ผุดเกณฑ์คุมสินเชื่อรถมิ.ย. ธปท.สกัดหนี้ดีมานด์เทียม

ธปท.เตรียมออกเกณฑ์สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ คุมการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ป้องกันดีมานด์เทียม หลังยอดสินเชื่อพุ่งต่อเนื่อง ขณะที่แบงก์พาณิชย์ระบุ ขานรับช่วยสร้างมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ ด้านนักวิเคราะห์ชี้ยอดขอสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย โดย 5 ไตรมาสโตทะลุ 10% ติดต่อกัน

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าที่แบงก์ชาติได้ลงพื้นที่เข้าไปตรวจการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงินว่า ส่วนใหญ่ไม่พบความผิดปกติ แต่อาจจะมีบางที่อาจจะมีการหย่อนยานเรื่องการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ไปบ้าง โดยขณะนี้แบงก์ชาติอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ประเมินผล และกำหนดความสามารถชำระหนี้ หรือสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio : DSR) ของสถาบันการเงินและน็อนแบงก์ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางและเป็นบรรทัดฐานเดียวกันในการปล่อยสินเชื่อ และผู้ขอสินเชื่อสามารถที่จะผ่อนชำระได้ โดยคาดว่าแบงก์ชาติจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ให้เป็นมาตรฐานภายในช่วงเดือนมิถุนายนนี้

อย่างไรก็ตาม นายรณดลยอมรับว่า การกำหนด DSR ของภาพรวมอาจจะทำได้ยาก เนื่องจากไม่ได้มีเฉพาะสถาบันการเงินเท่านั้น แต่มีทั้งบริษัทลูกแบงก์และน็อนแบงก์ที่เข้ามาแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อเป็นจำนวนมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์มีการขยายตัวต่อเนื่อง

ใช้เกณฑ์ DSR ยุ่งยาก

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หากจะออกเกณฑ์ DSR “อาจจะค่อนข้างยุ่งยาก” เพราะแบงก์ชาติต้องมาพิจารณาว่า สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้จะแยกแบบรวมหนี้ทั้งหมดหรือแค่หนี้ก้อนนั้นก้อนเดียว และหากจะคุมเข้มเต็มรูปแบบจริง ๆ ก็อาจจะต้องคุมสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้แบบรวมหนี้ทั้งหมดว่า มีเงินเดือนเท่าไร มีรายได้เท่าไร และผ่อนกี่เปอร์เซ็นต์ “ต้องรวมทุกอย่าง” แต่ถ้าคุมขนาดนั้นอาจจะทำให้คนกู้ไม่ได้เลย แต่มองว่าง่ายที่สุดแบงก์ชาติควรกำหนดเกณฑ์แบบเงินดาวน์ที่คุมสินเชื่อบ้านไปก่อนหน้านี้ “แบงก์ชาติจะคุมได้เฉพาะสถาบันการเงิน แต่สำหรับน็อนแบงก์อาจจะค่อนข้างคุมได้ลำบาก เพราะว่าไลเซนส์ไม่ได้ไปขึ้นกับแบงก์ชาติ” นายประพลกล่าว

ปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อรถยนต์จากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาทจากที่ปีหนึ่งมียอดขายประมาณ 1 ล้านคัน ในประเด็นนี้ทางกระทรวงคลังและแบงก์ชาติน่าจะเป็นห่วงหนี้ครัวเรือน เพราะว่าบ้านที่อยู่อาศัยมีมาตรการออกมาแล้ว จึงต้องมาดูมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ แต่ก็อาจจะคุมได้ไม่ 100% แต่ถ้ามีมาตรการคล้าย ๆ เพิ่มเงินดาวน์ออกมาก็อาจจะทำให้ระยะสั้นตลาดรถยนต์อาจจะหดตัวไปบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าดูในระยะยาวน่าจะทำให้ตลาดโดยรวมโตแบบมีเสถียรภาพได้

สินเชื่อรถคงค้าง 1.1 ล้านล้าน

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า ที่ผ่านมาหนี้เช่าซื้อรถยนต์มีการเติบโตถึง 11% (เฉพาะข้อมูลเครดิตบูโร) แต่การจะออกมาตรการมาคุมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คงทำได้ยาก ขณะเดียวกันกลุ่มที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้กำกับดูแลโดยตรงอย่าง “กลุ่มลีสซิ่ง” ที่เป็นของค่ายรถยนต์เอง ซึ่งหากคุมเฉพาะฝั่งแบงก์ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ฝั่งเดียว

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นในส่วนของสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (เฉพาะระบบธนาคารพาณิชย์) มียอดคงค้างที่ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งโตมาต่อเนื่องตลอดปี 2561 ไตรมาสละ 12-13% ขณะที่มาถึงไตรมาสแรกปีนี้ก็ยังโตต่อ น่าจะเกิน 10% หรือโต 2 หลักต่อเนื่องกัน 5 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกปีก่อน

อย่างไรก็ตาม หากดูคุณภาพสินเชื่อก็จะพบว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 1.7% และหากดูการผิดนัดชำระในช่วง 30-90 วัน (SM) จะพบว่า เช่าซื้อรถยนต์มี SM ถึง 7.5% และการที่ ธปท.ส่งสัญญาณออกมาตรการคุมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

“ก็เป็นไปได้ที่ ธปท.จะออกมาตรการมาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหากคุมได้ก็น่าจะช่วยลดเรื่องการออกรถโดยใช้เงินดาวน์ต่ำหรือดาวน์ 0% ลงไปได้ แต่คำถามคือจะคุมอย่างไร เพราะสินเชื่อรถยนต์ในระบบแบงก์มีแค่ 1.1 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วนประมาณ 60% ของตลาด ขณะที่ในส่วนของน็อนแบงก์และพวกลีสซิ่งที่ค่ายรถยนต์ทำเองมีอีกกว่า 6 แสนล้านบาทหรือกว่า 20 ราย” นายนริศกล่าว

นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ได้มีเจ้าหน้าที่จาก ธปท.เข้ามาหารือกับธนาคารแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุปหรือได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจาก ธปท. แต่คาดว่าหลังจากการหารือจะเป็นผลบวกกับธนชาต โดยการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ผ่านมาได้ทำระบบการให้คะแนนสินเชื่อ (credit scoring model) ทำให้สามารถคัดเลือกลูกค้าและความสามารถในการชำระเงินของลูกค้าได้ดีพอสมควร และมั่นใจว่าระบบ credit scoring model ของธนาคารน่าจะทำให้คุณภาพของสินเชื่อดี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการติดตามยอดการปล่อยสินเชื่อทุกเดือน และมีการติดตามความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หากมีการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์เกิดขึ้นก็จะไม่กระทบต่อยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อสำหรับรถยนต์มือสอง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอุปกรณ์ตกแต่งรถมาเรียบร้อยแล้ว จึงตัดปัญหาเรื่องสินเชื่อเงินทอนจากอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ได้ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ดี หาก ธปท.เข้ามาควบคุม นายอดิศรมองว่า จะไม่กระทบดีมานด์ซัพพลายการปล่อยสินเชื่อ โดยจะต้องให้ยอดการปล่อยสินเชื่อตรงกับราคารถยนต์ นอกจากนี้หาก ธปท.เข้ามาควบคุมดูแลการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ก็จะทำให้การทำธุรกิจมีความรัดกุมมากขึ้น

คลิกอ่านเพิ่มเติม… ค่ายรถตั้งรับแบงก์ชาติคุมเข้มสินเชื่อ มาสด้าดึงทิสโก้-ธนชาติ ส่ง “สกายแคมเปญ” ดูดลูกค้า

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!