สารพัดโมเดล ขยายธุรกิจอย่างไร…ไม่เหนื่อย

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย ดร.รุจิกร ภาวสุทธิไพศิฐ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี)

ไม่ว่าจะทำธุรกิจประเภทใด ใคร ๆ ก็อยากจะเป็นเพื่อนกับ “ความสำเร็จ” คนมีหน้าร้านก็ต้องการจะขยายสาขา เพื่อรองรับลูกค้าเพิ่ม คนมีสินค้าก็ปรารถนาจะขายสินค้าจำนวนมากชิ้นขึ้น

สมัยก่อนคนทำธุรกิจมักนิยมขยายกิจการอยู่ในแวดวงเครือญาติ สมาชิกครอบครัวต่างช่วยกันทำมาหากิน ผลิตสินค้าคนละไม้ละมือ หรือแบ่งกันดูแลหน้าร้านคนละสาขา แต่ในบางรายที่ไม่อยากมีปัญหากับญาติพี่น้อง ก็เลือกที่จะฉายเดี่ยว ดำเนินกิจการคนเดียว…สบายใจกว่า

อย่างไรก็ดี เราพบว่ามีเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยที่ต้องเหนื่อยสายตัวแทบขาด เพียงเพราะทำธุรกิจแบบโดดเดี่ยวลำพัง โดยไม่เปิดใจที่จะนำระบบหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยบริหารจัดการธุรกิจให้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้การขยายกิจการเกิดข้อจำกัด

กำแพงที่ถูกสร้างขึ้นในใจ กลายเป็นอุปสรรคในการเติบโตของธุรกิจ เอสเอ็มอีต้องทลายกำแพงดังกล่าวลงด้วยตนเอง หมดยุคของการเป็น “เถ้าแก่” ทำคนเดียว เหนื่อยคนเดียวแล้ว เพราะปลายทางอาจไม่ใช่ความสำเร็จที่หอมหวานเสมอไป เอสเอ็มอีควรสวมหัวใจเป็น “ผู้ประกอบการ” ที่ปรับขยายธุรกิจไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก ยิ่งในการทำธุรกิจยุค third-wave มีสารพัดเทคนิคที่จะช่วยให้ธุรกิจขยายตัวได้ โดยที่เอสเอ็มอีไม่จำเป็นต้องทำเองทุกอย่างให้เหนื่อยแรง และคงจะมีสักวิธีที่ใช่ ที่จะปูทางสร้างความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการ

หนึ่งในโมเดลธุรกิจที่ได้รับการยอมรับมาจนถึงวันนี้ คือ “แฟรนไชส์” ธุรกิจที่ขายระบบการบริหารจัดการและความเป็นมืออาชีพเป็นสำคัญ หากเอสเอ็มอีสามารถดีไซน์และพัฒนา “ระบบ” ธุรกิจที่แข็งแกร่ง หรือพิสูจน์แล้วว่าเป็นระบบที่ไม่ว่าใคร เมื่อนำไปปฏิบัติตามก็จะพบกับความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกัน เอสเอ็มอีย่อมจะขยายสาขาธุรกิจภายใต้แบรนด์สินค้าของตนได้อย่างไม่จำกัด ด้วยเงินทุนเพียง 0 บาท หรือพูดง่าย ๆ ว่าไม่ต้องลงทุนอะไรเลย เช่น แฟรนไชส์ร้านอาหาร แถมยังจะได้เงินค่าแฟรนไชส์ตอบแทนคืนกลับเป็นค่า “ไอเดีย” ด้วยซ้ำ

อีกโมเดลที่มาแรงในทุกยุคทุกสมัย คือ ระบบ “ตัวแทน” โดยมองหาผู้ที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาเป็น “มดงาน” ในการขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น ตัวแทนขายเครื่องสำอาง เอสเอ็มอีเจ้าของธุรกิจไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเดือนตัวแทนสักราย แถมยังจะได้คนขยันมาร่วมงานเป็นกองทัพ เพียงแต่ต้องมีผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ ซึ่งเป็นเทคนิคสำคัญที่จูงใจให้ตัวแทนแต่ละคน ขยันหาช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เจาะเข้าถึงตัวผู้บริโภคที่อยู่รอบตัว เพื่อนำเสนอขายสินค้าและบริการให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ปัจจุบันเรายังเริ่มเห็นสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ที่กล้าคิดนอกกรอบ และมองหาทางเดินใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำรอยใคร พวกเขากล้าที่จะสร้างสรรค์แพลตฟอร์มธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนเรา ซึ่งหากไอเดียเข้าตา หรือมีความเป็นไปได้ในการทำเงินในโลกแห่งความเป็นจริง ยังจะมีนายทุนกระเป๋าหนามาช่วยลงเงินในขัน ให้สตาร์ตอัพนำไปต่อยอดธุรกิจให้เติบโตทีละสเต็ป โดยแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ตามความเหมาะสม ยิ่งหากโมเดลที่คิดค้นสามารถตอบโจทย์หรือดึงคนทั้งโลกมาเป็นลูกค้าได้ มูลค่าของธุรกิจก็จะยิ่งทบทวีคูณ

โมเดลเหล่านี้ถือเป็นธุรกิจแห่งอนาคต หรือในอนาคตหากเอสเอ็มอีจะสร้างธุรกิจใหม่ ก็อยากให้ตรึกตรองลองนำแนวทางข้างต้นไปขบคิดต่อ เนื่องจากเอสเอ็มอีไม่จำเป็นต้องลงเงิน ลงแรงเองทั้งหมด แต่ต้องใช้ “สมอง” ในเชิงสร้างสรรค์ให้เป็น แต่จำไว้ว่าเอสเอ็มอีอย่าคิดเอง และทำทุกอย่างเองทั้งหมด เพราะจะทำให้ย่างก้าวของธุรกิจเชื่องช้าเกินไป จนก้าวไม่ทันโลกยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างมาไว ไปเร็ว และไม่อาจสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้

ทางที่ดีควรจับคู่ธุรกิจ แสวงหาพันธมิตรที่มีศักยภาพ และมีมุมมองความคิดไปในทิศทางเดียวกัน มาประกอบร่างเติมเต็มซึ่งกันและกัน ภายใต้โมเดลธุรกิจที่ใช่ ธุรกิจย่อมจะเดินหน้าและเติบโตได้ไว ขยายสาขาได้อย่างมั่นคงทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับความล้มเหลวไปได้มาก

ธุรกิจจะ “โต” สร้างรายได้ให้หายเหนื่อย หรือถึงทาง “ตัน” แถมยังเหนื่อยซ้ำอีกต่างหาก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเอสเอ็มอีที่จะเป็นผู้กำหนดอนาคตด้วยตนเอง