เปิดคลีนิกแก้หนี้ระยะ 2 ดึง Non-bank ร่วม หวังลดหนี้ครัวเรือน เริ่ม 15 พ.ค.นี้

ธปท.ลุยคลีนิกแก้หนี้ระยะ 2 ให้ลูกหนี้Non-Bank ร่วมโครงการ เริ่ม 15 พ.ค.นี้ หวังช่วยลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนทั้งระบบให้ลดลง หลังพุ่งสูงอยู่ที่ระดับ 80 % ของจีดีพี มีลูกหนี้กว่า 4.9 แสนราย ยอดหนี้ 4.9 หมื่นล้านบาท คาดสิ้นปีมียอดลูกหนี้ร่วมโครงการทั้งสองระยะอย่างน้อย 7.5 พันราย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารเเห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ประมาณ 80 % ของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี) ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับระดับรายได้ของประเทศ และเป็นสัดส่วนที่รวมเฉพาะหนี้ในระบบเท่านั้น ไม่ได้รวมหนี้นอกระบบ หนี้ กยศ. ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขจะก่อผลเสียในระยะยาว

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับปรุงกฏเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล เครดิตการ์ด รวมถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมถึงได้ส่งเสริมให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ โดยการปล่อยสินเชื่อให้พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการทำธุรกิจ และต้องมีการปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อหนี้ครัวเรือนในระยะยาว

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2 เป็นการต่อยอดมาจากโครงการระยะเเรกที่ครอบคลุมเฉพาะลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น และพบว่า มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) รวม 19 แห่ง ถึง 80% ของทั้งหมด

เมื่อรวมกับธนาคารพาณิชย์ 16 แห่งที่ร่วมโครงการอยู่แล้วจะทำให้โครงการคลินิกแก้หนี้ครอบคลุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเกือบทั้งระบบ โดยลูกหนี้ของ Non-bank สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป คาดว่าจะมีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น อย่างน้อยสิ้นปีนี้จะมีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 7.5 พันราย

สำหรับโครงการคลีนิกแก้หนี้ ระยะที่ 1 ตั้งแต่เริ่มโครงการเดือน มิ.ย. 60 มีลูกหนี้ติดต่อขอเข้าร่วมโครงการ 3.7 หมื่นราย แต่ไม่เข้าข่ายข้อกำหนดของโครงการระยะที่ 1 ซึ่งกำหนดให้เป็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย(NPL) ของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ทำให้มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการและปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จ อยู่ที่ 1,500 ราย มียอดหนี้อยู่ที่ 405 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีเจ้าหนี้ 3 รายขึ้นไป มีเงินต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อราย มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4-7 %ต่อปี ระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 10 ปี และผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่ก่อหนี้ใหม่ภายใน 5 ปี โดยมีลูกหนี้ที่ชำระหนี้สำเร็จและออกจากโครงการแล้วจำนวน 16 ราย

ขณะเดียวกัน ในส่วนของหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน ที่มีเจ้าหนี้ ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ณ วันที่ 30 พ.ย. 61 มีจำนวนลูกหนี้จำนวน 4.9 แสนราย มียอดหนี้อยู่ที่ประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น ลูกหนี้ที่เป็นหนี้กับ Non-bank ตั้งแต่ 2 เเห่งขึ้นไป อยู่ที่ 3.09 แสนราย มีภาระหนี้ 2.18 หมื่นล้านบาท กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้ Non-bank และธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป มีจำนวน 9.6 หมื่นราย มีภาระหนี้ 8.3 พันล้านบาท และกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้ธนาคารพาณิชย์เพียงอย่างเดียวตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป มีจำนวน 8.7 หมื่นราย มีภาระหนี้ 1.86 หมื่นล้านบาท

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการนั้น คือเป็นหนี้เสีย ไม่ได้ชำระหนี้ หรือไม่ได้ชำระขั้นต่ำ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือ สินเชื่อส่วนบุคคล ของธนาคาร หรือ ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่เรียกว่า Non-Bank ตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป เป็นระยะเวลานานติดต่อกันมากกว่า 90 วัน และก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2562 ไม่ถูกดำเนินคดี หรือ ถูกดำเนินคดีแต่ต้องยังไม่มีคำพิพากษา มียอดหนี้เงินต้นค้างชำระรวมไม่เกิน 2 ล้านบาท เป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ และอายุไม่เกิน 65 ปี

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล กล่าวว่า การขยายขอบข่ายความร่วมมือในระยะที่ 2 นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าโครงการและช่วยให้การแก้ปัญหาโดยรวมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้จะมีภาระการผ่อนชำระคืนต่อเดือนที่น้อยลง ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนและคงที่ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ โดยสามารถผ่อนชำระได้นานถึง 10 ปี

โครงการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้ มีโอกาสผ่านพ้นวิกฤติทางการเงินไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบซึ่งจะส่งผลให้ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้น โดยหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

กว้างขวางและครบวงจรมากขึ้น

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ประธานกรรมการบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) กล่าวว่า โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2 จะครอบคลุมผู้ประกอบการ Non-bank 19 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้โครงการสามารถเป็นกลไกแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศได้อย่างกว้างขวางและครบวงจรมากขึ้น

ทั้งนี้ SAM ได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการอย่างเต็มที่ ทั้งการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาหนี้สิน การพัฒนาระบบงาน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารใหม่ คือ “Line official account – debt clinic by SAM” ซึ่งจะทำให้การติดต่อและสมัครเข้าร่วมโครงการกับ SAM ทำได้ สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ SAM ยังจัดโครงการพบกันวันหยุดกับโครงการคลินิกแก้หนี้เปิดบริการ ในวันเสาร์ที่ 11, 18 และ 25 พ.ค. 2562 เวลา 09.00 น.- 16.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อและสมัครเข้าร่วมโครงการรวมถึงการส่งเสริมความรู้และสร้างวินัยทางการเงินที่ดี

โดยในปีนี้จะมุ่งเน้นกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน ด้วยการจัดกิจกรรม เพิ่มทักษะการบริหารจัดการเงินซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญ และจะช่วยส่งเสริมค่านิยมที่ถูกต้องด้านการลดความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย และสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินที่ดีให้แก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้ ภาคครัวเรือน อันเป็นจุดมุ่งหมายที่ทุกฝ่ายยึดมั่นร่วมกัน