รับไอเดียคาดได้ข้อสรุปใน 2 สัปดาห์ ด้าน “เครดิตบูโร” ตอกย้ำปัญหาหนี้ปัจจุบันเข้าขั้น “วิกฤต” แนะเร่งช่วยกลุ่มเจอผลกระทบโควิดยังไม่ฟื้น

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวถึงการแก้หนี้คนไทยว่า การหารือกับสมาคมธนาคารไทย พูดคุยกันถึงการปล่อยสินเชื่อใหม่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” คาดว่าจะมีคนเข้าสู่กระบวนการไม่เกิน 50% ทำให้เงินที่กันมาจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จะยังเหลืออีก 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะจะใช้ไปแค่ราว 1 หมื่นล้านบาท จากทั้งหมดเกือบ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาหนี้ต้องมีหลายมาตรการ แก้เป็นกลุ่ม ๆ ไป เพราะแต่ละกลุ่มปัญหาไม่เหมือนกัน วิธีแก้จะต่างกันไป โดยภาพรวมหนี้ครัวเรือนของไทยทั้งหมดในปัจจุบันมีอยู่ 16.3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย หรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งสิ้น 1.22 ล้านล้านบาท หรือ 6.6% ของหนี้ครัวเรือน หรือมีจำนวนลูกหนี้ราว 9 ล้านบัญชี หรือราว 5 ล้านราย

“ที่ผ่านมา เราทำคุณสู้ เราช่วย เพื่อให้เลือดหยุดไหลก่อน เพราะกลัวว่าส่วนที่จะไม่มีปัญญาจ่ายจะไหลมากขึ้น จึงดึงส่วนที่เป็นหนี้เสียน้อย ๆ มาเคลียร์ก่อน ที่เพิ่งค้างชำระไม่เกิน 1 ปี แต่พร้อมจะเป็นเอ็นพีแอล วันนี้เราก็ทำอยู่

แต่เงินที่เราเตรียมไว้ทำมีคนเข้ามากว่า 30% เชื่อว่าที่สุดแล้วจะไม่เกิน 50% เพราะหนี้ที่เสียนี้จะมี 2 กลุ่ม คือมีหลักทรัพย์ค้ำประกันกับไม่มี คนที่มาติดต่อคือคนที่มีหลักประกัน ส่วนคนไม่มีก็จะไม่รับโทรศัพท์เลย จึงทำอะไรต่อไม่ได้ เพราะหาตัวไม่เจอ”

ขยับแก้หนี้เสียอีก 1.24 แสน ล.

นายพิชัยกล่าวว่า ขณะนี้หารือกันถึงการแก้ไขหนี้กลุ่มต่อไป คือ กลุ่มเอ็นพีแอล เราก็มาดูว่า คนไม่มีหลักประกันอยู่ตรงไหน ก็พบว่าส่วนใหญ่คือพวกมีหนี้น้อย ๆ กู้ไปบริโภค พวกสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเราก็เข้าไปดูกลุ่มเป็นหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท

ADVERTISMENT

พบว่ามีค้างอยู่ประมาณ 1.24 แสนล้านบาท หรือ 10% ของหนี้เสียทั้งหมด ส่วนจำนวนคนมีถึง 3.5 ล้านคน หรือ 65% ดังนั้นถ้าแก้ตรงนี้ก่อน จะแก้ได้ถึง 65% ของคนที่มีปัญหาในประเทศ

กลุ่มหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท ที่ไม่มีหลักประกันและเป็นหนี้เสียมาเกิน 1 ปีนี้ ก็เชื่อว่าแบงก์มีการตั้งสำรองหนี้สูญหมดแล้ว ตัดเป็นค่าใช้จ่ายไปหมดแล้ว ซึ่งการตัดค่าใช้จ่ายทำให้แบงก์จ่ายภาษีน้อยลงด้วย เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี ดังนั้นกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่แบงก์น่าจะเต็มใจให้ทำ

ADVERTISMENT

ซื้อหนี้จากแบงก์แบบไม่แพง

รมว.คลังกล่าวอีกว่า กลุ่มลูกหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาทดังกล่าว แบงก์เองบริหารจัดการยาก เพราะหาคนซื้อก็ยาก จึงชวนแบงก์มาคุยกันเพราะเป็นส่วนที่แบงก์เองก็น่าจะไม่อยากเก็บไว้ แล้วที่ขายกันอยู่ก็ได้กำไรไม่มาก ไม่ถึง 1% ก็มี ซึ่งจะซื้อออกมาบริหารด้วยราคาที่ไม่แพง เพราะแบงก์ต้องการล้างบัญชีเหล่านี้ออกไปเช่นกัน

“แบงก์เขาก็อยากล้างบัญชีเหมือนกัน เพราะล้างไปได้ก็ดี แล้วก็มีคนกลัวว่าถ้าเราซื้อแพงแล้วจะเสียหาย หรือจะเป็นการเอื้อประโยชน์แบงก์ ดังนั้นยืนยันว่าจะซื้อในส่วนที่อธิบายได้ และถูกที่สุด ซึ่งสิ่งที่ยากคือซื้อมาแล้วบริหารจัดการอย่างไร เพราะบางคนตามตัวยาก หาตัวไม่เจอ แต่พวกนี้บางบริษัทก็เก่งสามารถตามได้”

ให้ AMC บริหาร-ดึงลูกหนี้เจรจา

สำหรับผู้ที่จะเข้ามาซื้อหนี้จากแบงก์ นายพิชัยกล่าวว่า กำลังพิจารณาอยู่ อาจจะใช้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่มีอยู่แล้ว หรือจะตั้งใหม่ ต้องพิจารณา แต่อยากทำให้เร็วที่สุด ไม่ให้นานเกิน 3 เดือน 6 เดือน

นายพิชัยกล่าวว่า หลังซื้อหนี้มาแล้ว ต้องดึงลูกหนี้มาเจรจา โดยต้องประกาศว่ารอบนี้ไม่มีการลงโทษ เพราะอยากแก้ปัญหาจริง ๆ ให้เข้ามาคุยกัน ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากเศรษฐกิจที่ไม่ดีมายาวนาน และในกลุ่มนี้จะมี 2 ส่วน คือ กลุ่มที่มีความสามารถชำระในช่วงก่อนโควิด เป็นลูกหนี้ดี กับกลุ่มที่ไม่มีความสามารถ

“อาจจะตั้ง AMC หรือใช้ AMC โครงสร้างเดิม แล้วก็มากำหนดกติกาว่าหนี้กลุ่มนี้จะเจรจาอย่างไร ถ้าผมคิดไปเลยว่าคนกลุ่มนี้สามารถหลุดจากเครดิตบูโรได้ ก็บอกเขาไปว่า ถ้าคุณมาเคลียร์ ผมมีช่องทางให้ ถ้าคุณค้าขายจริง เป็นเด็กดีจริง เราจะเริ่มเติมเงินให้คุณบางส่วน”

เติมเงินให้-ช่วยล้างประวัติ

นายพิชัยกล่าวว่า เมื่อซื้อหนี้มาแล้วดึงลูกหนี้มาเจรจา ลูกหนี้กลุ่มนี้จะยังติดประวัติเครดิตบูโรอยู่ แต่กรณีนี้จะทำให้หลุดเร็วขึ้น คิดกันว่าน่าจะมีมาตรการที่ให้ลูกหนี้ดังกล่าวที่ยังติดเครดิตบูโร แต่สามารถเข้าถึงเงินใหม่ได้ โดยไม่เกี่ยวกับเครดิตที่ติดอยู่ คือเมื่อเติมเงินให้ก็จะดูความสามารถการชำระเงินที่เติมให้

ลูกหนี้กลุ่มที่ว่านี้ส่วนหนึ่งหากทำมาค้าขายอาจไปกู้นอกระบบ กระทรวงการคลังมีโปรแกรมที่จะให้โอกาส อย่างที่ธนาคารออมสินทำ ที่ให้กู้รายละ 10,000-20,000 บาท หรือรายอื่นก็มีทำลักษณะนี้อยู่ 2-3 บริษัท ทำมาแล้ว 3 ปี และเป็นหนี้เสียน้อย คนจ่ายตรงเวลา เพราะลูกหนี้กลุ่มนี้จะกู้น้อย

สำหรับลูกหนี้หากจะหลุดจากเครดิตบูโรนั้น จะกำหนดเงื่อนไข แต่ต้องดูว่าอาจจะต้องขึ้นกับประเภทสินเชื่อด้วย ถ้าลูกหนี้ชำระได้ ผ่านไป 3 ปี เราดูแล้วเครดิตดีขึ้น อาจเพิ่มวงเงินให้เป็น 3 หมื่นบาท คนก็เข้าถึงสินเชื่อได้

มั่นใจช่วยลดระดับหนี้ครัวเรือน

นายพิชัยกล่าวว่า หากแก้ปัญหากลุ่มหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาทนี้ได้ ภาพรวมหนี้ครัวเรือนของประเทศก็จะลดลง เพราะกลุ่มนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก โดยสิ้นปี 2568 นี้ คาดว่าหนี้ครัวเรือนจะลดเหลือระดับ 88% และเมื่อแก้ลูกหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาทนี้ได้ หนี้ครัวเรือนก็จะลดลงไปอีก ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่เกิน 1 แสนบาท ก็เป็นกลุ่มที่ต้องพิจารณาต่อไป โดยต้องดูว่าแบงก์จะปรับโครงสร้างหนี้เองได้อย่างไร

ให้เวลาแบงก์คิด 2 สัปดาห์

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประชุมคณะกรรมการสมาคมธนาคารไทย (TBA) และสมาชิกธนาคาร ร่วมกับนายพิชัย เมื่อค่ำวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ประเด็นหารือร่วมกันเป็นเรื่องของการแก้หนี้เป็นหลัก และการให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

การแก้หนี้พูดถึงกลุ่มลูกหนี้รหัส 21 หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ก่อนหน้านั้นเคยเป็นลูกค้าที่ดี แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.5-3.6 ล้านคน หรือคิดเป็นมูลหนี้ราว 1-1.2 แสนล้านบาท โดยจะไม่ได้ช่วยเหลือลูกหนี้แบบหว่านแหทุกคน จะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เพื่อป้องกันการก่อให้เกิด Moral Hazard (วัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ยกโมเดลต้มยำกุ้งมาเทียบ

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า แนวทางการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC เพื่อรับซื้อหนี้จากประชาชนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีรูปแบบหรือรายละเอียดที่ชัดเจน เป็นการพูดคุยความเป็นไปได้ในเบื้องต้น โดยหยิบยกโมเดลในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 มา ที่ตอนนั้นตั้ง AMC ขึ้นมารับซื้อหนี้ที่มีปัญหา ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยก็มีบริษัท AMC ค่อนข้างมากแล้ว ดังนั้นจึงต้องรอความชัดเจน

“ในที่ประชุมพูดคุยหลายเรื่อง รมว.คลังอยากให้ธนาคารช่วยในหลายเรื่อง แต่หลัก ๆ จะเป็นเรื่องแก้หนี้ที่อยากให้เราช่วยเยอะ ๆ ซึ่งธนาคารเองก็แบ่งรับแบ่งสู้ แล้วสะท้อนว่าหากช่วยลูกหนี้ล้างหนี้แล้วอาจจะไม่จบ เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าลูกหนี้ไปก่อหนี้ใหม่หรือไม่ โดยเฉพาะไปปูดที่สหกรณ์

เพราะไม่ได้อยู่ในเครดิตบูโร ทำให้ธนาคารมองไม่เห็น หรือเรื่องที่อยากให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้น อาจต้องให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาลดความเสี่ยงให้”

แหล่งข่าวกล่าวว่า น่าจะมีการประชุมอีกครั้งภายใน 2-3 สัปดาห์ ระหว่างนี้ก็ให้ทุกคนกลับไปพิจารณาแนวทางเพื่อกลับมาหารือกันอีกที

เล็งใช้ AMC-ออมสินซื้อหนี้

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การซื้อหนี้จากแบงก์เป็นไปได้ที่จะใช้บริษัท บริหารสินทรัพย์ อารีย์ จำกัด เข้ามารับซื้อ ขณะที่การเติมเงินก็ให้ธนาคารออมสินที่มี สินเชื่อสร้างเครดิต สร้างโอกาส ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ใส่เงินให้ลูกหนี้ที่เข้ามาเจรจาแก้ไข และอยากล้างเครดิต รายละ 10,000-20,000 บาท ซึ่งหากผ่อนชำระได้เป็นปกติ 3 ปี เหมือนกับคุณสู้ เราช่วย ก็จะล้างเครดิตให้กลับมาเป็นปกติ

หนี้เสีย 1.22 ล้าน ล. เข้าขั้นวิกฤต

ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า จากข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2568 ที่ส่งข้อมูลหนี้มาที่เครดิตบูโร อยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท และหากรวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ปล่อยกู้สมาชิก และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และอื่น ๆ จะอยู่ที่ 16.3 ล้านล้านบาท หรือเรียกว่าหนี้ครัวเรือน

หากดูการเติบโตหนี้บุคคลธรรมดาในระบบติดลบ 0.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หมายถึงสินเชื่อรายย่อยแทบไม่ขยับ อัตราการปฏิเสธการให้สินเชื่ออยู่ในระดับที่สูง หากเจาะลงไปไส้ในพบว่า 1.22 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย หรือ NPLs คิดเป็นจำนวน 9.5 ล้านบัญชี ในทุกประเภทสินเชื่อ และอีก 5.8 แสนล้านบาท
เป็นหนี้ที่กำลังจะเสีย, หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) 1.9 ล้านบัญชี

ขณะที่หนี้เสียไปแล้วนำมาปรับโครงสร้างหนี้ หรือ TDR อีก 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 3.7 ล้านบัญชี และหากดูหนี้ที่เริ่มค้างชำระหรือเริ่มมีปัญหาแต่ยังไม่เกิน 90 วัน ซึ่งนำมาปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน หรือ DR เพื่อให้กลับมาเป็นหนี้ปกติ ที่มีการเริ่มเก็บข้อมูลเดือนเมษายน 2567 มียอดสะสม 9.2 แสนล้านบาท จำนวน 1.7 ล้านบัญชี

“ด้วยตัวเลขหนี้ที่มีลักษณะต่าง ๆ ข้างต้น ด้วยจำนวนมูลหนี้เป็นบาท ด้วยจำนวนที่นับเป็นบัญชีแล้ว เรามีปัญหาระดับที่อาจเรียกว่า ‘วิกฤต’ ได้” นายสุรพลกล่าว

กางไส้ในหนี้เสีย 1.22 ล้านล้าน

นายสุรพลระบุด้วยว่า หนี้เสียจำนวน 1.22 ล้านล้านบาท มีลักษณะการค่อย ๆ เพิ่มมาต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 อันเป็นช่วงเวลาสิ้นสุดการระบาด COVID-19 แบ่งเป็น สินเชื่อรถยนต์ 2.7 แสนล้านบาท, สินเชื่อส่วนบุคคล 2.8 แสนล้านบาท, สินเชื่อบ้าน 2.4 แสนล้านบาท

ขณะที่หนี้กำลังจะเสีย หรือ SM หยุดอยู่ที่ 5.9 แสนล้านบาท เติบโต MOM 3.1% ทิศทางดีขึ้น เพราะการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน หรือ DR ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตามกติกาการให้กู้อย่างรับผิดชอบ

ตั้ง AMC ขึ้นกับโมเดลธุรกิจ

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แนวคิดการจัดตั้ง AMC ทั้งในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งและในครั้งนี้ คือ มุ่งแยกหนี้เสียออกจากระบบ แต่อยู่บนเงื่อนไขของเศรษฐกิจการเงินที่แตกต่างกัน โดยในช่วงวิกฤตปี 2540 การจัดตั้ง AMC จะเน้นซื้อหนี้ทั้งธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤตจากอานิสงส์ของเงินบาทอ่อนค่าที่ส่งผลดีต่อ FDI และการส่งออก ได้ช่วยให้ธุรกิจและครัวเรือนเห็นภาพรายได้ที่ดีขึ้น

ขณะที่ปัญหาในรอบนี้แตกต่างออกไป คือ หนี้เอ็นพีแอลทั้งธุรกิจและรายย่อยจำนวนไม่น้อยผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือจากทั้งธนาคารพาณิชย์และทางการ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ปัจจัยด้านรายได้ของธุรกิจและครัวเรือนไม่ชัดเจน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสำเร็จในการแก้ไขหนี้