ชงเพิ่มคืนรถจบหนี้-คลังขยับคุณสู้เราช่วยเฟส 2

รถ ลีสซิ่ง

ธนาคารพาณิชย์-ลีสซิ่ง ร่วมรับมือแก้หนี้ ชงปรับวงเงิน “จ่าย ปิด จบ” จาก 5,000 บาท เป็น 1 หมื่นบาท พร้อมเสนอเพิ่มเงื่อนไข “คืนรถจบหนี้” หากวงเงินหนี้คงเหลือไม่เกิน 1 แสนบาท ให้สถาบันการเงินกับ FIDF ร่วมรับผิดชอบคนละครึ่ง ด้านคลังกระชับแผนแก้หนี้ ลุย “คุณสู้ เราช่วย เฟส 2” เปิดลงทะเบียนใหม่ ขยายเกณฑ์ครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้มากขึ้น หลังเฟสแรก คนสมัครและผ่านเกณฑ์น้อยกว่าคาด

ขยับ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้คลังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย จัดทำโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้เชิงรุกต่อเนื่อง หลังจากพบว่าโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟสแรก ลูกหนี้เข้าร่วมโครงการน้อยกว่าที่ตั้งเป้า และคาดว่าจะใช้วงเงินเพียงแค่กว่า 10,000 ล้านบาท จากที่เตรียมไว้กว่า 38,000 ล้านบาท

“เฟส 2 จะเปิดลงทะเบียนใหม่ เพื่อช่วยลูกหนี้ที่ดี และคนที่เพิ่งเป็นหนี้เสียในปัจจุบัน รวมถึงคนที่เริ่มผิดนัดชำระ เป็นหนี้ที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM แต่ยังไม่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL แล้วอยากขอทำดี เพื่อกลับมาชำระหนี้ปกติ ทั้งหมดนี้จะให้ครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้ 6 ล้านบัญชี หรือราว 4 ล้านคนให้ได้มากที่สุด ซึ่งรายละเอียดกำลังพิจารณากันอยู่ จะให้ได้ข้อสรุปก่อนสิ้นเดือน เม.ย.นี้”

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งที่จะปรับจาก “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 1 ก็คือ ขยายขอบเขตการเป็นหนี้ NPL ให้คนที่เป็นหนี้เสียเกิน 1 ปี สามารถเข้าร่วมโครงการได้

ยังเดินหน้าแผนซื้อหนี้เสีย

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการซื้อหนี้เสียจากกลุ่มที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 100,000 บาท ออกมาบริหารจัดการ แก้ไขหนี้ แล้วเติมเงินเพื่อให้กลับมาชำระปกติ ตามที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ประกาศไปก่อนหน้านี้นั้น ยืนยันว่ายังดำเนินการอยู่ แต่คงต้องเป็นเฟสต่อ ๆ ไป เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างมากที่ยังต้องพิจารณา

“หนี้เสียไม่เกิน 100,000 บาท ที่มีประมาณกว่า 3 ล้านราย พบว่าส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ของน็อนแบงก์ (ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์) ซึ่งการจะใช้เงินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF แบงก์ก็คงไม่ยอม เรื่องนี้จึงยังอยู่ระหว่างพิจารณาแต่ไม่ล้มเลิกแน่นอน”

ADVERTISMENT

ธปท.ชี้ลงทะเบียนแล้ว 1.1 ล้านราย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ ธปท.อัพเดตล่าสุด ได้สรุปความคืบหน้าโครงการตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2567 จนถึงวันที่ 28 มี.ค. 2568 มีจำนวนลูกหนี้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.1 ล้านราย ในจำนวนดังกล่าวลูกหนี้ลงทะเบียนที่ eligible หรือมีสิทธิเข้าโครงการ (สำรวจ ณ 15 มี.ค. 68) 4.5 แสนราย สัดส่วน 23% ยอดหนี้ 3.4 แสนล้านบาท สัดส่วน 38%

เผยเฟสแรกทำสัญญาได้น้อย

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก “Surapol Opasatien” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุถึงข้อมูลโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่เป้าหมาย 100% ของโครงการคือ จำนวนลูกหนี้เข้าโครงการ 1.9 ล้านราย เป็นเงิน 8.9 แสนล้านบาท แต่พบว่าความคืบหน้าจนถึงวันที่ 28 มี.ค. 2568 ยังมีลูกหนี้มาลงทะเบียนแค่ 1.1 ล้านราย และข้อมูลจนถึงวันที่ 15 มี.ค. 2568 มีคนลงทะเบียนและคุณสมบัติผ่านเกณฑ์แค่ 4.5 แสนราย หรือจำนวนลูกหนี้ 23% เป็นเงิน 3.4 แสนล้านบาท หรือ 38%

ADVERTISMENT

ขณะที่ตัวเลขถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2568 ครึ่งทางก่อนปิดลงทะเบียนในเดือน เม.ย. ตามรายงานที่สมาชิกเครดิตบูโรนำส่ง คนที่ยอมลงนามในสัญญาเข้าโครงการและข้อมูลถูกส่งเข้าระบบ 1.8 แสนราย คิดเป็น 9.5% ของเป้าหมาย 1.9 ล้านราย และวงเงิน 3.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 24% ของเป้าหมาย 8.9 แสนล้านบาท

ชี้เกณฑ์เข้ม-ลูกหนี้ผ่านยาก

ด้านแหล่งข่าวจากน็อนแบงก์กล่าวว่า หากจะปรับเพียงแค่ขอบเขตการดึงลูกหนี้เข้าร่วมโครงการให้ได้มากขึ้น น่าจะแก้ปัญหาไม่ถูกจุดนัก เนื่องจากปัญหาของ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 1 ที่ผ่านมา คือลูกหนี้ที่ลงทะเบียนมาแล้ว แต่ไม่สามารถผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากเกณฑ์ของ ธปท.ค่อนข้างเข้มงวด ซึ่งก็เข้าใจว่ากลัวว่าจะสร้างวัฒนธรรมจงใจเบี้ยวหนี้

แบงก์ชงเพิ่ม “คืนรถจบหนี้”

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินอีกรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมธนาคารไทย (TBA) และธนาคารสมาชิก ประชุมหารือร่วมกันในการเสนอแนวทางผ่อนเกณฑ์โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ ธปท.นำไปพิจารณา ซึ่งในที่ประชุมมีการเสนออยู่ 2-3 มาตรการด้วยกัน ได้แก่ 1.มาตรการ “จ่าย ปิด จบ” เสนอให้เพิ่มวงเงินจากเดิม 5,000 บาท เป็น 10,000 บาท

2.มาตรการ “คืนรถจบหนี้” ซึ่งจากเดิมไม่มีในโครงการ จะมีแต่มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” ซึ่งธนาคารมองว่าตอนนี้ลูกหนี้ค่อนข้างลำบาก ไม่มีรายได้มาชำระหนี้ จึงเสนอให้มีมาตรการ “คืนรถจบหนี้” โดยลูกหนี้ที่นำรถมาคืน และขาดทุนรถยึด ธนาคารสามารถนำมาเคลมได้ โดยอิงหลักการเดิม

“เช่น วงเงินมูลค่ารถยนต์ 8 แสนบาท กรณีลูกหนี้เป็นหนี้ 3 แสนบาท หากนำรถมาคืนและขายทอดตลาดได้ 2 แสนบาท เหลือมูลหนี้ 1 แสนบาท ซึ่งส่วนต่างหนี้ที่เหลือจะนำมาหารครึ่งระหว่างสถาบันการเงิน และเงินกองทุน FIDF หรือรับผิดชอบแห่งละ 50,000 บาท เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม สำหรับวงเงินสูงสุดของรถยนต์อยู่ที่ไม่เกิน 8 แสนบาท และหนี้คงเหลือต้องไม่เกิน 1 แสนบาท เช่นกัน

ยืดอายุผิดนัดชำระเกิน 1 ปีได้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางที่ 3 ที่มีการเสนอ คือการขยายอายุลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมตีกรอบไว้ไม่เกิน 360 วัน ให้สามารถขยับกลุ่มนี้ออกไปเกิน 1 ปีได้ รวมทั้งกำลังพิจารณาว่า เนื่องจากปัจจุบันมีวิกฤตซ้อนวิกฤต อาจจะให้วงเงินเพิ่มเติม ส่วนการห้ามก่อหนี้จะเห็นว่ากลุ่มนี้ไม่สามารถก่อหนี้ได้อยู่แล้ว

“แบงก์ชาติให้สมาคมธนาคารไทยมาคุยกับสมาชิก และชมรมเช่าซื้อ กับชมรมสินเชื่อบุคคล เพื่อให้เสนอแนวทาง ซึ่งมีการพูดคุย 2-3 เรื่องที่จะเสนอ แต่คิดว่าการขยายวงเงินน่าจะมีความเป็นไปได้ ส่วนคืนรถจบหนี้ก็ต้องดูอีกที เพราะต้องคำนวณเงินกองทุน FIDF เพราะถือว่าเยอะเหมือนกัน หากวงเงินเคลม 50,000-100,000 บาท ส่วนขยายคนเป็นเอ็นพีแอลเกิน 1 ปี ขยายไป ก็อาจจะตามตัวลูกหนี้ไม่เจอ”