ลุ้นระทึกหุ้น “จีสตีล” เปิดเทรดชั่วคราว 1-31 ก.ค.นี้-บิ๊กจีสตีลรับสภาพ ตลท.สั่ง ขณะที่หุ้นมีฟรีโฟลทสูง 50%

ลุ้นระทึกหุ้น “จีสตีล” เปิดเทรดชั่วคราว 1-31 ก.ค.นี้-บิ๊กจีสตีลรับสภาพ ตลท.สั่ง ขณะที่หุ้นมีฟรีโฟลทสูง 50% – พรุ่งนี้ชงบอร์ดผ่านงบไตรมาส 1 เผยธุรกิจกลับมาผลิต พ.ค.62 หนุนกระแสเงินสดหมุนเวียน

จับตาหุ้น “จีสตีล” กลับมาเทรดชั่วคราวช่วง 1-31 ก.ค.นี้ บิ๊ก GSTEL รับสภาพตาม ตลท.สั่ง พร้อมชงบอร์ดอนุมัติงบไตรมาส 1/62 ในวันพรุ่งนี้ (27 มิ.ย.) แจงเหตุส่งงบล่าช้า เพราะรอผลตรวจสอบโกงซื้อขายเศษเหล็กในภาคตะวันออก มั่นใจงบไตรมาส 2-3 ส่งได้ตามปกติ พร้อมคาดจะกลับมาเทรดปกติช่วง 16 พ.ย.62
เผยไตรมาสแรก หยุดการผลิตแบกค่าใช้จ่าย ลุ้นไตรมาส 2 เริ่มกลับมาผลิตราว 6 สัปดาห์ เห็นกระแสเงินสดหมุนเวียน อ้อนปีนี้เป็นปีปรับโครงสร้างหนี้ให้จบ ปีหน้าเร่งพลิกฟื้นผลดำเนินงาน

นางสาวสุนทรียา วงศ์ศิริกุล กรรมการบริหาร บริษัท จี สตีล จากัด (มหาชน) หรือ GSTEL เปิดเผยว่า จากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ประกาศเกณฑ์พิเศษสำหรับหุ้นที่ถูกขึ้นเครื่องหมายพักการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (SP) นานเกิน 3 เดือน ให้มีโอกาสทำการซื้อขายหุ้นช่วงระหว่างวันที่ 1-31 กรกฎาคมนี้ หลังจากนั้นจะขึ้นเครื่องหมาย SP ยาวจนกว่าบริษัทจะดำเนินการแก้ไขคุณสมบัติได้ตามเกณฑ์ที่ ตลท.กำหนดนั้น ทางบริษัทคาดว่า หุ้น GSTEL จะสามารถกลับมาซื้อขาย (เทรด) ปกติได้ เมื่อบริษัทนำส่งงบการเงินไตรมาส 2 และ 3/62 ตรงตามระยะเวลาการส่งงบการเงิน โดยคาดว่าจะกลับมาเทรดปกติราววันที่ 16 พ.ย.62 โดยล่าสุด หุ้น GSTEL หมุนเวียนอยู่ในกระดานตลาดหลักทรัพย์ (ฟรีโฟลท) สัดส่วนราว 50%ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ขณะที่ราคาหุ้นก่อน SP อยู่ที่ 13 สตางค์

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา หุ้น GSTEL ได้ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP จากปัญหาการนำส่งงบการเงินปี 2561 ล่าช้า เนื่องจากบริษัทต้องการรอผลการสอบสวนจากกองปราบปรามการกระทาผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ) เพื่อประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์เศษเหล็กสูญหายจากกระบวนการโกงการซื้อขายเศษเหล็กในภาคตะวันออก

“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทได้รับข้อมูลจากการตรวจสอบเรื่องเศษเหล็กสูญหายครบถ้วนแล้ว” นางสาวสุนทรียากล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทได้จัดประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 โดยผู้ถือหุ้นได้อนุมัติรับรองงบการเงินปี 2560 ซึ่งบริษัทได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 และแต่งตั้งผู้สอบบัญชีสาหรับรอบบัญชีปี 2561 และ 2562 โดยบริษัทได้รายงานงบการเงิน ไตรมาส 1-3 ของปี 2561 และงบปี 2561 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงมีประกาศให้หุ้น GSTEL อยู่ในช่วงดำเนินการให้มีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขาย (resume stage) นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562
ส่วนแผนดำเนินการของ GSTEL ต่อจากนี้ ว่า ในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ บริษัทจะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่อพิจารณาอนุมัติงบไตรมาส 1/62 ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถส่งงบการเงินได้ครบถ้วน และไม่มีค้างส่งงบการเงินใดๆ อีก รวมทั้งบริษัทมั่นใจว่า จะสามารถส่งงบการเงินของไตรมาส 2 /62 เป็นต้นไป ได้ตามเวลาปกติ และยืนยันว่าบริษัทไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบควบคุมภายในบริษัท (หลังเกิดกระบวนการโกงการซื้อขายเศษเหล็ก)

นางสาวสุนทรียากล่าวว่า สำหรับภาพรวมผลดำเนินงานของ GSTEL ในไตรมาส 1/62 เนื่องจากช่วงต้นปีเป็นช่วงที่บริษัทได้มีการหยุดการผลิตเป็นเวลากว่า 3 เดือน ซึ่งจะไม่มีรายได้ แต่จะมีค่าใช้จ่ายประจำที่เกิดขึ้นราว 60 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่บริษัทเพิ่งกลับมาผลิตใหม่เป็นปกติเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้รับเงินกู้ระยะยาวจากกลุ่ม SSG สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 70 ล้านเหรียญ (ราว 2,000 ล้านบาท) ซึ่งเงินกู้จานวนดังกล่าว ทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอสาหรับการผลิตในช่วง off-peak ที่ระดับ 60,000-60,500 ตัน/เดือน ดังนั้น ตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2 จะเริ่มเห็นกระแสเงินสดเข้ามาหมุนเวียนดีขึ้น

“ปีนี้เรากลับมาผลิตที่ระดับ off-peak จะทำให้ลูกค้าเห็นว่าเรามีกำลังการผลิตที่สม่ำเสมอแล้ว ซึ่งจะทำให้เขามั่นใจและมาซื้อ (เหล็กรีด) กับเรา แทนการนำเข้าหรือซื้อจากเจ้าอื่น เพราะเราขายในราคาบาท แต่หากลูกค้านำเข้า จะเจอปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็เห็นค่าเงินบาทแข็งเกือบ 2 บาทแล้ว” นางสาวสุนทรียากล่าว

อย่างไรก็ตาม ปีนี้บริษัทจะเน้นขอปรับโครงสร้างหนี้ให้จบ เพื่อที่ปีหน้าจะได้เดินหน้าธุรกิจ และพลิกฟื้นผลดำเนินงานได้เต็มที่ โดยคาดว่าจะเห็นการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 100,000 ตัน/เดือน ในปีหน้า ซึ่งหมายถึงบริษัทจะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มอีกราว 30-40 ล้านเหรียญสหรัฐ


สำหรับความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างหนี้ของ GSTEL นางสาวสุนทรียากล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ทั้งหมด เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมและได้ประโยชน์สูงสุดกับผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และเป็นไปตามเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต ) และตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยหากการปรับโครงสร้างหนี้มีความชัดเจนและได้รับอนุมัติจากทุกหน่วยงาน บริษัทก็จะรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ โดยมั่นใจว่าบริษัทจะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้เสร็จทันภายในปีนี้แน่นอน