ย้อนรอย 3 ปีพิมพ์เพิ่ม 3 เท่า แก้ปมหวย (ยังไม่หาย) แพง ?

ใกล้จะครบ 4 ปีเต็มในการเข้ามาแก้ไขปัญหา “หวยแพง” ของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งตั้งเข้ามาโดย คสช. ตั้งแต่ 1 พ.ค. 58

โดยบอร์ดสลากชุดนี้มี “พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” (ยศขณะนั้น) เป็นประธาน เริ่มประชุมนัดแรกเมื่อ 19 พ.ค. 58 พร้อมประกาศแนวทางแก้ปัญหา เริ่มจากมีมติให้ยกเลิกรางวัลแจ็กพอต 30 ล้านบาท ไปเพิ่มรางวัลที่ 1 เป็นคู่ (ใบ) ละ 6 ล้านบาท (ขณะนั้นเป็นสลากฉบับละ 40 บาท หรือใบละ 80 บาท) มีผลตั้งแต่งวด 1 ส.ค. 58

ทั้งปรับโครงสร้างราคาสลากใหม่ ลดต้นทุนขายส่งจากคู่ละ 74.40 บาท เหลือ 70.40 บาท ส่วนนิติบุคคลและองค์กรการกุศลเหลือคู่ละ 68.80 บาท จากเดิม 72.82 บาท ตั้งแต่งวด 16 มิ.ย. 58 พร้อมตั้งทีมตรวจจับกุมผู้ค้าสลากเกินราคา และร่วมกับ บมจ.ปตท. กำหนดพื้นที่ขายสลากไม่เกิน 80 บาท

ต่อมาบอร์ดสลากก็มีมติอนุมัติพิมพ์สลากเพิ่ม 22 ล้านฉบับ ทดแทนสลากการกุศล เริ่มงวด 1 ก.ย. 58

โดยตอนนั้น “ธนวรรธน์ พลวิชัย” โฆษกบอร์ดสลาก ระบุถึงเหตุผลว่า เพื่อรักษาปริมาณสลากในตลาดให้อยู่ที่ 74 ล้านฉบับต่องวดเท่าเดิม เพื่อให้ตลาด “สมดุล” ไม่กระทบทั้ง “ผู้ซื้อ-ผู้ค้า” รวมถึงอนุมัติจัดสรรโควตา 22 ล้านฉบับใหม่ โดยลดสัดส่วนโควตานิติบุคคลหรือองค์กรที่ไม่เกี่ยวกับผู้พิการลง 30-50% แล้วเกลี่ยโควตาไปให้ 2 สมาคมกีฬาผู้พิการ 19,000 เล่ม ทั้งยังอนุมัติเพิ่มรางวัลเลขหน้า 3 ตัว 2 รางวัล ลดรางวัลเลขท้าย 3 ตัว จาก 4 รางวัลเหลือ 2 รางวัล

นอกจากนี้ สำนักงานสลากฯยังร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย ทำระบบ “ซื้อ-จองล่วงหน้า” มาให้ผู้ค้ารายย่อยที่ “ไม่มีโควตา” เริ่มตั้งแต่งวด 16 ต.ค. 58

ซึ่งโฆษกบอร์ดสลาก บอกว่าจะเป็นการ “เปลี่ยนโฉม” ประวัติศาสตร์สลากกินแบ่งรัฐบาลไทยที่ให้ “ผู้ค้าตัวจริงได้เข้าถึง”

หลังจากนั้นเป็นการจัดสรร “โควตาใหม่” 74 ล้านฉบับ หรือ 37 ล้านใบ พร้อมเดินหน้าแก้ไขพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ควบคู่ไป

จากนั้นช่วงต้นปี 2559 เริ่มมีการพูดถึง “เพิ่มสลาก” เข้ามาในระบบอีก 20 ล้านฉบับ ในระบบ “ซื้อ-จอง”

ต่อมาบอร์ดสลากประชุมเมื่อ 31 ส.ค. 59 มีมติให้เกลี่ยระบบการซื้อ-จองล่วงหน้าใหม่ และลดวันรับสลากไปขายเหลือ 3 วัน จากเดิม 5 วัน รวมถึงมีมติให้ยกเลิกสัญญาและเพิกถอนทะเบียนการซื้อจองผู้ค้าสลากที่มีการนำไปขายพ่วง

โดยมีข่าวจับกุมผู้ขายที่กระทำผิด และตัดสิทธิ์ลงทะเบียน “ซื้อ-จอง” ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องในขณะนั้น

ขณะที่ตั้งแต่งวด 1 ก.ย. 60 ได้มีการเปลี่ยนสลาก จากเดิมขายแบบ “ฉบับคู่ 80 บาท (ฉบับ 40 บาท)” เป็น “ฉบับ (ใบ) ละ 80 บาท” จากนั้นก็มีการเพิ่มปริมาณสลากในตลาดอีก โดยตั้งแต่งวด 1 พ.ย. 60 มีสลากถึง 78-80 ล้านใบ

ล่าสุด ในการแถลง “ข้อสรุปในการแก้ปัญหาสลากเกินราคา ตามโรดแมประยะที่ 3” เมื่อ 24 ม.ค. 62 “ธนวรรธน์” บอกว่า ปัจจุบันมียอดสลากต่องวดอยู่ที่ 90 ล้านใบ จากความต้องการซื้อสลากที่มีเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์

ซึ่งขณะนี้เข้าสู่การแก้ปัญหาสลาก ระยะที่ 3 คือ “การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม”

“จากการลงพื้นที่รับฟังเสียงของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสลาก เกี่ยวกับความต้องการในการซื้อขายสลาก เพื่อรวบรวมไปสู่วิธีการแก้ไขปัญหา พบว่าส่วนใหญ่ผู้ซื้อต้องการซื้อสลากแบบรวมชุด ผู้ขายจึงต้องไปหาซื้อสลากมารวมชุด เพื่อตอบสนองความต้องการ ทำให้ต้นทุนการจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น และยังทำให้สลากแบบใบเดี่ยวหายไปจากตลาดด้วย” นายธนวรรธน์กล่าว

จึงนำมาสู่การประกาศ “มาตรการรวมชุดสลาก” ที่เปิดตัวพร้อมกับ “พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี” ผู้อำนวยการสำนักสลากฯ คนใหม่ ที่เริ่มงานอย่างเป็นทางการเมื่อ 23 ม.ค. 62

“พ.ต.อ.บุญส่ง” กล่าวว่า บอร์ดสลากมีมติให้จัดทำสลากแบบรวมชุดขึ้น โดยจะจำหน่ายในระบบ “ซื้อ-จองล่วงหน้า” เริ่มงวด 1 มี.ค. 62 จำนวน 57 ล้านฉบับ ซึ่งจะคละตัวเลขภายในเล่มเดียวกัน และการจัดจำหน่ายกระจายไปทั่วประเทศ ทำให้ยี่ปั๊วไม่สามารถนำไปจัดชุด เพื่อรวมจำหน่ายในปริมาณมาก ๆ ได้อีก

ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายสลากนั้น “ธนวรรธน์” บอกว่าปัจจุบันอยู่ในขั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหวังว่าจะผ่านก่อนมีเลือกตั้ง เพราะไม่เช่นนั้นจะมีผลต่อการแก้ปัญหาของสำนักงานสลากฯ เนื่องจากปัจจุบันใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช.อยู่

“หากกฎหมายไม่ผ่านจะเกิดช่องว่างหลายจุดที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายเดิม” โฆษกบอร์ดสลากกล่าว

จากสลาก 37 ล้านใบสู่ 90 ล้านใบในระบบ จะ “แก้ปัญหายั่งยืน” หรือ “มอมเมา” ก็อยู่ที่สังคมจะมองมุมไหน

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!