KBANK ยกระดับสาขาเวียดนามQ1/63 รุกปล่อยกู้-ฝากถอนบน K-Plus-Banking Agent

ภัทรพงศ์ กันหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

“ธนาคารกสิกรไทย”ยกระดับสาขาในเวียดนาม เตรียมรับฝากถอน-ปล่อยกู้Q1/63 เน้นธุรกรรมผ่านดิจิทัล K-Plus และ Banking Agent เจาะลูกค้าเอสเอ็มอีรายย่อยชาวเวียดนาม-ธุรกิจรายใหญ่ของไทย คาดทำกำไรใน 3 ปี โต 2 เท่าทุกปี

นายภัทรพงศ์ กันหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และในฐานะประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ภายในปีนี้ธนาคารคาดว่าจะได้รับใบอนุญาต (Lisence) จัดตั้งสาขาธนาคารในเวียดนาม โดยช่วงไตรมาส 1/63 คาดว่าจะดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งเน้นทำธุรกิจ 2-3 เรื่องหลักคือ 1.บริการรับฝากถอนและปล่อยสินเชื่อ 2.เน้นธุรกรรมบน Digital Track ให้มากที่สุด เนื่องจากพอมีแค่สาขาเดียวเราคงต้องใช้ดิจิทัล เช่น K-Plus, Banking Agent ซึ่งลักษณะจะคล้ายรูปแบบในประเทศไทย 3.ขยายงานผ่านพาร์ตเนอร์ธนาคาร

เป้าหมายหลักของธนาคารคือ กลุ่มธุรกิจของไทยขนาดใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยทำอย่างไรที่เขาจะให้บริการลูกค้าชาวเวียดนามที่มีอยู่กว่า 90 ล้านคนได้ ซึ่งถ้าเรามีแพลตฟอร์มที่ให้เขาเข้าถึงอย่างแอปพลิเคชั่น K-Plus ที่ลูกค้าสามารถขายของ เก็บเงิน จ่ายเงิน เพื่อช่วยให้ธุรกิจของไทยลงไปถึงคนซื้อได้

ทั้งนี้สาขาเคแบงก์จะตั้งอยู่ที่โฮจิมินต์ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีธุรกิจค่อนข้างมาก ซึ่งเดิมเคยเป็นสำนักงานผู้แทนที่จะถูกออัพเกรดขึ้นมา ส่วนสำนักงานผู้แทนอีกที่หนึ่งที่เมืองฮานอยคาดว่าทางรัฐบาลเวียดนามน่าจะให้เราเก็บไว้ด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเจรจา ที่ผ่านมาสินเชื่อส่วนใหญ่เราปล่อยให้กับบริษัทใหญ่ๆ ในไทย และเขาก็เอาเงินไปลงทุนเอง

อย่างไรก็ดีคาดว่าการลงทุนสาขาธนาคารในเวียดนามจะทำกำไรให้ได้ภายใน 3 ปี โดยจะต้องเติบโต 2 เท่าทุกปีติดต่อกัน 3 ปี ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 2,400 ล้านบาท โดยแผนงานมุ่งเน้นทำตลาดลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อยชาวเวียดนาม รวมถึงธุรกิจรายใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยเบื้องต้นคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายย่อยชาวเวียดนามในวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย แต่จริงๆ แล้วจุดแรกที่เราอยากจะไปคือกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี เช่น ค้าขายและผู้ผลิตที่เน้นในตลาดท้องถิ่น เนื่องจากเราใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งจะทำให้เห็นประสิทธิภาพของตัวร้านค้า และความเสี่ยงไม่สูงด้วย

“ความเสี่ยงอาจจะมีเยอะอยู่ เพราะเป็นตลาดใหม่ที่เราเข้าไป จึงต้องระมัดระวังนิดหนึ่ง แต่ด้วยวิธีการปล่อยกู้ในรูปแบบที่เราเห็นข้อมูลและใช้ชีวิตอยู่บนแพลตฟอร์มของเราและของพาร์ตเนอร์เรา ก็น่าจะทำให้เราเก็บความเสี่ยงได้ดีกว่า” นายภัทรพงศ์กล่าว

สำหรับ Banking Agent ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ยังไม่ได้เลือก เพราะเรารู้แล้วว่าจะได้ Lisence ในการทำแบรนด์ แต่สูตรสำเร็จนอกจากนั้นคือ เรื่องฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก แลความสามารถในเอาข้อมูลมาใช้ ซึ่งโลกวันนี้พัฒนาไปมาก มีพาร์ตเนอร์ที่เติมเต็มความร่วมมือทั้ง 3 ด้าน โดยที่เรามีความเชี่ยวชาญทางด้านธนาคาร ปัจจุบันเราถือเป็นแบงก์ไทยที่ได้ Lisence เรื่องของ Banking Agent อยู่ในอันดับ 3 รองมาจากธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

ตลาดเวียดนามถือว่ามีการแข่งขันสูง ทำให้มีการเติบโตเร็ว แต่หนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็ค่อนข้างสูง จากที่ประสบปัญหา hamburger crisis ทำให้ธนาคารของเวียดนามหลายแห่งมีปัญหา เพราะฉะนั้นในช่วงแรกเขาพยายามที่จะให้ธนาคารต่างชาติเข้าไปซื้อกิจการและบริหาร โดยที่เราไปในมุมที่อยากจะได้สาขาก็เลยใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งเป็มความร่วมมือระดับประเทศ โดยตั้งเป้าที่จะส่งเสริมให้การค้าขายเทรดระหว่างประเทศประมาณ 20,000 ล้านเหรียญต่อปี