
“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” ชี้สถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ไทยเริ่มดีขึ้น เผยต้นปี’68 มีบอนด์ออกใหม่ 1.83 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 3.8% สูงกว่ายอดโรลโอเวอร์ 1.5 หมื่นล้าน จากที่ไม่มีรายใหญ่เบี้ยวหนี้-แรงกดดันต้นทุนดอกเบี้ยผ่อนคลายลง พบผู้ออกแห่ขายรายย่อยพุ่ง หลังกลุ่ม “สหกรณ์” ถูกจำกัดลงทุน คงคาดการณ์ยอดออกหุ้นกู้สิ้นปี 8.5-9 แสนล้านบาท ฟาก “กรุงไทย” ชี้ตลาดหุ้นกู้มุ่งเป้าระดมเงินทุนจากประชาชนทั่วไปมากขึ้น
นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2568 นี้ ภาพการระดมทุนในตลาดหุ้นกู้ ถือว่าค่อย ๆ มีพัฒนาการปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบปี 2567
โดยในไตรมาสแรก (ณ 21 มี.ค.) มียอดการออกหุ้นกู้มูลค่ารวม 1.83 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) รวมถึงปีนี้ยอดออกหุ้นกู้ใหม่สูงขึ้นทุกเดือนเมื่อเทียบกับยอดครบกำหนดไถ่ถอน (โรลโอเวอร์)
“ยอดออกหุ้นกู้สูงกว่ายอดที่ต้องโรลโอเวอร์ ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท สะท้อนสถานการณ์ในภาพรวมของผู้ออกหุ้นกู้สามารถโรลโอเวอร์ได้ โดยผู้ออกหุ้นกู้แต่ละเรตติ้งสามารถขายหุ้นกู้ใหม่ได้ราว 70-100% และผู้ออกหุ้นกู้บางส่วนมีการระดมทุนเพิ่มเติม ซึ่งต้นปีนี้มีผู้ออกรายใหม่เข้ามาระดมทุน 2 ราย ดังนั้น ตลาดหุ้นกู้โดยรวมไม่ได้แย่ลง แต่ก็ยังไม่ได้ดีขึ้นชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม เรายังไม่เห็นเซ็กเตอร์ไหน น่ากังวลเป็นพิเศษ แม้แต่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็ยังสามารถออกขายหุ้นกู้ใหม่ได้มาก”
โดยสถานการณ์ที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรยากาศในตลาดหุ้นกู้ช่วงนี้ไม่ค่อยมีข่าวเชิงลบ หรือข่าวบริษัทรายใหญ่มีการผิดนัดชำระหนี้ ถือได้ว่าช่วยลดความกังวลให้กับนักลงทุนได้มาก แม้ว่าในปัจจุบันจะยังมีบริษัทรายเล็ก ๆ ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Nonrated) บางรายขอยืดอายุจ่ายหนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ได้กระทบเซนติเมนต์ตลาดโดยรวม เพราะนักลงทุนเข้าใจว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง และสถานการณ์ไม่ได้ลุกลามเลวร้าย จำกัดเฉพาะผู้ออกแค่บางกลุ่มเท่านั้น
“อีกเหตุผลหนึ่งคือ แรงกดดันจากต้นทุนดอกเบี้ยผ่อนคลายลง โดยต้นทุนการกู้ยืมของผู้ออกหุ้นกู้ รุ่นอายุ 5 ปี พบว่าปรับตัวลดลงสอดคล้องตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Yield) ที่ปรับลงเกือบ 30 bps เมื่อเทียบจากสิ้นปี 2567”
นางสาวศิรินารถกล่าวว่า ในปีนี้สังเกตเห็นว่า ผู้ออกหุ้นกู้หันมาเสนอขายหุ้นกู้แก่นักลงทุนรายย่อย (PO) เพิ่มขึ้นมาก เพราะเกณฑ์การลงทุนใหม่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่มีผลตั้งแต่ปลายปี 2567 ที่จำกัดวงเงินการลงทุนของสหกรณ์ในหุ้นกู้และสินทรัพย์เสี่ยงอื่น รวมกันต้องไม่เกิน 1 เท่าของทุนเรือนหุ้นบวกทุนสำรอง ซึ่งกระทบกลุ่มสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่ลงทุนหุ้นกู้เกิน 1 เท่าอยู่แล้ว ไม่สามารถซื้อหุ้นกู้ใหม่เพิ่มได้
“ถึงปีนี้ ยังคงคาดการณ์มูลค่าการออกหุ้นกู้ใหม่ อยู่ที่ 8.5-9 แสนล้านบาท โดยในช่วงที่เหลือ นับจากวันที่ 24 มี.ค.ไปจนถึงสิ้นปีนี้ จะมีมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนรวม 703,099 ล้านบาท ทั้งนี้ สมาคมจะมีการแถลงข่าวทิศทางตลาดตราสารหนี้ไทยช่วงไตรมาส 1/2568 และแนวโน้มช่วงที่เหลือของปี ในวันที่ 3 เม.ย.ที่จะถึงนี้”
นางสาวศิรินารถกล่าวอีกว่า ในส่วนสถานการณ์เงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ในตลาดตราสารหนี้ไทย (บอนด์) ปีนี้ พบว่าจากต้นปีจนถึง 21 มี.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิบอนด์ไทยประมาณ 6,700 ล้านบาท เห็นสัญญาณไหลเข้าต่อเนื่อง ตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. โดยเริ่มเข้าซื้อบอนด์สั้นก่อนในเดือน ม.ค. เพื่อหลบความผันผวนจากนโยบายภาษีและเก็งกำไรค่าเงินบาท พอเข้าสู่เดือน ก.พ.-มี.ค. เห็นการโยกย้ายเงินเข้าซื้อบอนด์ยาว
“แนวโน้มยังมีโอกาสจะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้าบอนด์ต่อได้ จากความผันผวนและความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐจะเกิดภาวะถดถอย”
นายสงวน จุงสกุล ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ยอดคงค้างหุ้นกู้ในกลุ่มนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูลจนถึง ณ 21 มี.ค. อยู่ที่ 1.44 ล้านล้านบาท คิดเป็น 34% ของทั้งระบบที่ 4.23 ล้านล้านบาท โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนโควิด สะท้อนว่าตลาดหุ้นกู้มุ่งเป้าระดมเงินทุนจากประชาชนทั่วไปมากขึ้น
“เรตติ้งหุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์ (ต่ำกว่า BBB-) มียอดคงค้าง 1.8 แสนล้านบาท ปรับลดลง 12% จากสิ้นปี 2567 สะท้อนว่าหุ้นกู้กลุ่มเสี่ยงสูงยังถดถอยต่อเนื่อง และพฤติกรรม Search for Yield ในกลุ่มนี้ยังไม่กลับมา คาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกสักระยะให้กระบวนการ Deleverage (ลดหนี้) ในกลุ่มไฮยีลด์ดำเนินไปอีกสักระยะ รวมทั้งแสวงหาแหล่งระดมทุนจากสถาบันการเงินหรือผู้ถือหุ้นเข้ามาทดแทนจนนิ่งสักระยะก่อน”
นายสงวนกล่าวว่า ตลาดพันธบัตรไทยปีนี้ยังเป็นปีทอง เพราะไตรมาสแรกปีนี้ให้ผลตอบแทนต่อปี +9.5% (ณ 21 มี.ค.) จากปีที่แล้ว +7.5% หลังการลดดอกเบี้ยนโยบายแบบผิดคาดในเดือน ก.พ. พร้อมด้วยท่าทีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ลดความกังวลเรื่องการก่อหนี้ แต่ให้น้ำหนักกับเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
“ขณะนี้ตลาดเชื่อว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง คาดในเดือน มิ.ย. และไตรมาส 4 ลงไปอยู่ที่ 1.50% และมีบางสำนักวิจัยคาดไปอยู่ที่ 1.25% หรือ 1.00%” นายสงวนกล่าว