ไทยเสี่ยงโตต่ำ KKP หั่น GDP เหลือโต 2.3% จีนเที่ยวไทยหด-ทรัมป์กดดัน

เศรษฐกิจไทย
Photo by Tom Bixler on Unsplash

ไทยเสี่ยงโตต่ำ KKP หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568 เหลือโต 2.3% รับผลนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยหดตัว ปรับประมาณการนักท่องเที่ยวทั้งปีนี้เหลือ 37.2 ล้านคน-เอฟเฟ็กต์นโยบายการค้าสหรัฐ คาด กนง.ลดดอกเบี้ยต่อถึง 1.25%

KKP Research ประเมินเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มโตต่ำและเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากนโยบายการค้าของสหรัฐ โดยพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจปี 2567 ที่เติบโตได้ค่อนข้างต่ำเพียง 2.5% แม้ว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดีและมีมาตรการแจกเงินขนาดใหญ่จากภาครัฐแล้วก็ตาม บ่งชี้ถึงความอ่อนแอในภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน จากปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีขนาดประมาณ 25% ของ GDP แต่หดตัวต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในหลายอุตสาหกรรม ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางและกระจุกตัวมากขึ้น จากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะยาวได้ อีกทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ยังจะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มที่อาจต่ำกว่า 2% ภายในปี 2578

สำหรับปี 2568 KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ช้าลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.3% จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลงไปต่ำสุดที่ 1.25% ในปี 2569

ท่องเที่ยวจีนไม่มา ชั่วคราวหรือถาวร ?

จำนวนนักท่องเที่ยวจีนตั้งแต่ช่วงหลังตรุษจีนมาเติบโตได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้มาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนปรับตัวลดลงจากประมาน 6 แสนคนต่อเดือน หรือ 60% ของช่วงก่อนโควิด ลงมาที่ระดับต่ำกว่า 4 แสนคน หรือ 35% ของช่วงก่อนโควิด ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2566 ประเด็นที่น่ากังวลคือสัญญาณการฟื้นตัวที่ช้าของนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราว และอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าลงในระยะยาว

นักท่องเที่ยวจีนมีความนิยมเที่ยวในประเทศมากขึ้น ข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในต่างประเทศของชาวจีนฟื้นตัวช้ากว่าการท่องเที่ยวในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยการท่องเที่ยวต่างประเทศต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดประมาณ 13.5% ในขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดประมาณ 6.4% ซึ่งอาจสะท้อนว่านักท่องเที่ยวจีนมีความชื่นชอบในการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น

ADVERTISMENT

การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและมาเลเซีย โดยจำนวนเที่ยวบินจากจีนไปยังญี่ปุ่นและมาเลเซียมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 อย่างชัดเจน นอกจากนี้เหตุการณ์ลักพาตัวนักแสดงจีนในไทยยังเพิ่มความกังวลกับนักท่องเที่ยวจีนที่จะมาเที่ยวไทย

กรุ๊ปทัวร์จีนคือกลุ่มหลักที่ไม่กลับมา โดยแม้นักท่องเที่ยวทั่วไป (Free Individual Traveler) จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้กว่า 77% ของช่วงก่อนโควิด แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์ยังคงไม่กลับมาในระดับเดิม โดยอยู่เพียงระดับประมาณ 45% ของจำนวนช่วงก่อนโควิดเท่านั้น

ADVERTISMENT

KKP Research ประเมินว่าหากนักท่องเที่ยวจีนไม่กลับมาฟื้นตัว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยอาจไม่สามารถกลับไปแตะระดับ 40 ล้านคน เท่ากับช่วงก่อนโควิดได้เร็วตามคาด เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของภาคการท่องเที่ยวทั้งหมด

โดย KKP Research ปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2568 เป็น 37.2 ล้านคน จาก 38.1 ล้านคน และปี 2569 เป็น 39.9 ล้านคน จาก 40.6 ล้านคน

เศรษฐกิจไทยเผชิญหน้าความเสี่ยงทรัมป์

KKP Research ประเมินว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญความเสี่ยงจากนโยบายการค้าสหรัฐ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นลำดับต้น ๆ ของภูมิภาค โดยมีโอกาสสูงที่ไทยจะอยู่ในรายชื่อกลุ่มแรกของการเรียกเก็บภาษี Reciprocal Tariffs ซึ่งสะท้อนจากข้อมูลสองส่วน คือ

1.การเกินดุลการค้ากับสหรัฐในระดับสูง ซึ่งไทยถือเป็นประเทศลำดับที่ 11 ของโลก ที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุด 2.ส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีเฉลี่ยตามน้ำหนักการค้าที่ไทยคิดกับสหรัฐ และสหรัฐคิดกับไทยถือว่าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศกลุ่ม Emerging Markets และสูงที่สุดใน ASEAN และไทยยังมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอีกด้วย

KKP Research ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากนโยบายการค้าสหรัฐ มีความไม่แน่นอนสูงมากและยังไม่ได้รวมผลกระทบไว้ในการประเมินตัวเลข GDP โดยมี 4 ปัจจัยหลัก ที่ต้องประเมินผลกระทบจากการขึ้นภาษี คือ 1.ขนาดของภาษีที่สหรัฐจะขึ้นกับไทย 2.ผลต่อการชะลอตัวของการส่งออกของไทยจากการขึ้นภาษี 3.มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้จากการส่งออกไปยังสหรัฐ และ 4.ระยะเวลาที่ไทยจะถูกขึ้นภาษี โดยประเมินว่า

1.อัตราภาษีที่ไทยจะถูกเรียกเก็บจากสหรัฐ จะอยู่ในช่วง 10-20% โดยคำนวณจากส่วนต่างของอัตราภาษีที่ไทยคิดกับสหรัฐ และสหรัฐคิดกับไทย อย่างไรก็ตาม อัตรานี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง 2.มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้ในประเทศจากสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐ อยู่ที่ระดับ 30-40% ในช่วงก่อนปี 2563 สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐมีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างสูงที่ประมาณ 50-60% อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่หลังปี 2563 การเติบโตของการส่งออกเกิดจากการนำเข้าจากจีนเพื่อส่งต่อไปยังสหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มในประเทศในระดับต่ำมาก ทำให้มูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกไทยในปัจจุบันลดต่ำลง

จากสองปัจจัยสำคัญ KKP Research คาดการณ์ว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะอยู่ในช่วง 0.2-0.4 ppt หากมีการประกาศขึ้นภาษีจริงและอัตราภาษีคงไว้ทั้งปี ผลกระทบดังกล่าวไม่รวมถึงผลจากข้อเสนอที่ไทยอาจต้องเจรจาเพื่อให้สหรัฐปรับลดอัตราภาษีนำเข้าลงมา ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติม โดยต้องจับตาช่วงต้นเดือนเมษายน ที่สหรัฐจะมีการประกาศเกี่ยวกับนโยบายภาษีนำเข้าเพิ่มเติม

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผลจำกัด

มาตรการแจกเงินผ่านนโยบายดิจิทัลวอลเลต เป็นความหวังของภาครัฐว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ส่งผลบวกน้อยกว่าที่ประเมินไว้ โดยมาตรการแจกเงินใน 2 ระยะแรกคิดเป็นเงินมูลค่ารวมกว่า 1.77 แสนล้านบาท แต่การบริโภคภาคเอกชนในช่วงไตรมาส 4 ปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อย และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี โดยเฉพาะเมื่อไม่รวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว

ทำให้แม้ว่าภาครัฐมีการอนุมัติงบฯกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านการแจกเงินระยะที่สาม ซึ่งจะแจกคนเป็นจำนวน 2.7 ล้านคน อายุระหว่าง 16-20 ปี คิดเป็นเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท และจะเริ่มแจกช่วงไตรมาส 2 ของปี และการแจกเงินระยะสุดท้ายน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่จากขนาดของการแจกเงินที่เล็กลง KKP Research ประเมินว่าผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะมีจำกัด โดยคาดว่าการบริโภคจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับระดับที่เคยประเมินไว้

คาด ธปท.ลดดอกเบี้ยถึง 1.25%

ธปท.มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในเดือนตุลาคมและเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ลงมาที่ระดับ 2% ซึ่งมีทิศทางสอดคล้องกับที่ KKP Research ประเมินไว้ว่ามีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับลดลงเหลือ 1.5% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนด้านการค้าโลก ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวจากการหดตัวของสินเชื่อ และคุณภาพสินเชื่อที่ยังคงแย่

ส่งผลให้ KKP Research คาดการณ์ว่า ธปท.จะมีการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มอีก 2 ครั้งในปี 2568 และอีก 1 ครั้งในปี 2569 และทำให้อัตราดอกเบี้ยสุดท้าย (Terminal Rate) ในรอบการลดดอกเบี้ยนี้จะอยู่ที่ 1.25% เหตุผลสำคัญที่เชื่อว่าดอกเบี้ยควรลดลงเพิ่มเติมคือ

ปัญหาด้านความเสี่ยงเสถียรภาพ ระบบการเงินลดน้อยลงมาก จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และสินเชื่อภาคธนาคารหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณหนี้ต่อ GDP ของไทยเริ่มปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการสื่อสารของ ธปท.ในช่วงที่ผ่านมา ที่กล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้จะไม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน

สัญญาณในตลาดการเงินหลายส่วนสะท้อนว่านโยบายการเงินในปัจจุบันอาจตึงตัวมากเกินไป อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพในอดีต นอกจากนี้สัญญาณของตลาดการเงินทั้งเงินบาทที่แข็งค่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อาจส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีแนวโน้มตึงตัวเกินไป