“ขุนคลัง”มั่นใจชุดกระตุ้นศก.อัดฉีดตรงจุด วิกฤตปี’40 ไม่ฉายซ้ำ

รมว.คลังมั่นใจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรกอัดฉีดตรงจุด ขอเวลาสรุปผล 3-4 เดือนต่อยอดปั้นมาตรการชุดถัดไป เชื่อวิกฤตต้มยำกุ้งไม่ฉายซ้ำ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา“Battle Strategy แผนรบ สยบวิกฤติ EPISODE I : DO OR DIE ไม่ทำก็ตาย” ภายใต้หัวข้อวิสัยทัศน์การนำประเทศไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อให้ธุรกิจและการลงทุนในประเทศไม่สะดุด ว่าแม้ภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวลง แต่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่เข้าสู่วิกฤตอย่างที่เคยเกิดขึ้น ในช่วงปี 2540 ที่ผ่านมา เนื่องจากไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว

“แต่ถึงกระนั้น เราก็จะไม่ยืนอยู่เฉยๆ ในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวน กระทรวงการคลังก็ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเด่น อัดฉีดด้วยเม็ดเงิน 3.16 แสนล้านบาท โดยมาตรการที่ออกมาเป็นเพียงมาตรการช่วยชั่วคราวเท่านั้น แต่ยืนยันว่าแก้ไขตรงจุด โดยเฉพาะเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากหมดมาตรการนี้ จะสรุปและพิจารณามาตรการที่มีความเหมาะสมในแต่ละด้านต่อไป โดยจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนในการประเมิน ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในคราวหน้า จะนำเรียนมาตรการดึงดูดการลงทุนเข้าประชุมครม.เศรษฐกิจด้วย” นายอุตตมกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในไตรมาส 2 จะเติบโตที่ 2.3% จากไตรมาสก่อน 2.8% ก็ยังถือว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ แต่อาจจะช้าลง และยังคงมองว่าในภาพใหญ่ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งเนื่องจากสถาบันการจัดอันดับต่างๆ ก็ยังมองว่า ไทยมีความแข็งแกร่งมาก ทั้งยังมีเงินทุนสำรองถึง 2 แสนกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 3 เท่าของเงินกู้ระยะสั้น และเสถียรภาพทางการเงิน การคลัง ไทยก็ยังคงแข็งแกร่งอยู่ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง

ดังนั้นสิ่งที่เราจะมองไปข้างหน้าอย่างครอบคลุม คือ 1) ให้ไทยก้าวทันโลก ด้วยการปรับเปลี่ยนระบบอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบมากขึ้น พร้อมทั้งปรับโครงสร้างพื้นฐาน 2) ให้ไทยเป็นที่น่าสนใจ สำหรับภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศ อย่างไรก็ดี วันนี้ไทยมีกฎหมาย PPP กำกับดูแลการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนแล้ว ซึ่งจะทำให้เอกชนจากต่างประเทศสามารถเข้ามาร่วมลงทุนในไทยได้ และ 3) ให้คนไทยดูแลคนไทยด้วยกัน เนื่องจากต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ ให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการดูแลของรัฐ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากสังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย