ชุมนุมนายแบงก์ที่ “Fintech Fair 2019” แข่งโชว์”เปิดบัญชีออนไลน์”เลิกพึ่งสาขา

ชุมนุมนายแบงก์ที่งาน “Bangkok Fintech Fair 2019” แข่งโชว์โปรดักต์การเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ “เปิดบัญชีออนไลน์” ไม่ต้องเดินทางไปสาขา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน Bangkok Fintech Fair 2019 ในระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2562 ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธปท. ภายในงานมีนายแบงก์หลายรายเข้าร่วม อาทิ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ, นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย, นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัล แบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ME by TMB เป็นต้น

ในงานมีการเปิดเวทีให้ธนาคารและสถาบันการเงิน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการเงินแก่กัน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ธนาคารหลายแห่งจัดบูธ นำเสนอเทคโนโลยีทางการเงินต่างๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (e-KYC : Electronic Know Your Customer) อย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งเพื่อใช้ในการเปิดบัญชีออนไลน์ หรือการชำระเงิน

พร้อมกันนี้ในงานได้มีการเปิดตัวระบบการพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิทัลโดยบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) ซึ่งเป็นระบบกลางในการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศ สำหรับการยืนยันตัวตนของประชาชนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบริการดิจิทัลต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน

ด้านนายสีหนาท ล่ำซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Payment Product Solution and Management ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้นำเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนด้วยการสแกนเส้นเลือดบนฝ่ามือ (Palm Vein) ภายใต้เครื่องหมายการค้า Fujitsu Palm Secure มาแสดงในงาน ซึ่งถือว่ามีความแตกต่าง เมื่อเปรียบเทียบกับการยืนยันตัวตนด้วยวิธีอื่นๆ อาทิ การจดจำใบหน้า (Facial Recognition) หรือการสแกนลายนิ้วมือ (Fingerprint) เป็นต้น

สำหรับการยืนยันตัวตนด้วยการ “สแกนเส้นเลือดบนฝ่ามือ” เป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้แพร่หลายในประเทศต่างๆ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นการใช้ชำระเงินอัตโนมัติด้วยตัวเอง (self-checkout) ในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อเพียงลูกค้าสแกนฝ่ามือเหนือเครื่อง Palm Vein Sensor เป็นอีกทางเลือกของการชำระเงิน ทดแทนการใช้บัตรเครดิต หรือการสแกนด้วยคิวอาร์โค้ดได้

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้โชว์การใช้ e-KYC เทคโนโลยีจดจำใบหน้า(Facial Recognition) มาใช้ในการให้บริการลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากทางออนไลน์ ( e-Savings) โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สาขา รวมถึง Thai QR Cross-border แพลตฟอร์มการชำระเงินด้วย QR Code ที่สามารถนำไปใช้ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ รวมทั้ง Tablet Application เป็นการสร้างมิติใหม่อยู่ไหนก็สามารถสมัครบัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ได้ เป็นต้น

เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพ ได้นำเสนอเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ที่อาศัยปัญญาประดิษฐ์มาช่วยในยืนยันตัวตนของลูกค้าเช่นกัน รวมถึงบริการ BeWallet – QR Code Payment บริการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน QR Code ได้ง่ายๆ ผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถจ่ายได้ทั้งร้านค้าในไทยและในอาเซียน รวมถึงประเทศอื่นๆในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น

ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทยนำเสนอนวัตกรรมบริการทางการเงินและไลฟ์สไตล์แห่งอนาคต อาทิ สาธิตบริการที่เชื่อมต่อระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกับNDID ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้โดยไม่ต้องมาที่สาขา , สาธิตนวัตกรรมการชำระเงินด้วย Biometrics Technology ช่วยให้สามารถโอนเงินไปยังผู้รับปลายทางได้โดยใช้เพียงใบหน้าของผู้รับเงิน และบริการตู้จำหน่ายสินค้าที่ลูกค้าสามารถชำระเงินด้วยใบหน้า เป็นต้น

ฟาก ธนาคารธนชาต ก็ได้เปิดตัว “สินเชื่อบุคคลดิจิทัล T-FIN” โดยใช้ระบบ National Digital ID มาช่วยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ทำให้สามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่ต้องมาที่สาขาธนาคาร โดยนายธีรชาติ จิรจรัสพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Enterprise Digital ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ขั้นตอนการขอสินเชื่อบุคคลในปัจจุบันค่อนข้างยุ่งยาก และต้องใช้เวลามาก ทำให้ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวก ทั้งการจัดเตรียมเอกสารแสดงรายได้ ต้องเดินทางไปสาขา และการรอผลพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่ต้องรอนานเป็นสัปดาห์

“ธนาคารธนชาตเข้าใจถึงความจำเป็นเร่งด่วนของลูกค้า จึงได้เริ่มศึกษาโครงการสินเชื่อบุคคลดิจิทัล T-Fin ประกอบกับนวัตกรรมทางการเงินที่พัฒนาขึ้นจากหลายด้าน รวมทั้งการเกิดขึ้นของโครงการ National Digital ID จึงทำให้เกิดสินเชื่อบุคคลดิจิทัลในรูปแบบ Information Based Lending ที่ใช้ข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือแทนเอกสารรายได้ ทำให้ทุกคนได้รับความเท่าเทียม และผลการอนุมัติสินเชื่อมีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพิ่มความสะดวกสบายไม่ต้องเดินทางมาที่สาขาธนาคาร ไม่ว่าลูกค้าจะเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไรหรืออยู่ที่ไหนก็สามารถขอสินเชื่อได้ง่ายๆ ผ่านแอปฯในสมาร์ทโฟน โดยธนาคารคาดว่าพร้อมเปิดให้บริการแอปพลิเคชัน T-FIN ในช่วงทดสอบแซนบ็อกซ์ในปลายปีนี้”

ขณะที่ธนาคารกรุงไทย นางอรนุช ศิรประภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย เปิดเผยว่า ธนาคารได้นำเสนอเทคโนโลยีทางการเงินมาพัฒนาบริการที่สนับสนุน 5 Ecosystems หลักของธนาคาร ประกอบด้วย

1. กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ ธนาคารได้นำเทคโนโลยี Face Authentication เป็นระบบตรวจสอบใบหน้ายืนยันตัวตนของลูกค้า

2. กลุ่มการชำระเงิน ธนาคารได้พัฒนา แอปพลิเคชั่น เป๋าตุง รองรับการจ่ายเงินด้วย QR และแอปพลิเคชั่น ถุงเงินประชารัฐ

3. กลุ่มสุขภาพและการรักษาพยาบาล ได้พัฒนา Self-Payment Service ตลอดจนพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลด้านการรับชำระระหว่างโรงพยาบาลและธนาคาร ผ่านระบบ Krungthai Corporate Online

4. กลุ่มมหาวิทยาลัยและการศึกษา ธนาคารนำ แอปพลิเคชั่น เป๋าตัง ซึ่งเป็นเสมือนกระเป๋าเงินมาเพิ่มช่องทางในการตรวจสอบยอดกำหนดชำระ ยอดค้างชำระรายละเอียดการกู้ยืม และชำระหนี้ กยศ.

5. กลุ่มระบบขนส่งมวลชน ธนาคารได้ร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พัฒนาระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสด

นำร่องติดตั้ง QR Code และเครื่องอ่านบัตรแบบมือถือบน รถเมล์ปรับอากาศ สาย 510 จำนวน 40 คัน รองรับชำระค่าโดยสารด้วย QR Code บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรรถเมล์