เศรษฐกิจไตรมาส 2 ส่อโตต่ำ 3% จับตาตั้งรัฐบาลอืดกระทบลงทุน

เศรษฐกิจไทยอ่วม Q2 ส่อโตต่ำกว่า 3% ใกล้เคียง Q1 เหตุส่งออกยังคงหดตัว “ซีไอเอ็มบี ไทย-สศค.” มองครึ่งปีแรกส่งออกติดลบต่อเนื่อง “อมรเทพ” หวังตั้งรัฐบาลเสร็จ มิ.ย.ไม่ลากยาว ครม.ใหม่ออกมาตรการกระตุ้นดึงเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้น ห่วงการเมืองไม่ชัดกระทบเชื่อมั่นเอกชนลงทุน-กำลังซื้อรากหญ้าทรุด

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2562 จะขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 2.8% โดยมีความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ ที่ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ลงตัว ก็มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นเอกชน ขณะที่กำลังซื้อระดับล่างก็ยังตกต่ำอยู่ จากรายได้ภาคเกษตรยังไม่ดีนัก โดยปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตไม่ดี แต่ราคาสินค้าเกษตรก็ยังไม่ได้ขยับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่มีผลกระทบมากกว่า ก็คือ ปัจจัยภายนอกที่สงครามการค้ากระทบการส่งออกค่อนข้างรุนแรง โดยตัวเลขส่งออกไตรมาส 2 น่าจะติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ราว -3% ขณะที่การท่องเที่ยวก็ยังดูแผ่ว โดยนักท่องเที่ยวจีนยังติดลบเล็กน้อย ซึ่งก็มาจากฐานปีก่อนที่ค่อนข้างสูงด้วย แต่ก็ต้องจับตาว่าผลกระทบจะมีไปถึงครึ่งหลังของปีด้วยหรือไม่ โดยมีแนวโน้มว่าจะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะโต 3.7% เหลือโตต่ำกว่า 3.5%

“ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลอาจจะกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน เรากำลังมอนิเตอร์ตัวเลขการลงทุนอยู่โดยเฉพาะของภาคเอกชน โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรยังดี เห็นได้จากมีการนำเข้าเครื่องจักรอยู่ ซึ่งก็ต้องดูต่อไปว่า นำเข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทดแทนแรงงานหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็อาจจะไม่ได้กระตุ้นกำลังซื้อ ถ้าไม่มีการขยายชั่วโมงการทำงาน ขณะที่ด้านการก่อสร้างก็ต้องจับตา” นายอมรเทพกล่าว

นายอมรเทพกล่าวว่า สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเสร็จสิ้นได้ในเดือน มิ.ย. ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเร่งตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากลากยาวกว่านี้ก็ย่อมมีผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ไทยผ่านปัญหาการเมืองมาหลายครั้ง แต่ในด้านเศรษฐกิจยังสามารถฝ่าฟันมาได้ทุกครั้ง โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงผลกระทบมากกว่าคือ ปัจจัยภายนอก ซึ่งการส่งออกที่ชะลอมาจาก 3 ส่วน คือ สงครามการค้าส่งผลกระทบ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอ และค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคในช่วงนี้

“ด้านในประเทศ เรายังมีเครื่องมือที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือทางการเงิน เครื่องมือทางการคลัง ดังนั้น จึงต้องจับตาดูว่า ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลลากยาว ก็อาจจะมีมาตรการด้านการคลัง หรือด้านการเงินออกมา” นายอมรเทพกล่าว

ขณะที่ล่าสุด นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน เม.ย. 2562 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการใช้จ่ายภายในประเทศ การนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง ซึ่งขยายตัวสูงถึง 16.9% ต่อปี ประกอบกับการกลับมาขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่นำโดยนักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซียเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ายังคงหดตัว -2.6% ต่อปี ส่งผลให้ช่วง 4 เดือนแรกการส่งออกหดตัวที่ -1.9%

ส่วนการทำงบประมาณปี 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้า 3 เดือน นายพรชัยกล่าวว่า จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะงบฯประจำยังเบิกจ่ายได้ และมีงบฯลงทุนปี 2562 ที่เบิกเหลื่อมปี รวมถึงงบฯลงทุนที่ผูกพันข้ามปีสามารถเบิกจ่ายได้อยู่ ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ก็เชื่อว่าเอกชนมีความเชื่อมั่น เพราะขณะนี้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว อยู่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีรัฐบาลแน่นอน เพราะตอนนี้ก็มีประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษก สศค. กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจเดือน เม.ย. ถือว่าขยายตัวได้ดีกว่าเดือน มี.ค. เนื่องจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี และการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอยู่ ขณะที่การส่งออกยังติดลบ แต่ก็หดตัวน้อยกว่าเดือน มี.ค.

นายพิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้ส่งออก 4 เดือน หดตัวไป -1.9% ต่อปี โดยไตรมาส 2 และครึ่งปีแรกคงจะติดลบเล็กน้อย และคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง โดยการที่ส่งออกติดลบเป็นเหมือนกันทั้งภูมิภาคไม่เฉพาะไทย โดยไทยถือว่าลบไม่มากหากเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ

“สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2 ตอนนี้เรามีตัวเลขล่าสุดคือ เม.ย. ก็พบว่า การส่งออกยังหดตัว แต่หดตัวน้อยลง ท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวเป็นบวก แม้นักท่องเที่ยวจีนจะยังติดลบ แต่นักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซียขยายตัวได้ดี ส่วนการบริโภคและการลงทุนก็ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดย สศค. เรามองว่า ไตรมาส 2 เศรษฐกิจภาพรวมน่าจะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาส 1” นายพิสิทธิ์กล่าว


อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่สามารถประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ได้อย่างชัดเจน เพราะต้องรอตัวเลขอีก 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย.) ก่อน ทั้งนี้ สศค.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยรอบต่อไปในเดือน ก.ค.