ข้อวิจารณ์ต่อมาตรการ “ชิม ช็อป ใช้” และ “เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”

วิจารณ์มาตรการชิมช้อปใช้ และ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ภาพ Pixabay

คอลัมน์ เช้านี้ที่ซอยอารีย์ โดย พงศ์นคร โภชากรณ์ [email protected]

หลังออกมาตรการได้ 1 สัปดาห์ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาตรการ “ชิม ช็อป ใช้” และมาตรการ “เติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หนาหูพอสมควร ทั้งในโลกจริงและโลกโซเชียล

มีประมาณ 20% ที่ไม่เห็นด้วย หลังจากเข้าไปอ่านและวิเคราะห์ตาม พบว่า ข้อวิจารณ์ด้านลบต่อมาตรการดังกล่าว มี 2 เรื่อง ได้แก่

1) เป็นการกระตุ้นที่ผิดวิธี โดยให้เหตุผลประกอบว่า วิธีการยุ่งยาก คนไม่มีความรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตและไม่มี smart phone จะทำอย่างไร แต่ก็ไม่ได้บอกว่าวิธีที่ถูกคืออะไร ควรทำแบบใด ใช้กลไกใด และให้วงเงินเท่าใด ซึ่งส่วนตัวแล้วอยากฟังมากว่า วิธีที่ดีกว่านั้น ทำอย่างไร เพื่อพัฒนาปรับปรุงต่อยอดในอนาคต

2) รัฐบาลแจกเงินอีกแล้ว จริง ๆ แล้วรัฐบาลไม่ได้มีเงินมากมาย แต่ในยามเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้มีรายได้น้อยจะเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด ฉะนั้น การเอาเงินที่มีอยู่อย่าง “จำกัด” ไปช่วยคนที่ “จำเป็น” ก่อน น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

ส่วนด้านบวก มีหลากหลายเหตุผล เช่น ช่วยสนับสนุนการบริโภค กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในต่างจังหวัด สนับสนุนการไปเที่ยวเมืองรอง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตื่นตัวและเข้าร่วมโครงการ และชักชวนให้คนไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด และช่วยเหลือคนจนในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว

John Maynard Keynes เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกยกย่องว่าเป็นบิดาของเศรษฐศาสตร์มหภาคยุคใหม่และมีแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนเศรษฐกิจได้ในปัจจุบัน ได้พูดถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ไว้น่าสนใจว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะดีและได้ผลนั้น ต้องมีเงื่อนไข 3 ข้อ หรือ “Three Ts” ได้แก่ ตรงจุด (targeted) รวดเร็ว (timely) และชั่วคราว (temporary) แต่ผมเติมให้อีก 1T คือ โปร่งใส (transparent)

นอกจากนี้ John Maynard Keynes ยังบอกด้วยว่า การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้างต้นจะเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพของมาตรการนั้นเสียเอง ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีคงจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ผมจะลองวิเคราะห์ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา เป็นไปตามหลักการนี้หรือไม่

ชิม ช็อป ใช้

มาตรการ “ชิม ช็อป ใช้” ตรงจุด เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศที่กำลังชะลอตัวลงอย่างชัดเจน (ทั้งฝั่งคนเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้าต่าง ๆ ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง) และระบุกลุ่มเป้าหมายชัดเจนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 10 ล้านคนแรก รวดเร็ว เพราะวงเงินที่ให้จำนวน 1,000 บาทต่อคน จะถูกโอนเข้าแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ทันที และเงินจำนวนนี้จะถูกใช้ไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอัตราการบริโภคส่วนเพิ่มของคนรายได้ปานกลางลงมาจะสูงมากประมาณ 70% (ได้มา 100 บาท ใช้ถึง 70 บาท) ชั่วคราว เพราะเป็นการกระตุ้นช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน เพียง 3 เดือนเท่านั้น เลยจากนี้ไปเป็นเดือนธันวาคม ซึ่งมีการท่องเที่ยวสูงอยู่แล้ว

และที่สำคัญไม่ได้ให้มากไปจนฟุ่มเฟือยและเสียวินัยทางการเงินการคลัง และไม่ได้ให้น้อยไปจนไม่จูงใจให้คนไปเที่ยว โปร่งใส เพราะทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ โอนเงินถึงมือโดยตรง เงินที่ใช้จ่ายก็เข้ากระเป๋าเจ้าของร้านทันที ไม่รั่วไหลไปไหน

เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

มาตรการ “เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ตรงจุด เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้มีรายได้น้อย 14.6 ล้านคน ช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงแม่หรือพ่อที่ต้องดูแลบุตรอายุ 0-6 ขวบ รวดเร็ว เพราะวงเงินให้ตรงไปที่ 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ถือบัตรทุกคนได้ 500 บาทต่อเดือน ผู้สูงอายุได้เพิ่ม 500 บาทต่อเดือน และพ่อแม่เลี้ยงดูบุตรได้เพิ่ม 300 บาทต่อเดือน

วงเงินใหม่ในบัตรจะถูกใช้ไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอัตราการบริโภคส่วนเพิ่มของผู้มีรายได้น้อยจะสูงมากถึงประมาณ 90% (ได้มา 100 บาท ใช้ถึง 90 บาท) ชั่วคราว เพราะวงเงินนี้ให้เพียง 2 เดือนเท่านั้น (สิงหาคมและกันยายน) และไม่ได้ให้มากเกินไปจนทำให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่ดีกินดี เป็นเพียงการบรรเทาภาระค่าครองชีพในยามเศรษฐกิจชะลอตัวเท่านั้น โปร่งใส เพราะเป็นการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เงินเข้าบัตรทันที ไม่รั่วไหล ตรวจสอบได้ตลอดเวลา

ดังนั้น ทั้ง 2 มาตรการข้างต้นน่าจะยึดโยงกับหลัก 4T แล้ว และคาดหวังว่าทุกมาตรการจะตรงเข้าไปเยียวยา รักษา และฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เป็นไปตามเป้าหมาย จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3.0 ตามที่โมเดลเศรษฐกิจทำนายไว้