ค่ายรถตั้งรับแบงก์ชาติคุมเข้มสินเชื่อ มาสด้าดึงทิสโก้-ธนชาติ ส่ง “สกายแคมเปญ” ดูดลูกค้า

ค่ายรถยนต์ผนึกแคปทีปไฟแนนซ์ตั้งรับมาตรการคุมเข้มสินเชื่อแบงก์ชาติ มาสด้า งัด “สกายแคมเปญ” ออกแบบเหมาะสมตามความต้องการลูกค้า “มิตซูบิชิ” หลบแคมเปญปลอดดาวน์หนีจับลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้น

ผลจากมาตรการคุ้มเข้มสินเชื่อรถยนต์ของแบงก์ชาติ โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ประเมินผล และกำหนดความสามารถชำระหนี้ หรือสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio : DSR) ของสถาบันการเงินและน็อนแบงก์ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางและเป็นบรรทัดฐานเดียวกันในการปล่อยสินเชื่อ เตรียมประกาศหลักเกณฑ์ภายในช่วงเดือนมิถุนายนนี้

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มาสด้าเตรียมแผนรับมือกับมาตรการของแบงก์ชาติที่จะกำลังจะคลอด โดยเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาจับมือกับแคปทีฟไฟแนนซ์ 2 ราย คือทิสโก้และธนชาต จัดทำ “สกายแคมเปญ” ซึ่งออกแบบการเลือกใช้แคมเปญให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย มีทั้ง “สกายโปรโมชั่น” การทำแคมเปญและโฆษณาออกแบบมารองรับความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า , “สกายพลัส” แคมเปญในรูปแบบคิกแบ็กหรือคืนส่วนลดให้ลูกค้า , “สกายเซฟ” รูปแบบอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือ0% และ “สกายฟิก” อัตราดอกเบี้ยแบบปกติ

“เชื่อว่ารูปแบบต่างๆ ที่คัดสรรให้จะช่วยทำให้ลูกค้าเป็นเจ้าของรถมาสด้าได้ง่ายขึ้นและป้องกันหนี้เสียได้ในระดับหนึ่ง”

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่าในระยะยาว จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการเงิน และอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งยังช่วยสกัดโปรแกรมทางการเงิน ที่ไม่ถูกต้อง หรือโปรแกรมทางการเงินแปลกๆ ออกไปจากระบบได้ แต่ทั้งนี้หมายความว่า การดำเนินการดังกล่าวจะต้องทำแบบจริงจัง ไม่ปล่อยให้บางค่ายอาศัยช่องโหว่ ทำได้บางยี่ห้อ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจาก บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เจตนาแบงก์ชาติต้องการสกัดสินเชื่อเงินทอน ซึ่งเอาราคาชุดแต่ง อุปกรณ์เสริมเข้าไปบวกเพิ่มทำให้ได้เงินกู้เกินไปกว่าราคารถ ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดหนี้เสียภายหลังได้ มาตรการดังการถือเป็นเรื่องดี แต่ก็เชื่อว่าน่าจะกระทบกับภาวะการขายรถแน่ๆ โดยเฉพาะมาตรการยกเลิกปลอดดาวน์ หรือบังคับเพิ่มเงินดาวน์ให้สูงขึ้น

มิตซูบิชิคงต้องปรับแผนการทำตลาดโดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีรายได้สูงขึ้น เช่น ลูกค้ารถปิกอัพก็หันไป เจาะกลุ่มรถดับเบิลแค็บมากขึ้น หรืออีโคคาร์ ก็ต้องเน้นทำตลาดรุ่นท็อปเพิ่มขึ้น ส่วนการทำตลาด ก็ต้องปรับรูปแบบเข้าไปยังพื้นที่ ที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอยู่ เช่นเปลี่ยนจากตลาดนัด เข้าไปจัดตามห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานมากขึ้น


คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่…ผุดเกณฑ์คุมสินเชื่อรถมิ.ย. ธปท.สกัดหนี้ดีมานด์เทียม