กฎหมายคลังค้างท่อ100ฉบับ “ภาษีที่ดิน”ส่อแท้งก่อนเลือกตั้ง

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง

คลังดันสุดฤทธิ์กฎหมายเศรษฐกิจค้างท่อนับ 100 ฉบับ มึนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯถูกเตะถ่วง ล็อบบี้สนั่นสภาฯ “เสี่ยงแท้ง” ชี้รัฐบาลตรียมสู้ศึกเลือกตั้งหวั่นกระทบความนิยม ร่าง พ.ร.บ.ภาษีอีเพย์เมนต์ติดบ่วง ผวารัฐเผชิญวิกฤตจัดเก็บรายได้ ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.พัฒนาและกำกับดูแลบริหารรัฐวิสาหกิจฯเปิดทางตั้งโฮลดิ้งคอมปะนีโดนต้านหนัก “อภิศักดิ์” บี้ทุกกรมเข็นร่างกฎหมายส่ง สนช.ภายใน พ.ย.นี้ ด้านกระทรวงดีอี พาณิชย์ เกษตรฯ อุตสาหกรรม รอเข้าคิวพิจารณาเพียบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงเมื่อเร็ว ๆ นี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แจ้งให้ทุกหน่วยงานเร่งผลักดันร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวนมากเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในเดือน พ.ย.นี้ เนื่องจาก สนช.แจ้งว่า หากเสนอไปล่าช้ากว่านั้นอาจพิจารณาไม่ทันการเลือกตั้ง

ลุ้นอีเพย์เมนต์-หวั่นวิกฤตรายได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า มีร่างกฎหมายหลายฉบับที่อยู่ในขั้นตอนผลักดัน อาทิ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. … เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (กฎหมาย e-Payment) กฤษฎีกาพิจารณาจบแล้ว เตรียมเข้าพิจารณาในวาระ สนช.

“ถ้าไม่ผ่าน รัฐบาลจะเกิดวิกฤตด้านรายได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไม่สามารถเก็บภาษีเพียงพอกับรายจ่าย เนื่องจากกฎหมายนี้ช่วยให้สรรพากรมีฐานข้อมูลธุรกรรมการเงินเพื่อวิเคราะห์ตรวจสอบการหลบเลี่ยงภาษี”

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. … (มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน) หรือ Transfer Pricing สรรพากรเสนอมา 3 ปีแล้ว เพิ่งอยู่ในวาระที่ 1 ใน สนช. โอกาสไม่ผ่านมีสูงเนื่องจากสมาชิก สนช. บางส่วนมาจากตัวแทนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ มีบริษัทลูกมากมาย

ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี VAT จากการให้บริการในต่างประเทศ ที่เพิ่งผ่าน ครม. อยู่ในขั้นกฤษฎีกา หากบังคับใช้ล่าช้าจะเก็บภาษีได้ยากขึ้นในอนาคต

แบไต๋ภาษีที่ดินส่อเลื่อนยาว

ล่าสุด นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่น่าจะมีปัญหา อยู่ระหว่างดูให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ส่วนจะเลื่อนการบังคับใช้ไปเป็นปี 2562 หรือไม่นั้น ถ้าการพิจารณาของ สนช.ยังไม่เสร็จจริง ๆ ฟังดูแล้วรัฐบาลน่าจะฟังเสียงประชาชน และฟังเสียงหลังการเลือกตั้งหรือองค์ประกอบพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งอาจเลื่อนก็ได้ โดยรัฐบาลใหม่ต้องนำมาทบทวน

ส่วน พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ กล่าวว่า สาเหตุที่ กมธ.ชุดนี้ซึ่งมี นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เป็นประธาน มีมติให้ขยายเวลาพิจารณาครั้งที่ 8 อีก 60 วัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.ค. 2561 เป็นปลายเดือนก.ย. 2561 เพราะต้องการให้ กมธ.สรุปประเด็น และรับฟังข้อชี้แจงหน่วยงานต่าง ๆ ที่ส่งความเห็นเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันมีความคิดเห็นเป็น 2 ส่วน คือ กมธ. สนช.บางส่วนอยากให้เลื่อนออกไป แต่นายวิสุทธิ์ในฐานะประธาน กมธ. อยากให้เสร็จในรัฐบาลชุดนี้

“ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ถึงขณะนี้เป็นไปได้สูงมากที่จะไม่ผ่าน เพราะถูกเตะถ่วงตลอดเวลา ตอนนี้มีโรดแมปจะเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลคงไม่ยอมผ่าน หวั่นทำให้เสียความนิยม”

นอกจากนี้ มีร่าง พ.ร.บ.พัฒนาและกำกับดูแลบริหารรัฐวิสาหกิจ มีโอกาสไม่ผ่านสูง เนื่องจากถูกคัดค้านแนวคิดการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือโฮลดิ้งคัมปะนี ส่วนร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดทางให้ทำสลากรูปแบบใหม่ ๆ ยังอยู่ในขั้นกฤษฎีกา

“ขุนคลัง” เร่งแต่ขึ้นกับ สนช.

นายอภิศักดิ์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า กระทรวงการคลังจะผลักดันร่างกฎหมายทุกฉบับใน สนช. เพราะทุกเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ดี กรณีเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษี หากเรื่องใดไม่สามารถผลักดันได้ทันก็ไม่เสนอ ส่วนจะเร่งรัดได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับ สนช.เช่นเดียวกับนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่ามีร่างกฎหมายหลายฉบับอยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์ จากนั้นส่งให้กฤษฎีกาตรวจร่างก่อนเสนอเข้า สนช. ภายในเดือน พ.ย.นี้

สรรพากรเข็น กม.ภาษีต่อคิว

กรมสรรพากรตั้งเป้า ผลักดันร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างประชาพิจารณ์เข้าสู่ สนช. อาทิ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 49 ทวิ กำหนดราคาโอนอสังหาริมทรัพย์, ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม, ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเพิ่มค่าลดหย่อนบุตร

นอกจากนี้ มีร่าง พ.ร.บ.การแก้ไขเพิ่มเติมอัตราอากรแสตมป์ กรณีใบรับรางวัลสลากกินแบ่งของรัฐบาล, แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อให้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล, ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่กำหนดให้ใช้สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินไทยในการคำนวณรายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม, ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เกี่ยวกับการหักรายจ่ายและการขอคืนภาษี, ร่าง พ.ร.บ.เพื่อให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ. e-Business ต้องผลักดันเข้า สนช.ได้ตามกำหนดด้วย

สศค.ชงกฎหมายการเงินเพียบ

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่ามีกฎหมายสำคัญ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพย์อิงสิทธิ์, ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์, ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และร่าง พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า สศค.ยังมีร่างกฎหมายระหว่างประชาพิจารณ์ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ออกมากำกับธุรกิจพิโกไฟแนนซ์, เช่าซื้อ, ลีสซิ่ง รวมถึงร่าง พ.ร.บ.การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (ดิจิทัลไอดี), ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน ส่วนร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (ภาษีลาภลอย) ผ่าน ครม.แล้ว

สคร.ตั้งเป้าชง PPP ภายใน ต.ค.

สำหรับกรมธนารักษ์มีร่างกฎหมายที่ต้องเร่งผลักดัน คือ ร่าง พ.ร.บ.การประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ และร่าง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ และกำลังเสนอร่าง พ.ร.บ.สภาวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ให้คลังพิจารณา ส่วน สคร.มีร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (กฎหมาย PPP) ซึ่งถือเป็นกฎหมายจำเป็นเร่งด่วน จากเดิมกฎหมายมีขอบเขตกว้าง ทำให้ไม่มีความคล่องตัว โดยจะเร่งให้แล้วเสร็จก่อนจะมีการเลือกตั้งในปี 2562

ตั้งกองทุนช่วย SME ถูกฟ้อง

ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า จะเสนอแก้ไขกฎหมายของธนาคาร เพื่อขอจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อยู่ภายใต้การบริหารของ ธพว. เนื่องจากปัจจุบันการช่วยเหลือตามกลไกปกติของธนาคาร แม้มีการผ่อนปรนให้ลูกค้า แต่มีข้อติดขัด โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติทางการเงิน หรือถูกฟ้อง ที่ต้องได้รับการฟื้นฟู

“คนที่ต้องได้รับการฟื้นฟูต้องใช้เงินจากกองทุนพิเศษมาช่วย จึงอยากตั้งกองทุนขึ้น ทำให้เอสเอ็มอีที่มีปัญหาทางการเงิน น่าจะเสร็จได้ภายใน 6 เดือนข้างหน้า”

ดีอีเร่งผลักดันอีก 4 กม.

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายของกระทรวงที่รอเข้ากระบวนการนิติบัญญัติมี 4 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อยู่ระหว่างการประสานงานของกระทรวงดีอี และ สพธอ. (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์) กับกฤษฎีกา ก่อนเสนอ ครม. ร่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กำลังทบทวนก่อนจะส่งเข้า ครม. ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเป็นการปรับโครงสร้างของ สพธอ.ใหม่ และร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ซีเคียวริตี้และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนร่าง พ.ร.บ.เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี กระทรวงดีอีจะเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. หลังมีผลบังคับใช้ แต่คลังจะเป็นแกนในการผลักดัน ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (กสทช.) ฉบับใหม่ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการ สนช.แล้ว

“คาดว่าร่างกฎหมายทั้งหมดจะประกาศใช้ได้ภายในปีนี้ เพราะเป็นร่างกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลต้องการผลักดันขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0”

กม.อ้อยฯ-โรงงานเข้าคิว

ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อุตสาหกรรม และพาณิชย์ อยู่ระหว่างผลักดันร่างกฎหมายเศรษฐกิจเร่งด่วน อาทิ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน ร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย แก้ไข พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน หรือ กม. AD เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาดและการอุดหนุน หรือ Anti-Circumvention (AC) ส่วนความคืบหน้าในการยกร่าง พ.ร.บ.การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. … (กฎหมาย Dual Use) อยู่ระหว่างการยกร่าง การแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อจำกัดรับผิดชอบของผู้ให้บริการ และการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ขณะนี้ สนช.พิจารณาวาระที่ 3 และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะออกกฎกระทรวง เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดเก็บค่าใช้น้ำ และร่างแก้ไข พ.ร.บ.สหกรณ์ ฉบับใหม่ เพื่อปรับกระบวนการสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เกิดประโยชน์กับสหกรณ์ 10,000 กว่าแห่ง ที่มีสมาชิก 12 ล้านกว่าคน รวมมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท แต่ยังมีเสียงคัดค้าน

กฎหมายเศรษฐกิจที่ค้างท่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ร่างกฎหมายเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ที่ยังค้างการพิจารณาใน สนช. ในการพิจารณาวาระที่ 2 ขั้นแปรญัตติในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มีอยู่ 6 ฉบับ 1.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ขยายเวลาการพิจารณาออกไปเป็นครั้งที่ 3 อีก 60 วัน

2.ร่าง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. … ขยายเวลาพิจารณาครั้งที่ 2 อีก 60 วัน

3.ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ขยายเวลาการพิจารณาครั้งที่ 5 อีก 60 วัน 4.ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ขยายเวลาครั้งที่ 8 อีก 60 วัน

5.ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษครั้งที่ 7 อีก 90 วัน 6.ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษครั้งที่ 5 อีก 90 วัน