โรดแมป “คุ้มภัยโตเกียวมารีน” ควบรวมเบ็ดเสร็จ ผงาดท็อป 3

นับถอยหลังการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) และ บมจ.ประกันคุ้มภัย ที่จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นบริษัทประกันที่มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยสินทรัพย์รวม 2.8 หมื่นล้านบาท และมีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นมาติดท็อปทรีของวงการประกันวินาศภัยไทยทีเดียว

โดยทั้งสองบริษัทจะดำเนินกิจการภายใต้ชื่อบริษัทใหม่เป็น “บริษัท คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)” ในปี 2563 ภายใต้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ที่มี “โตเกียวมารีน” ถือหุ้นในสัดส่วน 49% และที่เหลือ 51% เป็นผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว “โตเกียวมารีนโฮลดิ้ง” ประกาศทำสัญญาซื้อขายหุ้นของ “ประกันคุ้มภัย” จากกลุ่ม IAG ด้วยมูลค่ารวม 13,000 ล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าการควบรวมกิจการ “สุธีชัย สันติวราคม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ประกันคุ้มภัย กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หลังจากที่ได้ยื่นไปเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปี”63 และบริษัทใหม่จะต้องคืนใบอนุญาตประกอบกิจการ 1 ราย ตามข้อระเบียบกฎหมาย

ทั้งนี้ การควบรวมของ 2 บริษัทดังกล่าว จะต้องนำเสนอให้กับคณะกรรมการ (บอร์ด) คปภ.พิจารณา เนื่องจากเข้าข่ายกรณีบริษัทต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 49%

“สุธีชัย” กล่าวว่า หลังการควบรวม 2 บริษัท จะทำให้พอร์ตเบี้ยประกันภัยของบริษัทใหม่ คือ “คุ้มภัยโตเกียวมารีนฯ” มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่า และทำให้มาร์เก็ตแชร์เลื่อนอันดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วอยู่อันดับที่ 3 ของวงการประกันทีเดียว โดยเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 18,000-19,000 ล้านบาท จากเดิมที่แต่ละบริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ 9,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้อันดับทางการตลาดกระโดดขึ้นมาอยู่อันดับ 3 จากที่เคยอยู่ top ten มาก่อน

“ซีอีโอ” ฉายภาพโครงสร้างพอร์ตของบริษัทใหม่ว่า พอร์ตประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จะครองสัดส่วนอันดับ 1 ของอุตสาหกรรม ขณะที่ประกันภัยรถยนต์ขยับขึ้นมาครองอันดับ 2 รวมถึงประกันภัยเบ็ดเตล็ดแซงขึ้นมาอยู่อันดับ 5 โดยมีฐานลูกค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นรวมเป็น 1.3 ล้านราย มาจากลูกค้าประกันคุ้มภัย 1 ล้านราย และลูกค้าโตเกียวมารีนอีก 3 แสนราย

ส่วนพนักงาน มีจำนวนรวม 2,000 คน ขณะที่มีสาขาให้บริการมากกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้กำลังศึกษาแผนธุรกิจหลังควบรวม โดยต้นทุนที่จะลดลงได้อันดับแรกคือระบบหลังบ้าน (back office) ที่จะรวมกัน

“หลังการควบรวม บริษัทยังไม่มีแผนจะเพิ่มทุน เพราะบริษัทยังมีเงินทุนเหลือเฟือ โดยประกันคุ้มภัยดํารงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (RBC) สัดส่วนไม่ต่ำกว่า 300-400% ซึ่งเพียงพอรองรับความสามารถในการขยายงานที่เพิ่มขึ้นเมื่อรวมกันแล้ว”

ขณะเดียวกัน โครงสร้างพอร์ตประกันจะมีความสมดุลมากขึ้น โดยประกันภัยรถยนต์จะมีสัดส่วน 70% ของพอร์ตรวม และประกันภัยที่ไม่ใช่รถมีสัดส่วน 30% จากปัจจุบันฝั่งโตเกียวมารีนมีสัดส่วนประกันภัยที่ไม่ใช่รถค่อนข้างมากหรือราว 48% ขณะที่ประกันคุ้มภัยมีสัดส่วนประกันภัยรถยนต์สูงถึง 86%

“สุธีชัย” ตั้งเป้าหมายในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2563-2565) ของบริษัทใหม่ว่า จะมีเบี้ยรับรวมขึ้นไปแตะ 21,700 ล้านบาท โตปีละ 4-5% (ดูกราฟิก) และมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 1,100 ล้านบาท ภายในปี 2565 ซึ่งรายได้หลักจะมาจากยอดขายผ่านสาขา ธุรกิจหลักที่เป็นกลุ่มพันธมิตรเครือข่ายบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่มาทำธุรกิจในไทยและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งธุรกิจตัวแทนนายหน้า ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ สถาบันการเงิน และช่องทางขายผ่านออนไลน์

ด้าน “ฮิโระโนะริ คิริว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) กล่าวว่า การควบรวมกัน จะทำให้บริษัทใหม่มีศักยภาพที่แข็งแกร่งและสามารถมีผลิตภัณฑ์ประกันที่หลากหลายมาให้บริการลูกค้าที่กว้างมากยิ่งขึ้น โดยส่วนของโตเกียวมารีนจะนำความเชี่ยวชาญระดับโลก พร้อมกับนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเสริมทัพไม่ว่าจะเป็นเรื่อง AI หรือใช้โดรน ซึ่งขณะนี้มีการสำรวจว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำมาใช้ในตลาดเอเชีย รวมถึงการวิเคราะห์พื้นที่ความเสี่ยงในการรับประกันภัย

“ผมเชื่อในแนวคิดที่ว่า 1+1 ย่อมดีกว่า 2 เมื่อรวมพลังกันเป็นหนึ่ง ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น ยิ่งดูแลลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งมอบสิ่งดี ๆ ให้กับคู่ค้า สังคมไทย”

ทั้งนี้ ผลประกอบการของโตเกียวมารีนประกันภัยในปีนี้ คาดว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมจะเพิ่มขึ้นราว 2.24% มาอยู่ที่ 9,100 ล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 8,900 ล้านบาท

“ชินคิจิ ไมค์ มิกิ” กรรมการผู้จัดการ โตเกียวมารีนเอเชีย กล่าวว่า ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วยธุรกิจจากญี่ปุ่นจำนวนมาก อีกทั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม ตั้งอยู่ใจกลางของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMV) ถือเป็นอีกตลาดที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจของโตเกียวมารีน หลังจากการควบรวมกันแล้ว จะทำให้โตเกียวมารีนเอเชีย มี “ธุรกิจประกันในไทย” ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของยอดขายหรือรายได้ (top line) รองลงมาเป็นอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ส่วนธุรกิจประกันของโตเกียวมารีนในภูมิภาคนี้ ยังมีสัดส่วนเพียง 6% ของผลกำไรทั้งหมดที่ได้จากธุรกิจต่างประเทศ จึงคาดหวังจะสามารถผลักดันให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องได้ไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่มีธุรกิจประกันวินาศภัยกว่า 9 แห่ง และธุรกิจประกันชีวิตอีก 5 แห่ง

ขณะเดียวกัน ฝั่งโตเกียวมารีนโฮลดิ้ง “ชินคิจิ ไมค์ มิกิ” กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้ได้ยื่นขอจดทะเบียนทำธุรกิจประกันกับทางหน่วยงานกำกับประกันในประเทศเมียนมาแล้ว โดยเป็นการร่วมทุนกับบริษัท Grand Guardian In-surance Holding Public Company Limited หรือ GGIH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Grand Guardian General Insurance Company Limited (GGGI) ที่โตเกียวมารีนจะเข้าไปถือหุ้นร่วมในสัดส่วนประมาณ 35%

“ขณะนี้อยู่ระหว่างรออนุมัติ จึงอาจยังไม่แน่ใจว่าจะดำเนินธุรกิจได้ทันภายในปีนี้หรือไม่ แต่ได้วางแผนธุรกิจที่จะเข้าไปเจาะกลุ่มลูกค้าพันธมิตรเครือข่ายบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เช่น ซูซูกิ, โตโยต้า เป็นต้น รวมถึงลูกค้ารายย่อยในเมียนมาด้วย”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาพรวมตลาดประกันในเมียนมามีเบี้ยประกันรวม 8,000 ล้านเยน หรือราว 2,300 ล้านบาท มองว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะขยายตัวไปได้มากถึง 100,000 ล้านเยน หรือราว 2.8 หมื่นล้านบาท

นับเป็นการปักหมุดของ “คุ้มภัยโตเกียวประกัน” ที่มีสัญชาติไทย-ญี่ปุ่น ที่ต้องการขยายแลนด์มาร์กธุรกิจประกันให้ครอบคลุมภูมิภาคนี้ คงต้องจับตาหมายเกมนี้กันต่อไป